6 คำถามสำคัญ ว่าด้วย “การกลายพันธุ์” ของ “ไวรัสโคโรนา”

6 คำถามสำคัญ ว่าด้วย “การกลายพันธุ์” ของ “ไวรัสโคโรนา”

6 คำถามสำคัญ ว่าด้วย “การกลายพันธุ์” ของ “ไวรัสโคโรนา”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางสถานการณ์โรค COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก หนึ่งในประเด็นที่หลายคนกังวลใจ คือเชื้อไวรัสโคโรนาจะสามารถกลายพันธุ์ไปสู่การเป็นเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงมากกว่าเดิมได้หรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อวิกฤตสุขภาพในระดับโลก ดังนั้น สำนักข่าว The Guardian จึงได้สรุปคำถามสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการติดตามสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ และนำไปสู่การป้องกันดูแลสุขภาพร่างกายของเราต่อไป

1. ไวรัสโคโรนาสามารถกลายพันธุ์ได้หรือไม่

เชื้อไวรัสทุกชนิดมีการกลายพันธุ์ เช่นเดียวกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ Sars-Cov-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสแบ่งตัวภายในเซลล์ และเกิดความผิดพลาดในการคัดลอกรหัสพันธุกรรม

2. ไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ได้เร็วแค่ไหน

เชื้อไวรัสโคโรนาค่อนข้างมีความเสถียร นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ตัวอย่าง 13,000 ตัวอย่าง ในสหราชอาณาจักร เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และพบว่าการกลายพันธุ์ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นอย่างคร่าวๆ ราว 2 ครั้งต่อเดือน อัตราการกลายพันธุ์นั้นมีความสำคัญ เนื่องจากยิ่งมีการกลายพันธุ์เร็วเท่าไร เชื้อไวรัสก็จะยิ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเร็วขึ้นเท่านั้น เชื้อไวรัสที่มีพัฒนาการรวดเร็วจะยิ่งทำให้การคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่วัคซีนได้รับการพัฒนา บางส่วนของเชื้อไวรัสที่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถทำลายได้ก็จะเปลี่ยนไปด้วย เช่นเดียวกับเชื้อไข้หวัดที่มีการกลายพันธุ์ ทำให้เราต้องใช้วัคซีนที่แตกต่างกันในแต่ละปี

3. เชื้อไวรัสโคโรนาเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละประเทศได้อย่างไร

รหัสพันธุกรรมจากเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าเชื้อสามารถแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ขณะที่แพร่ระบาด โดยนักวิจัยในเยอรมนีได้ระบุกลุ่มพันธุกรรมไวรัสหลัก 3 กลุ่ม เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งใช้ชื่อว่ากลุ่ม A, B และ C โดยกลุ่ม A และ C จะพบมากในร่างกายของชาวยุโรปและอเมริกัน ในขณะที่กลุ่ม B จะพบมากในประเทศแถบเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม ยังมีการพบกลุ่มพันธุกรรมกลุ่มเล็กๆ เช่นกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้สืบหาต้นกำเนิด และพบว่ามาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และทางตอนเหนือของอิตาลี

4. การกลายพันธุ์สำคัญอย่างไร

การกลายพันธุ์เกิดขึ้นโดยบังเอิญตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย และบางครั้งก็ไปขัดขวางการเติบโตของไวรัสเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป การกลายพันธุ์เพียงครั้งเดียวหรือหลายๆ ครั้ง ก็ทำให้เชื้อไวรัสประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากการกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การกลายพันธุ์ยังอาจทำให้เชื้อไวรัสมีความรุนแรงมากขึ้นด้วย

5. ไวรัสได้อะไรจากการกลายพันธุ์

จำนวนครั้งของการกลายพันธุ์ดึงดูดความสนใจของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก นักวิจัยจากคณะอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อน ลอนดอน ได้ศึกษาจีโนมของไวรัสโคโรนากว่า 5,000 จีโนมทั่วโลก และพบการกลายพันธุ์หลายครั้งที่เป็นหลักฐานว่าเชื้อไวรัสปรับตัวให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ โดยมีการกลายพันธุ์ 2 ครั้ง ที่ทำให้แท่งโปรตีนรูปตะปูบนตัวไวรัสสามารถแทรกเข้าไปในเซลล์ได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอาจจะต้องจับตาดูเชื้อไวรัสชนิดนี้ต่อไปว่าการกลายพันธุ์ครั้งใหม่จะช่วยให้ไวรัสกระจายตัวได้หรือไม่ และจะต้องมีการออกแบบวัคซีนใหม่อีกหรือไม่ด้วย

6. การกลายพันธุ์บอกอะไรเราได้อีก

นอกจากจะเรียนรู้เกี่ยวกับการก่อตัวทางพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา นักวิทยาศาสตร์ยังสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการสืบหาการติดเชื้อในระดับบุคคล ไปจนถึงระดับคลัสเตอร์ และกลับไปสู่ต้นกำเนิดของไวรัสได้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสืบหาต้นต่อการระบาด และระบุการติดเชื้อใหม่ ทว่าการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเช่นนี้ก็จะทำให้มองเห็นถึงวิธีการที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์และมีความยืดหยุ่นต่อยาและวัคซีนที่จะใช้ในอนาคต

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook