สสส. - เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ชวนเผือกออนไลน์ สกัดความรุนแรงช่วงโควิด-19
สสส. ร่วมกับ “เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” จัดตั้งแคมเปญ “เผือก neighborhood” ชุมชนโลกเสมือนช่วยผู้หญิงที่เผชิญความรุนแรงในบ้านช่วงโควิด-19 ผ่านการ “เผือก” บนโซเชียลมีเดีย พร้อมแนะ 4 วิธีเผือกถูกจุด สร้างสังคมปลอดความรุนแรง
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในบ้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่คนในครอบครัวต้องกักตัวอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้านน่าเป็นห่วง เพราะแทนที่บ้านจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับผู้หญิงหลายคนอาจต้องเผชิญกับความรุนแรงในบ้าน โดยที่ไม่สามารถหนีออกจากบ้าน หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้ ดังนั้น สสส. จึงร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิง และเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ต่อยอดแคมเปญ "เผือก" ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตัวแคมเปญล่าสุด ที่มีชื่อว่า “เผือก neighborhood” หรือ “ทีมเผือกชุมชน” ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังในโลกเสมือน ทำหน้าที่ติดตามถามไถ่เพื่อนๆ และคนรู้จักผ่านเครื่องมือดิจิทัล และสื่อสังคมออนไลน์ถึงสถานการณ์ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยในชีวิต โดยมุ่งลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิง สมาคมเพศวิถีศึกษา กล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาจากโควิด-19 นอกจากความกังวลเรื่องโรค ปัญหาปากท้องแล้ว ยังมีปัญหาความสัมพันธ์ในบ้านทั้งความเครียด ความไม่เข้าใจกันจนอาจนำไปสู่ความรุนแรงตามมาได้ แคมเปญเผือก neighborhood จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลาง ลดความรุนแรงในบ้านและหยุดยั้งความรุนแรงทางเพศผ่านการสังเกตและสอดส่องเพื่อน หรือคนที่รู้จักทั้งในชุมชน ละแวกบ้าน และเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเรามีทีมเผือก กว่า 800 คน ช่วยกันสังเกต สอดส่องความรุนแรงในที่สาธารณะ และเพิ่มพื้นที่การเผือกผ่านทางโซเชียลมีเดียของเพื่อนๆ หรือคนที่รู้จัก
สำหรับวิธีเผือกในแคมเปญเผือก neighborhood นั้น ดร.วราภรณ์มีข้อแนะนำดังนี้
- สังเกตสัญญาณของเพื่อนผ่านทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ว่ามีการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ และมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน เช่น ความเครียด ความรุนแรง
- โทรศัพท์ไปถามไถ่ เริ่มจากเรื่องทั่วๆ ไปก่อนแล้วค่อยเข้าประเด็นเผือกแบบเนียนๆ
- รับฟัง เมื่ออีกฝ่ายไว้ใจที่จะเล่าให้ฟังแล้ว ยังไม่ต้องกังวลกับการช่วยแก้ปัญหา
- ตั้งคำถามชวนคิด ไม่ใช่การแนะนำ เพราะลึกๆ คนเหล่านั้นมักมีคำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่ยังสับสน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งการตั้งคำถามให้อีกฝ่ายคิด อาจทำให้เขามีคำตอบกับทางออกที่ชัดเจนขึ้น หากประเมินว่ามีความเสี่ยงหรือน่าเป็นห่วงอาจพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว อาจบอกว่ามีอะไรติดต่อมาได้นะ เราพร้อมที่จะรับฟังนะ เป็นต้น
ส่วนวิธีสื่อสารเพื่อลดปัญหาความสัมพันธ์ในบ้านช่วงโควิด-19 ดร.วราภรณ์ก็แนะนำดังนี้
- ตั้งใจและใส่ใจรับฟังปัญหาของคนในบ้านให้มากขึ้น
- หาพื้นที่ หรือมุมส่วนตัว ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อทดแทนชีวิตปกติที่เสียไปในช่วงนี้
- หากคู่ไหน ครอบครัวไหน พอจะพูดคุยกันได้ ลองถามไถ่ความรู้สึกของกันและกัน เพื่อจะได้รับรู้ และเข้าใจกัน ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัว หรือคู่ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น