นักวิทยาศาสตร์ชี้ โลกจะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดไปอีกนาน
ร่างกายของมนุษย์มีกลไกที่ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้ร้อนจนเกินไป เมื่ออุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายจะผลิตเหงื่อและขับออกมาเพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายเย็นลง กลไกของร่างกายเช่นนี้ทำให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อากาศร้อนได้ แต่กลไกดังกล่าวก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้นมาก ๆ จะทำให้ร่างกายยับยั้งการขับเหงื่อ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิกระเปาะเปียกวัดได้ 35 องศาเซลเซียส แม้แต่คนที่ร่างกายแข็งแรงมาก และมีน้ำดื่มไม่ขาด ก็มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากภาวะความร้อนดังกล่าวได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าสภาพอากาศที่ร้อนจัดจะไม่เกิดขึ้นบนโลกมากเท่าไรนัก แต่ภาวะโลกร้อนจะทำให้อุณหภูมิกระเปาะเปียกประมาณ 35 องศาเซลเซียสกลายเป็นเรื่องธรรมดาในบางพื้นที่ของโลกเมื่อถึงปลายศตวรรษ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคนหลายล้านคน แต่ปัญหาก็คือ สภาพอากาศร้อนจัดที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษ กลับกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
ข้อมูลสถานีตรวจอากาศทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า ขีดจำกัดการเอาตัวรอดของมนุษย์มีความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้งในพื้นที่อ่าวเปอร์เซียและแม่น้ำสินธุในอินเดียและปากีสถาน โดยในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลก เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และบริเวณอ่าวสหรัฐฯ ก็มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน
Colin Raymond นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL) ได้เก็บข้อมูลสภาพอากาศจากสถานีตรวจอากาศ 4,476 แห่งทั่วโลก โดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิกระเปาะเปียกตั้งแต่ปี 1979 – 2017 พบว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกระเปาะเปียกที่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งกึ่งเขตร้อน ซึ่งเกิดจากลมร้อนและชื้นจากทะเล ปะทะกับลมร้อนบนพื้นดิน เช่น ในเอเชียใต้ ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นจากลมมรสุมด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังเก็บข้อมูลอุณหภูมิกระเปาะเปียกที่ 33 องศาเซลเซียส ซึ่งแปลเป็นดัชนีวัดค่าความร้อนที่ 60 องศาเซลเซียส โดยดัชนีวัดความร้อนไม่ได้ถูกออกแบบให้วัดอุณหภูมิที่สูงขนาดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น Raymond ชี้ว่า อุณหภูมิที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นอุณหภูมิที่ทั้งร้อนและชื้นกว่าที่หลายคนเคยสัมผัสมา โดยเมื่อ 40 ปีก่อน สภาพอากาศที่ร้อนจัดเช่นนี้ จะเกิดขึ้นเพียง 1-2 ครั้งต่อปีเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน สภาพอากาศร้อนจัดเกิดขึ้นมากกว่า 25 – 30 ครั้งต่อปี
หากยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต อุณหภูมิที่สูงขึ้นก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งส่งผลมนุษย์ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา และกิจกรรมกลางแจ้งก็จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป