ธนาธร แนะรัฐลดถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0-25% เปิดทาง 5 ยักษ์เอกชนซื้อกิจการ
เมื่อวานนี้ (10 พ.ค.) เวลาประมาณ 21.00 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไลฟ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เพื่อยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย 5 หมื่นล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในช่วงที่ไม่สามารถให้บริการได้ และยังต้องมีการเพิ่มทุนก้อนที่ 2 อีก 8 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 1.3 แสนล้านบาท ถ้าหากเทียบกับงบประมาณของประเทศราว 3 ล้านล้านบาทต่อปี เงินก้อนนี้ก็คิดเป็นประมาณ 3-4% ของงบประมาณทั้งหมด
นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูยังกำหนดให้การบินไทยต้องลดต้นทุนจาก 2 แสนล้านบาท เหลือ 1.3 แสนล้านบาท หรือลดลง 42% ภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้ามองในฐานะคนทำธุรกิจ เพราะหากลดต้นทุนได้ 42% การบินไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอเงิน 1.3 แสนล้าน แผนดังกล่าวจึงไม่มีความน่าเชื่อถือและน่าจะทำเพื่อขอเงินจากรัฐบาลเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้กำหนดให้ผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ ผู้บริหาร คณะกรรมการ (บอร์ด) ต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ ร่วมด้วย
“ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล เพราะถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลย ไม่ว่าการบินไทยขาดทุนเท่าไหร่ ถ้าการบินไทยไปได้ดี ประชาชนไม่ได้อะไรเลย ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแบกหนี้” นายธนาธร กล่าวช่วงหนึ่งในระหว่างที่กำลังไลฟ์
ทั้งนี้ การบินไทยมีเงินเดือนและสวัสดิการสูงเมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งเมื่อหารเฉลี่ยต่อคน ปรากฏว่า สิงคโปร์แอร์ไลน์ 1.8 แสนบาทต่อเดือน, การบินไทย 1.2 แสนบาทต่อเดือน, เจแปนแอร์ไลน์ 5.5 หมื่นบาทต่อเดือน โคเรียนแอร์ไลน์ 3.4 บาทต่อเดือน
แต่ประสิทธิภาพกลับต่ำกว่า โดยเมื่อนำยอดขายปี 2562 หารด้วยจำนวนพนักงาน เวียดนามแอร์ไลน์อยู่ที่ 20 ล้านบาทต่อคนต่อปี, โคเรียนแอร์ 15 ล้านบาทต่อคนต่อปี, สิงคโปร์แอร์ไลน์ 13.9 ล้านบาทต่อคนต่อปี, เจแปนแอร์ไลน์ 12.5 ล้านบาทต่อคนต่อปี และการบินไทย 8.8 ล้านบาทต่อคนต่อปี แสดงว่าการบินไทยมีต้นทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม แต่ประสิทธิภาพต่อหัวพนักงานต่ำกว่า แสดงถึงความล้มเหลวของการบริหารองค์กร ในการดึงศักยภาพพนักงานมาแปลงเป็นผลกำไร
ดังนั้น การบินไทยจึงหนีไม่พ้นการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน โครงสร้างบริหาร ถ้าหากต้องการเห็นว่าควรมีสายการบินแห่งชาติต่อไป โดยปลายทางมี 4 ตัวเลือก ได้แก่
- รัฐบาลถือหุ้นในการบินไทย 0% หรือไม่ถือเลย
- รัฐบาลถือหุ้นส่วนน้อยไม่เกิน 25%
- รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 51%
- รัฐบาลยึดกลับมาเป็นของรัฐทั้งหมด ถือหุ้น 100%
โดยการจัดการในปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ 3 แบบ ดังนี้
1. ปล่อยการบินไทยล้มละลาย
แล้วให้กลไกตลาดจัดการ ถ้ามีคนสนใจก็จะมาซื้อเอง ซึ่งนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า ทุกสายการบินได้รับการปฏิบัติที่เท่าทียมกัน โดยสุดท้ายรัฐบาลจะถือหุ้น 0% ในการบินไทย ประชาชนได้ตั๋วราคาถูกลง มีเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น
2. เข้าไปช่วยการบินไทยในระยะสั้น เพื่อนำไปสู่การขายหุ้น
โดยรัฐบาลปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขาย หรือเรียกว่าเป็นการล้มละลายอย่างมีการจัดการ (bridge loan) โดยรัฐบาลจะนำการบินไทยไปเปิดประมูล ผู้ชนะการประมูลต้องคืนเงิน 5 หมื่นล้านบาทกลับมาเป็นของรัฐบาลและรัฐบาลลดการถือหุ้นเหลือ 0%-25%
3. ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐ
โดยตัดผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทิ้ง แล้วรัฐบาลถือหุ้น 100% (nationalization) เหมือนกรณีเจแปนแอร์ไลน์ จากนั้นนำการบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟูและปรับปรุงกิจการ ในอนาคตรัฐบาลอาจลดการถือหุ้นลง หรือถือ 100% เหมือนเดิมก็ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลอุ้มการบินไทยหลายครั้ง แต่การบินไทยไม่สามารถปรับปรุงตัวเองได้ จึงควรตัดตัวเลือกที่รัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้น 51-100% ออกไป วิธีที่ดีที่สุดคือ เปิดเสรีน่านฟ้าแล้วรัฐบาลลดการถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0-25% ถ้าหากยังถือหุ้นอยู่ในเชิงยุทธศาสตร์ ก็ให้ถือหุ้นส่วนน้อยและเรียกใช้การบินไทยเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีอำนาจเพียงพอที่จะซื้อการบินไทยได้ในตอนนี้ ได้แก่
- กลุ่มทุนไทย 5 กลุ่ม ได้แก่ ซีพี, ไทยเบฟ, บีทีเอส, กัลฟ์ และคิง เพาเวอร์ เพราะทั้ง 5 กลุ่มสามารถใช้ประโยชน์จากการบินไทยได้
- ต่างชาติ โดยเฉพาะสายการบินจีน เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีน
- สายการบินอื่นๆ แต่ก็เป็นไปได้น้อย เพราะสายการบินอื่นๆ ล้วนแต่ประสบปัญหาความลำบากในช่วงนี้ทั้งนั้น
- กองทุนจากภาคการเงิน อาทิ private equity หรือ hedge fund เข้ามาซื้อเพื่อฟื้นฟูกิจการและขายเข้าตลาดทำกำไร