ทารกขาติดกันเหมือนนางเงือก 1ใน70,000ของการคลอด

ทารกขาติดกันเหมือนนางเงือก 1ใน70,000ของการคลอด

ทารกขาติดกันเหมือนนางเงือก 1ใน70,000ของการคลอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะแพทย์ รพ.วชิระภูเก็ต แถลงหลังผ่าทารกออกจากครรภ์แม่ชาวพม่า พบมีขาติดกันเป็นชิ้นเดียวเหมือนเงือก พบแค่ 1 ใน 7 หมื่นของการคลอด แพทย์ยอมรับโอกาสรอดชีวิตมีน้อยมาก

เรื่องราวของทารกน้อยแรกเกิดมีขาติดกันเหมือนเงือก เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม คณะแพทย์โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าว กรณีนางสุ่ย อายุ 36 ปี ชาวพม่าให้กำเนิดลูกคนที่ 3 ด้วยวิธีการผ่าท้อง พบทารกมีขาติดกันเป็นชิ้นเดียว ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เรียกว่า เมอร์เมด ซินโดรม (Mermaid syndrome หรือ Sirenomelia) พบได้เพียง 1 ใน 7 หมื่นของการคลอด และเป็นรายแรกของ จ.ภูเก็ต จากรายงานทางการแพทย์ทั่วโลกมีทั้งหมด 300 ราย

นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการตติยภูมิ กล่าวว่า แพทย์ผ่าคลอดเมื่อเวลา 18.42 น. วันที่ 9 สิงหาคม ด้วยอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ เป็นการคลอดก่อนกำหนด เนื่องจากแพทย์ตรวจพบว่าน้ำคร่ำมีน้อย เมื่อผ่าคลอดออกมาปรากฏว่าทารกขาติดกันเป็นชิ้นเดียว มีน้ำหนักตัว 2,240 กรัม ลำตัวยาวประมาณ 48 เซนติเมตร ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพศใด เนื่องจากไม่มีอวัยวะบ่งชี้ที่ชัดเจน และเนื่องจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ไม่มีศัลยกรรมกุมารหรือแพทย์เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเด็กโดยเฉพาะ จึงประสานงานกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์เพื่อส่งเด็กไปรักษาขั้นต้น เนื่องจากคาดว่าจะต้องมีการผ่าตัดอีกหลายครั้ง และจะได้ติดตามการรักษารวมถึงรับกลับมาดูแลต่อไป

นพ.ศิริชัย กล่าวอีกว่า จะต้องมีการผ่าตัดเพื่อให้ทารกสามารถที่อุจจาระและปัสสาวะได้ก่อน หลังจากที่แข็งแรงพอแล้วก็จะผ่าตัดเพื่อแยกขา ส่วนจะพิการหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดว่าเป็นอย่างไร หากเป็นพังผืดเพียงเล็กน้อย กล้ามเนื้อเส้นประสาทสัมผัสต่างๆ ที่มีอยู่ก็คงไม่มีปัญหา แต่หากติดมากก็จะมีความพิการตามมาได้ ซึ่งแพทย์จะประเมินอีกครั้ง นอกจากนี้ก็จะมีการตกแต่งอวัยวะเพศต่อไป

"โอกาสในการรอดชีวิตของเด็ก ขึ้นอยู่กับความผิดปกติของอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น หัวใจ ไตทั้ง 2 ข้าง ระบบทางเดินปัสสาวะ เรื่องของขาไม่ใช่เรื่องใหญ่ใช้เวลาในการแก้ไขได้ หากอวัยวะภายในผิดปกติไม่มากโอกาสรอดก็จะสูง ความผิดปกติแบบนี้พบได้ไม่บ่อยนัก จึงเป็นกรณีที่น่าสนใจเพื่อจะได้ติดตามกระบวนการรักษานำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาความผิดปกติในการคลอดอื่นๆ ได้อีก" นพ.ศิริชัยกล่าว

นพ.ศิริชัย กล่าวอีกว่า เด็กที่ผิดปกติในลักษณะเช่นนี้มีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก และจะเสียชีวิตหลังคลอดไม่นาน เนื่องจากมีความผิดปกติของหัวใจ นอกจากพิการจากขาติดกันแล้ว อวัยวะภายในก็จะพิการด้วย ที่พบบ่อยคือ ไม่มีทวารหนัก ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ ไม่มีลิ้นหัวใจ บางรายไม่มีช่องหัวใจ ส่วนสาเหตุของความผิดปกตินั้นส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร แต่มีบางรายที่แม่เป็นโรคเบาหวาน กรณีนี้ไม่พบโรคดังกล่าว แต่สามารถที่จะอธิบายได้ว่าในขั้นตอนวิวัฒนาการของการเติบโตภายในครรภ์จะต้องมีการสร้างอวัยวะ หากวิวัฒนาการดังกล่าวถูกรบกวนด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง เช่นมีเชื้อไวรัส เป็นต้น จะทำให้อวัยวะในส่วนที่จะต้องวิวัฒนาการเป็นไต กระเพาะปัสสาวะ หรือขาไม่สมบูรณ์ หรือสมบูรณ์ไม่ 100% จึงทำให้เนื้อติดกัน กรณีนี้ถือว่าเป็นความผิดปกติน้อยกว่าเด็กมีหัวติดกัน

ด้านนางสุ่ย แม่ของทารกน้อย กล่าวว่า แต่งงานอยู่กินกับนายกู้กู อายุ 51 ปี ซึ่งเป็นชาวพม่ามาเป็นเวลา 10 ปีเศษ เข้ามาทำงานที่ภูเก็ตเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยทำงานรับจ้างประมงอยู่ที่แพปลาพิชัย ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ก่อนหน้านี้เคยให้กำเนิดบุตรมาแล้ว 2 คน ครั้งนี้เป็นคนที่ 3 หลังจากผ่าคลอดแล้วก็ยังไม่ได้เห็นหน้าลูก ทราบจากสามีว่าลูกมีความผิดปกติ ขาทั้ง 2 ข้างติดกันคล้ายเงือก ผิวขาว น่ารัก แต่ไม่ทราบว่าเพศอะไร

"วินาทีแรกที่ทราบว่าลูกขาติดกันคล้ายเงือก รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ คิดว่าตัวเองคงมีเวรกรรม เพราะเกิดลูกมาแล้ว 2 คน ก็เสียชีวิตทั้งหมด ครั้งนี้ก็มีความผิดปกติขาติดกันคล้ายเงือก ไม่อยากเห็นหน้าลูกเพราะยังทำใจไม่ได้" แม่ทารกน้อย กล่าว

นางสุ่ย กล่าวอีกว่า ก่อนที่จะผ่าตัดคลอดประมาณ 2 วัน ฝันว่ามีเด็กมาเล่นหยอกล้อกับตน มีท่อนล่างเป็นผู้ชาย ท่อนบนเป็นเด็กผู้หญิง มานอนบนอก จากนั้นเด็กคนดังกล่าวก็หายไป ไม่คิดว่าความฝันดังกล่าวจะเป็นจริง ขณะนี้ยังไม่คิดตั้งชื่อลูก หวังว่าทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยจะสามารถช่วยเหลือลูกของตนได้

ทั้งนี้ มีรายงานว่าผู้ที่มีความผิดปกติในลักษณะดังกล่าว มีชีวิตรอดอยู่ปัจจุบันเพียง 2 ราย รายแรกเป็นชาวอเมริกัน ชื่อ ยอชท์ เกิดเมื่อปี ค.ศ.1980 ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ ผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 5 ครั้ง รายที่ 2 เป็นชาวเปรู ชื่อ มิรากอรส เซอร์ร่อน ไม่มีไต อวัยวะเพศภายในกับทวารหนักข้างในเป็นอันเดียวกัน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 2004 ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ไม่มีไต ทางเดินปัสสาวะผิดปกติ หัวใจผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook