เกาหลีใต้วุ่น! เร่งดึงข้อมูลมือถือ-ธุรกรรมคนเที่ยวผับอีแทวอน หลังเกือบ 2,000 คนไม่มาตรวจโควิด
เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานของเกาหลีใต้ เร่งรวบรวมข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ สถานะการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิต และภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อระบุหาตัวผู้ที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงในย่านอิแทวอน กรุงโซลของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แหล่งใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของเมืองหลวงแห่งนี้
"เรากำลังใช้ข้อมูลจากสถานีโทรศัพท์และธุรกรรมัตรเครดิตจากสถานบันเทิง เพื่อระบุตัวคน 1,982 คน ที่ยังไม่ทราบตัว" นายยุน แท-โฮ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ กล่าว
การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากสถานบันเทิงเหล่านี้มากกว่า 100 คนแล้ว ซึ่งสร้างความกังวลให้เจ้าหน้าที่ว่าอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศ หลังจากเกาหลีใต้ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติถึงความสำเร็จของการควบคุมโรค
ส่วนเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของเกาหลีใต้ ก็สืบติดตามและนำตัวบุคคลที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงเหล่านี้มาตรวจโรคแล้วตลอดช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังต้องการหาตัวคนอีกจำนวนมากที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวเอง
สาเหตุที่หลายคนไม่กล้ามาตรวจโรค เพราะไม่อยากให้คนอื่นๆ หรือคนในครอบครัวทราบว่าตัวเองมีสถานะทางเพศอย่างไร เนื่องจากผับที่มีพบการแพร่กระจายของเชื้อโรคนี้ หลายแห่งเป็นผับสำหรับคนรักเพศเดียวกันหรือมีความหลากหลายทางเพศ
ด้านศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลี (เคซีดีซี) ของเกาหลีใต้ เผยวันนี้ (12 พ.ค.) ว่า ขณะนี้มีอย่างน้อย 102 คนที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงเหล่านี้และผลตรวจหาไวรัสในร่างกายออกมาเป็นบวก
ด้านนายพัก วอน-ซุน นายกเทศมนตรีกรุงโซล กล่าวว่า ขณะนี้มีเคสที่ยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) แล้ว 101 คน และทางการนำคนจำนวน 7,272 คนที่เกี่ยวข้องกับแหล่งระบาดนี้มาตรวจโรคแล้ว ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงสมาชิกครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของคนที่ไปเที่ยวสถานบันเทิงในคืนเกิดเหตุ หรือคืนวันที่ 2, 3 และ 5 พ.ค.
นายพัก บอกอีกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ทราบตัวบุคคลของผู้ไปเที่ยวผับย่านอีแทวอนแล้วถึง 10,905 คน จากข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ และอีก 494 คน ที่ใช้บัตรเครดิตในสถานบันเทิงเหล่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนหลายสำนัก รายงานว่าสถานบันเทิงเหล่านี้ที่ผู้ป่วยคนแรก ซึ่งเป็นชาว อ.ยงอิน จ.คยองกี อายุ 29 ปี ไปเที่ยว เป็น "ผับเกย์" สิ่งนี้สร้างความกังวลในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ว่าถ้ามีการเปิดเผยตัวและการรายงานมากกว่านี้ อาจส่งผลเสียต่อกลุ่มคนดังกล่าว หรืออาจนำไปสู่การถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม ที่ยังเปิดรับคนหลากหลายทางเพศค่อนข้างจำกัด