ผู้เชี่ยวชาญเตือน หยุด “COVID-19” แค่วัคซีนอาจไม่พอ
ในขณะที่บริษัทยากำลังพัฒนาและผลิตวัคซีนรักษาโรค COVID-19 ความกังวลในระดับนานาชาติอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น นั่นคือประเทศใดจะเป็นประเทศแรกที่ได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม ในการต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่นี้ ผู้เชี่ยวชาญได้เตือนว่า เราอาจจะยังไม่มีปริมาณวัคซีนที่เพียงพออย่างน้อยในอีกหลายปี แม้จะมีความพยายามในการผลิตอย่างเต็มที่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนก็ตาม เนื่องจากขณะนี้มีประชากรโลกราว 70% ที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และทำให้การระบาดชะลอตัวลง
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลก็คือ การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงอย่างเดียว อาจจะขัดขวางการยุติโรคระบาดใหญ่ในพื้นที่อื่นๆ ได้ รวมถึงประเทศที่ยากจน ที่ไม่สามารถซื้อวัคซีนมาใช้ในประเทศ สหรัฐอเมริกาอาจจะถูกเมิน หากมีการพัฒนาวัคซีนในประเทศในลักษณะที่ไม่พึ่งพาใคร และวัคซีนที่ได้อาจจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนที่ผลิตในจีนหรือยุโรป
สถานการณ์ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหวาดกลัวก็คือ การต่อสู้ในระดับโลกซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตวัคซีนเลือกที่จะขายวัคซีนให้กับผู้ที่วางมูลค่าสูงที่สุด ประเทศที่ร่ำรวยจะกว้านซื้อและกักตุนวัคซีน ขณะเดียวกัน ประเทศที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนก็จะกักตุนวัคซีนไว้ใช้สำหรับประชากรของตัวเอง
เซธ เบิร์คลีย์ ซีอีโอของ Gavi ซึ่งเป็นผู้ช่วยผลิตวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา ระบุว่า โมเดลที่ประเทศต่างๆ พากันคิดถึงแต่ทางรอดของประเทศตัวเองจะไม่ได้ผลอีกต่อไป แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีการระบาด ความพยายามในการต่อสู้กับโรคระบาดของประเทศนั้นๆ จะล้มเหลวทันทีที่มีการปิดพรมแดนและปิดการค้า นี่เป็นปัญหาระดับสากล ที่จำเป็นต้องมีทางออกในระดับสากลเช่นกัน
วิธีการดังกล่าวจะได้รับการทดสอบโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของแนวคิด “America First” ซึ่งปรากฏในวิธีการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ รวมถึงผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญแต่ผลประโยชน์ของชาติ ทั้งการลดความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับโรคระบาด และพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิม
การแย่งชิงอุปกรณ์ป้องกันและเครื่องช่วยหายใจ จนส่งผลให้ประเทศยากจนไม่สามารถหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้ได้ ชี้ให้เห็นถึงการแข่งขันเพื่อช่วงชิงวัคซีนอย่างรุนแรง บริษัททั้งเล็กและใหญ่ต่างเร่งพัฒนาวัคซีนด้วยเทคโนโลยีและวิธีการต่างๆ Avalere Health บริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับยา ได้ติดตามโครงการวัคซีนอย่างน้อย 120 โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล มหาวิทยาลัย สถาบันที่ไม่แสวงหากำไร และบริษัทเอกชน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทรัมป์บางส่วนก็ให้ความสนใจในประเด็นนี้เช่นกัน โดยเฉพาะแพทย์อย่าง ฟรานซิส คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และแอนโธนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ ที่ได้เขียนบทความลงในวารสาร Science เรียกร้องให้มีความร่วมมือในระดับนานาชาติ
“ราคา ระบบการกระจายวัคซีน การขยายวงจรการจำหน่ายวัคซีน และการขนส่งที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในระดับสากลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและเศรษฐกิจ”
นอกจากนี้ การแข่งขันพัฒนาวัคซีนยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดล่วงรู้ว่าโครงการใดจะประสบความสำเร็จ นั่นยิ่งทำให้บริษัทต่างๆ พากันเร่งผลิตวัคซีนหลายล้านโดส ซึ่งอาจลงเอยที่ความสูญเปล่า ซึ่งเป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง
“เราจำเป็นต้องวางรากฐานสำหรับการแบ่งปันวัคซีนในระดับโลกเดี๋ยวนี้ ก่อนที่จะรู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งเป็นการเจรจาขั้นพื้นฐาน ทว่าตอนนี้เรายังไม่มีกรอบการทำงานหรือระเบียบในระดับสากล ไม่มีแม้แต่กรอบที่ระบุว่าจะทำงานในเรื่องนี้อย่างไร สิ่งที่เราไม่ต้องการก็คือสถานการณ์ของคนที่มีและคนที่ขาดแคลน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ที่สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้ หรือใครมีกำลังการผลิต หรือใครที่ร่ำรวย” เจเรมี โคนินดิค นักวิจัยด้านนโยบายอาวุโส จากศูนย์การพัฒนาระดับสากล (Centre for Global Development) กล่าว
ด้านกาวิน ยามีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ผลกระทบด้านนโยบายสุขภาพโลก (Centre for Policy Impact in Global Health) มหาวิทยาลัยดุ๊ค กล่าวว่า ประเทศที่ร่ำรวยจะครอบครองวัคซีน ทิ้งประเทศยากจนไว้เบื้องหลัง ให้ได้รับวัคซีนทีหลัง และได้รับมาในจำนวนน้อยกว่า ซึ่งจะทำให้สถานการณ์การต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนากลายเป็นข้อผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง
“เราไม่มีทางหยุดโรคระบาดใหญ่ได้ การระบาดในพื้นที่ใดๆ ก็เท่ากับการระบาดทุกพื้นที่ นอกจากว่าเราจะทำให้วัคซีนสามารถหาซื้อได้ทั่วโลก” ยามีย์กล่าว