ครอบครัวคาใจ! แม่ค้าถูกประกาศป่วยโควิด-19 ตาย ล่าสุดผล 4 แล็บออกไม่พบเชื้อ

ครอบครัวคาใจ! แม่ค้าถูกประกาศป่วยโควิด-19 ตาย ล่าสุดผล 4 แล็บออกไม่พบเชื้อ

ครอบครัวคาใจ! แม่ค้าถูกประกาศป่วยโควิด-19 ตาย ล่าสุดผล 4 แล็บออกไม่พบเชื้อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลูกสาวและสามีของแม่ค้าข้าวแกงที่ถูกประกาศป่วยโควิด-19 ตาย เผยผลแล็บ 4 แห่งออก ไม่พบเชื้อไวรัสในตัวแม่ แถมครอบครัวยังเจอสังคมรังเกียจ ต้องสูญเสียรายได้มากมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (10 พ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. น.ส.พรชิตา อายุ 20 ปี พร้อมด้วย นายภีรภัทร อายุ 44 ปี บุตรสาวและสามีของนางสมปอง อายุ 43 ปี แม่ค้าขายข้าวแกง ผู้มีประวัติการป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง (SLE) โรคความดัน และเนื้องอกในมดลูก ล่าสุดเพิ่งตรวจพบว่ามีอาการของโรคไตเสื่อม ก่อนมาเสียชีวิตลงหลังจากมีอาการท้องเสีย เหตุจากบริโภคยำหอยแครงที่ซื้อมาจากตลาดนัดในตัว อ.สนามชัยเขต และเข้ารับการรักษาตัวยังที่ รพ.ของรัฐประจำอำเภอ

ต่อมาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา ว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 เสียชีวิตรายที่ 33 ของประเทศไทย เมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา และมีการแถลงยืนยันผลซ้ำจากทางผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ว่าเป็นผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ผลจากการตรวจหาเชื้อออกมาคาบเส้นก้ำกึ่ง

ลูกสาวและสามีของผู้เสียชีวิต ได้ยืนยันต่อผู้สื่อข่าวว่า ก่อนการเดินทางไปเข้ารับการรักษาตัว ผู้ตายไม่เคยมีประวัติที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไวรัสชนิดนี้มาก่อนแต่อย่างใด โดยมีอาชีพเป็นแม่ค้าขายอาหารอยู่ในโรงงาน ย่านนิคมอุตสาหกรรมชื่อดังแห่งหนึ่งใน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และในวันเกิดเหตุได้ทำการบริโภคยำหอยแครง ที่เพิ่งซื้อมาจากตลาดนัดในตัว อ.สนามชัยเขต จนเกิดอาการท้องเสีย

จากนั้นได้ให้ญาติซึ่งเป็นน้องสาวพาไปส่งยัง รพ.ของรัฐประจำอำเภอ โดยที่ยังสามารถเดินและพูดคุยได้ตามปกติไปขึ้นรถด้วยตนเอง แต่พอไปถึงยัง รพ.ทางโรงพยาบาล ไม่ได้ให้ญาติเข้าไปใกล้ในระหว่างทำการรักษา

และได้มาบอกให้ญาติช่วยเกลี้ยกล่อม หรือทำอย่างไรให้ผู้ป่วยยินยอมให้เจ้าหน้าที่สอดท่อเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากผู้ป่วยไม่ยินยอมให้สอดใส่ท่อ เนื่องจากในอดีตผู้เป็นบิดาของผู้เสียชีวิต เคยชีวิตจากการถูกสอดท่อเครื่องช่วยหายใจในระหว่างการรักษาอาการป่วยมาแล้ว

โดย นายภีรภัทร บอกว่า น้องสาวของภรรยาตนเองได้บอกกับทางเจ้าหน้าที่ไปว่า จะขอโทรมาถามความเห็นของตนและบุตรสาวก่อนว่าจะให้ใส่หรือไม่ แต่ทางเจ้าหน้าที่กลับตอบกลับต่อน้องสาวมาว่า ญาติมีหน้าที่ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ผู้ป่วยยินยอมที่จะใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจ ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอความเห็นว่าจะให้ใส่หรือไม่ หากไม่ให้ใส่ก็คงต้องเสียชีวิตโดยไม่พ้นคืนนี้แน่นอน สุดท้ายทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการใส่ท่อเครื่องช่วยหายใจในที่สุด โดยที่ตนไม่ทราบ

ต่อมาญาติได้พาภรรยาเดินทางไปถึงยัง รพ.ประมาณ 10.00 น. จนกระทั่งพลบค่ำใกล้หมดเวลาเคอร์ฟิว ทาง รพ.ได้มาบอกว่าต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังที่ รพ.ประจำจังหวัด เนื่องจากมีอาการไข้ขึ้นสูง และมีอาการหนักมาก และทาง รพ.ไม่ได้ยินยอมให้ตนขึ้นรถไปกับรถฉุกเฉินส่งต่อผู้ป่วยด้วย ตนจึงได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ในการติดต่อไว้

ต่อมาในเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันรุ่งขึ้นทาง รพ.ประจำจังหวัด ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังตนเองว่า ภรรยามีการหนักจนหัวใจหยุดเต้นแล้วให้รีบเดินทางไปด่วน ตนจึงบอกไปว่าเป็นช่วงติดเวลาเคอร์ฟิวจะไปได้อย่างไร แต่ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบอกว่า หากเจอด่านตรวจเคอร์ฟิวให้โทรศัพท์กลับมาทาง จนท. จะช่วยยืนยันให้ว่าจะต้องรีบมาพบผู้ป่วยที่กำลังปั้มหัวใจอยู่ที่ รพ.ประจำจังหวัด

และเมื่อตนเดินทางไปถึงในเวลา 04.00 น. กลับพบว่าภรรยาได้เสียชีวิตลงแล้ว และถูกนำร่างไปไว้ยังที่ห้องเก็บศพด้านล่างแล้ว โดยระบุสาเหตุของการเสียชีวิตมาในใบรับรองการตายว่า "ติดเชื้อในกระแสเลือด" ไม่ได้ยืนยันผลว่าป่วยด้วยโรคโควิด-19 เสียชีวิต และหลังการเสียชีวิตมาประมาณ 10 กว่าชั่วโมง ทาง รพ.จึงได้มาเก็บตัวย่างอย่างสารคัดหลั่งจากกระพุ้งแก้ม และโพรงจมูก เพื่อนำไปทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19

และเมื่อผลสวอป (Swap) ออกมาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ เพราะผลจากการตรวจไม่ได้ยืนยัน แต่ได้มีการแถลงข่าวผ่านทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ใน กทม.ไปแล้วว่า ภรรยาของตนเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตาย และมีการแถลงซ้ำโดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดอีกด้วยว่า เป็นผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ตาย แต่มีผลการตรวจออกมาแบบก้ำกึ่งปิ่มน้ำ

ก่อนที่จะมีพิธีฌาปนกิจศพ ในวันที่ 9 เม.ย.63 ทางเจ้าหน้าที่ได้มีการเข้ามาตัดชิ้นส่วนปอดไปทำการส่งตรวจซ้ำอีกครั้ง ปรากฏว่าผลการตรวจยืนยันกลับมาจากแล็บทั้ง 4 แห่งนั้น ไม่พบเชื้อของโรคไวรัสโคโรนาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผลการตรวจหาเชื้อของบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว ญาติพี่น้องรอบข้าง ตลอดจนพนักงานในโรงงาน และเจ้าของกิจการ ที่ตนและภรรยาได้เข้าไปขายอาหารให้ ล้วนออกมายืนยันผลว่าไม่มีผู้ใดเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น

จึงเกิดคำถามคาใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐว่า ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการประกาศยืนยันผลในเมื่อทางห้องแล็บตรวจไม่พบเชื้อ และยังไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่แรก และภรรยาตนไม่ได้มีอาการป่วยอย่างรุนแรงมาก่อน เพียงแค่ท้องเสียจากการกินยำหอยแครง และในกระบวนรักษามีการติดเชื้อในระหว่างที่เจ้าหน้าที่สอดท่อสายยางช่วยหายใจ หรือติดไข้มาจากผู้ป่วยรอบข้างหรือไม่ เนื่องจากได้มีการนำไปทำการรักษารวมอยู่กับผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่ รพ.ประจำอำเภอ และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในห้องความดันลบในขณะที่เสียชีวิต

ไม่ได้รับเงินเยียวยา แถมยังถูกสังคมรังเกียจทั้งครอบครัวจนรายได้หดหาย

น.ส.พรชิตา อายุ 20 ปี พร้อมด้วย นายภีรภัทร อายุ 44 ปี บุตรสาวและสามีของผู้เสียชีวิต ยังบอกอีกว่า ได้เดินทางไปร้องเรียนผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมประจำ จ.ฉะเชิงเทรา ถึง 2 ครั้ง เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการเยียวยาช่วยเหลือจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งสังคมรอบข้าง ที่ถูกชาวบ้านและคนในพื้นที่รังเกียจ ออกไปไหนไม่มีใครต้อนรับไม่มีใครขายของให้ แม้ว่าจะผ่านพ้นระยะเวลาของการกักตัว 14 วันมานานแล้วก็ตาม

และไม่ใช่เกิดขึ้นแค่เฉพาะกับตนเองและครอบครัวเท่านั้นสังคมยังรังเกียจแม้กระทั่งคนในซอยเดียวกัน ครอบครัวญาติพี่น้องรอบข้าง ต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กันทั้งหมด แม้แต่ตนฝากให้คนในซอยเดียวกันซื้อของมาให้ แม่ค้าก็ยังไม่ยินยอมขายของให้

สินค้าเกษตรของญาติพี่น้อง ซึ่งมีอาชีพเพาะเห็ดฟางขาย เผาข้าวหลามขาย ล้วนถูกปฏิเสธการเข้ามารับซื้อทั้งหมด จนเห็ดฟางของพี่สาวที่เคยสร้างรายได้ให้ เดือนละกว่า 4 หมื่นบาท ต้องถูกปล่อยแห้งเน่าเสียไปทั้งหมด

ขณะเดียวกันรายได้จากการขายอาหารในโรงงานเลี้ยงครอบครัว วันละกว่า 1 หมื่นบาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานแล้ว ยังเหลืออีกประมาณกว่าครึ่งหนึ่งได้หายไปจนหมดด้วย ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างหนัก ทุกวันนี้ตนไม่มีรายได้อะไรเลย จนต้องไปพยายามหาเงินกู้ สร้างหนี้ยืมสินเขามาใช้ประทังชีวิตไปวันๆ เพราะยังไม่สามารถกลับไปขายอาหารในโรงงานได้ตามปกติ

เมื่อสอบถามไปยังทางสำนักงานสาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา กลับถูกปฏิเสธว่า ทางหน่วยงานไม่มีเงินเยียวยาอะไรให้ นอกจากทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้น ที่จะมีเงินเยียวยาให้ได้เพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น ทั้งที่ตนและคนรอบข้างสูญเสียรายได้มานานถึงกว่าหนึ่งเดือนเต็มแล้ว จากความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น ในการระบุยืนยันผลจากการตรวจโรคที่ไม่ตรงกันกับผลจากทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลกระทบยังมีอีกหลายด้าน และเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากต่อครอบครัวของตน จนถึงขั้นมีชาวบ้านจะเข้ามาขับไล่ให้ย้ายออกไปให้พ้นจากหมู่บ้านโดยบอกผ่านมาทางผู้ใหญ่บ้านให้ตนและครอบครัวย้ายไปอยู่ยังที่อื่น แม้กระทั่งงานศพของภรรยาตนเองยังไม่มีใครมาร่วมงาน โดยในวันเผาศพมีเพียงญาติประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้น ที่มาร่วมกันเผาศพ

อีกทั้งแม้กระทั่งพระสงฆ์ในวัดก็ยังถูกรังเกียจจากสังคม เพราะหลังจากการจัดพิธีศพผ่านไปแล้ว พระสงฆ์จากวัดที่ตั้งพิธีสวดศพให้ ออกไปบิณฑบาตยังไม่มีคนใส่บาตพระ หรือมีแค่เฉพาะคนที่มีความรู้ความเข้าใจเท่านั้น ที่ตักบาตให้พระสงฆ์เพียงไม่กี่รายเท่านั้น จนพระสงฆ์ต้องงดบิณฑบาตเป็นเวลานาน 14 วัน

โดยที่ทางพระในวัดทั้ง 9 รูป ต้องพยายามจัดหาอาหารฉันท์กันเอง แต่ก็ยังดีที่มีคนผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ช่วยทำอาหารไปถวายพระสงฆ์ให้ จึงผ่านพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นมาได้ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook