วุฒิสภาเห็นชอบผ่านร่างพรบ.กู้เงิน4แสนล้าน
อภิสิทธิ์ - กรณ์ ร่วมฟังวุฒิถกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ส.ว.รุมค้าน ชี้ไม่จำเป็นเร่งด่วน ด้าน ส.ว.พัทลุง จี้นายกฯปรับครม.ขณะที่ ไพบูลย์ แกนนำ 40 ส.ว.อ้างจำเป็นต้องรับเพื่อแปรญัตติ
(10ส.ค.) การประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ มี นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระ ทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.....(กู้เงิน 4 แสนล้าน) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว นายกรณ์ ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการประชุมครั้งที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้นวันนี้จึงเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายโดยนายประสพสุขได้แจ้งว่า ส.ว.จะมีเวลาอภิปรายคนละ 10 นาที และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นระยะด้วย
นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า รัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่รัฐบาลกลับทำงานคล้าย ๆ กับประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ แล้วยังมาเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงินอีก ทั้ง ๆ ที่การใช้เงินตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งตนเห็นว่า รัฐบาลควรที่จะเสนอไปตามร่าง.พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมากกว่า
นอกจากนี้ตนยังไม่มั่นใจว่า คนด้อยโอกาส คนพิการ จะได้รับความเป็นธรรมจากงบประมาณดังกล่าวหรือไม่ เพราะโครงการขนาดใหญ่ ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบเทคโนโลยี ไม่มีรายละเอียดทั้งโครงสร้าง แบบ และแผนงานที่จะให้ความไว้วางใจว่า จะมีระบบอำนวยความสะดวกให้กับคนด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมไปถึงการตรวจสอบ ความเชื่อมั่น ว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการกู้เงินของรัฐบาลหรือไม่
นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาแต่ละรัฐบาลได้มีนโยบายการกู้เงินมาโดยตลอดจนถึงรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขทั้งหมดจนถึงการกู้เงินของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์คิดเป็นประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้ประชาชนเป็นหนี้จากการกู้เงินของรัฐบาล 1 แสนบาทต่อหัว จึงอยากสอบถามรัฐบาลว่ามีแนวทางในการใช้หนี้อย่างไรและต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะปลดภาระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมด
"การที่รมว.คลังบอกว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ในแดนบวกและปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สภาวะมั่นคงจะทำได้อย่างไรเพราะเมื่อดูจากตัวเลขที่รัฐบาลกู้นั้นและยังมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องชำระอีกจำนวนมากจึงเป็นห่วงว่าถ้าประเทศมีหนี้มากจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวสนับสนุนรัฐบาลให้มีการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศแต่ในทางปฎิบัติอยากให้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณด้วยเพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่" นายเจริญ กล่าว
นายเจริญ กล่าวว่า แม้นายกฯจะมีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน และเจตนาดี แต่อยากเห็นนายกฯแสดงความกล้าหาญโดยในการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้คนที่มีฝีมือเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพ โดยโครงการชุมชนพอเพียงที่เริ่มมีการทุจริตตอนนี้นายกฯต้องแสดงความเด็ดขาดให้เห็น
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายปีพ.ศ. 2552 กำลังมีการปิดงบประมาณแล้วปรากฎว่ายังไม่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเท่าไหร ทั้งนี้การกระจายงบประมาณที่ผ่านมามีการเรียกเร่ขายกันมากโดยมีการเรียกรับผลประโยชน์ 10-20 % โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการเฉลี่ยงบประมาณให้ส.ส.400 คน ได้คนละ 25 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเอาไปฝากไว้ที่กรมส่งเสริมฯ และให้หน่วยงานทำเรื่องเบิกจ่ายตามสายงานให้กับส.ส. ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่รู้ไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงเรียกร้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ให้เข้ามาตรวจสอบด้วย ดังนั้น ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีการกู้เงินเพิ่มเติม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำ40 ส.ว. กล่าวว่า เรื่องกู้เงินตามพ.ร.บ.ยังมีเวลาไม่เหมือนกับพ.ร.ก.กู้เงินที่ผ่านไปก่อนหน้านี้ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ขาดรายละเอียดที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะมาตรา 3 เป็นการจำกัดหน้าที่รัฐสภาเพียงแค่ให้รับทราบเท่านั้น ถ้าทำแบบนี้จะเป็นประเพณีที่ไม่ถูกต้องจากเดิมที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ ต้องตกไปเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และโครงการตามพ.ร.ก.มีหลายโครงการมีปัญหาเช่นโครงการชุมชนพอเพียงหรือการปรับปรุงขนส่งมวลชนระบบราง
