พรรคก้าวไกลเรียกร้องรัฐบาลเปิดแผนฟื้นฟูการบินไทยอย่างละเอียด ก่อนอนุมัติช่วยเหลือใดๆ
เมื่อคืนนี้ (11 พ.ค.) พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อกรณีที่รัฐบาลกำลังเตรียมการอุ้มการบินไทย โดยมีเนื้อหาของแถลงการณ์ดังนี้
จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้นจำนวน 54,000 ล้านบาทให้แก่ บมจ.การบินไทย และมีรายงานข่าวว่าจะมีการเสนอแผนการฟื้นฟูการบินไทยให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 12 พฤษภาคม 2563) นั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่า
(1) ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาวิกฤตครั้งใหญ่นี้ รัฐบาลจะใช้เงินภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาลโดยไม่รับผิดชอบและไม่รอบคอบมิได้ ทั้งนี้ เม็ดเงินจริงๆ ที่จะใช้ในแผนฟื้นฟูการบินไทยสูงถึง 134,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย ไม่ใช่แค่การค้ำประกันเงินกู้ 54,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะตามที่ปรากฏในรายงานของสื่อมวลชนยังมีแผนที่จะเพิ่มทุนอีก 80,000 ล้านบาท
แม้สายการบินทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 แต่ไม่มีผู้นำประเทศและรัฐบาลไหนในโลกที่ตัดสินใจใช้เงินภาษีของประชาชนให้ความช่วยเหลือสายการบินก่อนที่จะตกลงเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือได้ชัดเจน
การบินไทยนั้นล้มเหลวในการบริหารมาโดยตลอด ขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าการอุ้มการบินไทยรอบนี้ จะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนจำนวนมหาศาลไปใช้อย่างสูญเปล่าหรือไม่
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่ได้เปิดเผยเงื่อนไขที่รัฐบาลจะเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทยต่อสาธารณะอย่างชัดเจน มีเพียงรายงานข่าวว่าจะมีแผนการฟื้นฟู แต่แผนดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนเห็นชอบการค้ำประกันเงินกู้เลยด้วยซ้ำ
(2) ถ้าการช่วยเหลือการบินไทยต้องใช้เงินสูงถึง 134,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยแผนฟื้นฟูการบินไทยโดยละเอียดก่อนที่จะมีการอนุมัติให้ใช้เงินช่วยเหลือใดๆ เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีได้พิจารณาก่อนว่าเห็นด้วยกับแผนการอุ้มการบินไทยของรัฐบาลหรือไม่
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยแผนฟื้นฟูบางส่วนของการบินไทยผ่านสื่อมวลชนพบว่าแผนรอบใหม่นี้ไม่ได้มีลักษณะแตกต่างไปจากแผนปฏิรูปการบินไทยเมื่อปี 2558 ซึ่งล้มเหลวมาแล้ว ทำให้ไม่สามารถเชื่อได้ว่าการบินไทยจะสามารถปรับโครงสร้างได้สำเร็จ ตามรายงานข่าว ในแผนฟื้นฟูยังระบุการประมาณการว่าการบินไทยจะกลับมามีกำไรในปีหน้า และจะมีกำไรเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาทเมื่อจบแผนฟื้นฟูในปี 2567 โดยเหมือนจะลืมคำนวณผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่อาจจะทำให้การท่องเที่ยวซบเซายาวนานไปอีกไม่ต่ำกว่า 3 ปี
ถ้ารายงานข่าวข้างต้นมาจากแผนฟื้นฟูการบินไทยจริง เราไม่อาจเชื่อได้ว่า “นี่คือการช่วยครั้งสุดท้าย” ตามคำพูดของนายกรัฐมนตรี และเงินในการอุ้มการบินไทยจะมากกว่า 134,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
(3) ปัจจุบันมูลค่าตลาดของการบินไทยเหลืออยู่เพียง 15,000 ล้านบาท หากจะไม่ปล่อยให้ล้มละลายโดยไม่ทำอะไรเลย การใช้เงินกู้ฉุกเฉิน 54,000 ล้านบาทต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องยืนยันสิทธิ์ที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน ในระหว่างนี้ต้องมีการเจรจากับเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้การค้า กระทรวงการคลัง สถาบันการเงิน รวมไปถึงผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อแปลงหนี้ให้เป็นทุนบางส่วน เท่ากับบรรดาเจ้าหนี้ต้องยอมลดหนี้ไปบางส่วน ร่วมรับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย พร้อมกันนั้น ผู้บริหารการบินไทยชุดเดิมต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบและเปิดให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้าทำงานแทนที่เครือข่ายของผู้มีอำนาจ กองทัพ และข้าราชการ
จากนั้นก็คงถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่า เรายังจำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติอยู่อีกหรือไม่ และการบินไทยนั้นได้ทำหน้าที่ของสายการบินแห่งชาติได้ดีแค่ไหน ประชาชนและประเทศได้ประโยชน์อะไรจากการบินไทย หรือที่ผ่านมาการบินไทยเป็นเพียงแหล่งหาผลประโยชน์ให้แก่เครือข่ายของผู้มีอำนาจ กองทัพ และข้าราชการบนฐานภาษีของประชาชน เพื่อตัดสินใจว่า เราจะเปิดให้เอกชนรายใหม่เข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน แล้วกลายเป็นบริษัทเอกชน หรือรัฐยังคงจะถือหุ้นใหญ่ต่อไป
ทางเลือกแรก หากเราจะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป จำเป็นต้องมีเงื่อนไขการเปิดเสรีน่านฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ของผู้บริโภค
ส่วนทางเลือกที่เหลือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมืออาชีพด้านการกู้ธุรกิจล้มละลายเข้ามาบริหารในช่วงฟื้นฟู ก่อนที่จะกลับมาขายหุ้นบางส่วนให้เอกชนเมื่อฟื้นฟูเสร็จ ซึ่งสัดส่วนหุ้นที่จะขายให้เอกชนจะต้องตัดสินใจว่า หลังจากวิกฤตครั้งนี้รัฐจะยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ในการบินไทยหรือไม่ ถ้าถือหุ้นส่วนใหญ่ยังจะคงสัดส่วนมากกว่าหรือน้อยกว่า 50%