"มีแนวคิดว่าถ้าไม่รับร่างพ.ร.บ.นี้วุฒิสภาจะเสียโอกาสในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวและเรื่องต้องกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรทันทีส่วนตัวจึงเป็นห่วงมาก แต่ถ้าเรารับหลักการพ.ร.บ.นี้ก็ไม่ได้เป็นการแสดงว่าเราเห็นด้วย แต่เป็นการรับไว้เพื่อให้มีการแก้ไขที่ถูกต้องตามขั้นตอนก่อนที่จะส่งกลับไปให้สภาฯอีกครั้ง "
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า รัฐบาลกู้เงินไปก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้ใช้และงบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ก็กำลังจะผ่านสภาและยังมีเสนอพ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท ทำให้เงินมะรุมมะตุ้มเปรียบเสมือนสามล้อถูกหวย มีเงินมากองอยู่ตรงหน้าไม่รู้จะใช้ยังไง นอกจากนี้ ตนเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความซื่อสัตย์สุจริตและตนก็เชื่อเช่นนั้น แต่ขณะนี้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้วในโครงการชุมชนพอเพียง ประกอบกับเมื่อ งบประมาณที่ผ่านมา ตนจึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกฤช กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันแต่ให้มาเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกแทน รัฐบาลกลับทำในสิ่งที่ไม่ได้พูดแต่สิ่งที่พูดเอาไว้กลับไม่ได้ทำ และภาษีน้ำมันทำให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเดือดร้อน แต่หากเก็บภาษีที่ดินและมรดกชาวบ้านก็จะไม่ได้รับการเดือดร้อน ตนมองว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการพูดโชว์โก้ ๆ โดยเชื่อว่ำไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้นายกฯควรปรับครม.ได้แล้วเพราะขณะนี้เกิดปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อนบ้านไม่คบหา ทางที่ดีควรปรับรัฐมนตรีคนนั้นออกไปได้ รวมทั้งรัฐมนตรีที่ควรฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ควรเอาออกไปให้หมด
ล่าสุดเมื่อเวลา 21.20น. นายกรณ์ ได้รายงานผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ว่า ที่ประชุมวุฒิสภาได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว
ทั้งนี้ ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระ 1 ด้วยคะแนน 110 เสียงต่อ 21 เสียง งดออกเสียง 9 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาจำนวน 27 คน หลังจากใช้เวลาอภิปรายกันนานกว่า 11 ชั่วโวง โดยนางทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 สั่งปิดการประชุมเมื่อ เวลา 21.21 น.
ทั้งนี้ ก่อนจะลงมตินายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการและเหตุผลที่ต้องออกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พร้อมเรียกร้องให้ ส.ว.รับหลักการ เพื่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ นายกรณ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า อิทธิพลของส.ว.มีมากต่อการทำงานของรัฐบาล ก่อนหน้านี้ที่ส.ว.ติงเรื่องเงินกู้ รัฐบาลก็ไปทำรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้นแล้ว 2 รอบ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ เร่งการกลั่นกรองโครงการ เร่งออกระเบียบการใช้เงิน โดยจะเอาไปใช้ในโครงการอื่นๆหรือโยกงบข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงานไม่ได้ และการประเมินโครงการว่า มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับมหภาค และช่วยเหลือประชาชนได้จริงหรือไม่ ตนไปประมาณ 10 จังหวัดในช่วงที่ผ่านมา พบความหลากหลายในความต้องการใช้งบประมาณ เช่น เรื่องการขยายโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี การบูรณะสถานที่ท่องเที่ยวที่สุโขทัย การสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมที่เชียงใหม่ เป็นต้น ยังไม่นับถึงระบบชลประทานที่เกษตรกรต้องการ
นายกรณ์ กล่าวอีกว่า สัญญาณเศรษฐกิจที่เริ่มที่จะดีขึ้น เป็นเพียงสัญญาณ โดยสัญญาณนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกชนเริ่มมั่นใจบทบาทรัฐบาลที่จะทำในครึ่งปีหลัง ซึ่งก็มาจากแผนไทยเข้มแข็งนั่นเอง มีนักวิชาการหลายคนมองเป็นบวก อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม เห็นว่า ครึ่งปีหลังแผนไทยเข้มแข็งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับขั้นตอนต่อไปของแผนไทยเข้มแข็ง ภายในอาทิตย์หน้า สำนักงบประมาณจะเสนอแผนต่อครม. จากนั้นจะมาพิจารณารายละเอียดโครงการอีกครั้ง แล้วจึงจะเสนออนุมัติงบเพื่อดำเนินการใช้เงินทำโครงการได้ ส่วนเรื่องการตรวจสอบโครงการ ตั้งแต่ขั้นประมูล ราคากลางที่จะใช้ในการประมูลนั้น สำนักงบฯเป็นผู้คำนวณ ฉะนั้นไม่แตกต่างจากระบบปกติ จึงสบายใจได้ แม้ส.ว.บางคนจะมองว่า เปลี่ยนรัฐบาลแล้วจะทำอย่างไร แต่เรื่องนี้ไม่มีปัญหาเพราะโครงการที่อนุมัติไปแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก และไม่ต้องกังวลเรื่องล็อคสเปค ส่วนถ้าเงินเหลือก็ต้องคืนคลัง ฉะนั้นขอให้มั่นใจในเจตนาของรัฐบาล และพิจารณาให้ผ่านร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้