อานันท์ ออกโรงค้านฎีกาชี้ขัดกม.-จารีต! จี้รบ.รับผิดชอบ มท.1แจ้งได้ชื่อ4.8ล.
มท.1 แจ้งครม.ได้ชื่อต้านฎีกาแล้ว 4.8 ล้าน จี้รมต.พรรคอื่นร่วมมือด้วย "อานันท์"ออกโรงคัดค้านด้วย ชี้ชัดขัดต่อกฎหมายและหลักจารีตประเพณี จี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ กลุ่มเสื้อเหลือง"เมืองจันท์"ประเดิมแจ้งจับแกนนำเสื้อแดง ฐานละเมิดอำนาจศาล
มท.ได้ชื่อต้านฎีกาแล้ว 4.8 ล้าน
นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมว่า มีประชาชาชน 4.8 ล้านคน มาลงชื่อคัดค้านกลุ่มคนเสื้อแดง ที่จะถวายฎีกาขอพระราชทานโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมขอความร่วมมือรัฐมนตรีพรรคการเมืองอื่นๆ ให้ช่วยรณรงค์ด้วย โดยไม่อยากให้เป็นเรื่องของ ภท.เพียงพรรคเดียว ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นำชาวบ้านเข้าแจ้งความกองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายชวรัตน์ พร้อมพวกในข้อหาหมิ่นเบื้องสูง กรณีสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตั้งโต๊ะให้ประชาชนลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกา
ทั้งนี้ ในการประชุม ครม. มีรายงานข่าวว่า นายชวรัตน์ได้รายงานความคืบหน้ากรณีกระทรวงมหาดไทยเปิดให้ประชาชนทุกจังหวัดมาร่วมลงชื่อคัดค้านการยื่นถวายฎีกา เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า หลังตั้งโต๊ะได้ 8 วัน (วันที่ 3-11 สิงหาคม) มีประชาชนมาลงชื่อแล้ว 4.8 ล้านคน แบ่งเป็น ภาคอีสาน 2.8 ล้านคน ภาคกลางและตะวันออก 1.1 ล้านคน ภาคใต้ 5 แสนคน ภาคเหนือ 4 แสนคน นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีก 7,925 คน ที่ขอถอนรายชื่อออกจากบัญชีของกลุ่มคนเสื้อแดง
"เรื่องนี้ไม่อยากให้เป็นเรื่องของ ภท. เพียงพรรคเดียว อยากจะให้รัฐมนตรีและพรรคอื่นๆ ช่วยกันรณรงค์ด้วย เพราะขณะนี้หลายฝ่ายทั้งผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ ก็ได้ออกมาชี้แล้วว่าการถวายฎีกาครั้งนี้มิชอบด้วยกฎหมาย" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายชวรัตน์
"บุญจง"ยัน ตั้งโต๊ะไม่ขัดรธน.
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการลงชื่อถอนการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ขณะนี้ได้รายชื่อทั้งหมด 5 ล้านคน โดยจะให้ทางจังหวัดรวบรวมรายชื่อแล้วส่งมาที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงจะไม่นำรายชื่อดังกล่าวไปทำอะไรที่ผิดกฏหมาย สำหรับเอกสารที่ให้ลงชื่อนั้น จะมีการระบุ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เลขบัตรประชาชน 13 หลัก พร้อมลายเซ็นต์ผู้ลงชื่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ปกครองจะทำความเข้าใจกับประชาชนไปเรื่อยๆ เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชน จะไม่กำหนดว่าจะสิ้นสุดการลงชื่อเมื่อใด แต่จะทำไปจนกว่าประชาชนจะหยุดลงชื่อ เมื่อได้รายชื่อมาแล้ว จะสรุปว่ามีจำนวนประชาชนที่คัดค้านเท่าใด ซึ่งจะประเมินได้ว่าประชาชนเข้าใจและรู้ว่ากฏหมายดีแล้วหรือยัง
"ผมมีหน้าที่ชี้แจงตามกระบวนยุติธรรม ซึ่งสิ่งที่ได้ดำเนินการไปก็เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน ให้รู้ถึงการขอพระราชทานอภัยโทษตามกฏหมายเป็นอย่างไร และที่อ้างว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เรื่องการแทรกแซงการทำงานของข้าราชการนั้น ยืนยันว่าทำหน้าที่ในฐานะพสกนิกรคนไทยคนหนึ่งและเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ถูกต้องเท่านั้น" นายบุญจง กล่าว
"อานันท์"ออกโรงค้านถวายฎีกา
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นถึงกระบวนการถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า ในฐานะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีและคนเคยรับราชการ ตนเห็นว่าการถวายฎีกา มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดแย้งกับหลักจารีตประเพณี การถวายฎีกาเป็นสิทธิที่คนไทย ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวฯ ยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือสมัยปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามธรรมเนียมมีอยู่โดยเด่นชัด ส่วนใหญ่ก็ทำไปเพื่อเป็นการขอปลดทุกข์ที่เป็นทุกข์ส่วนตัว เช่น เป็นคนยากจน ไม่มีเงินเลี้ยงลูก มีอุบัติเหตุสาหัส มีปัญหาค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทุกข์ส่วนตัวนี้ การถวายฎีกานี้ต้องกระทำโดยผ่านทางรัฐบาล ส่วนราชการ หรือบางเรื่องพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือพระราชินีฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินผ่านไปต่างจังหวัด แล้วอาจมีชาวบ้านมายื่นโดยตรง พระองค์ท่านก็ให้ผู้ติดตามรับฎีกาไป แล้วเป็นหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ นำไปพิจารณาว่าเป็นฎีกาประเภทไหน
"ถวายฎีกาขณะนี้มีบริบทที่เกี่ยวพันกับการเมือง จึงเห็นว่าผู้ที่รับเรื่องคงไม่ใช่สำนักราชเลขาธิการ แต่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือคนต้องติดคุกก็ต้องส่งไปที่กรมราชทัณฑ์ หรือกระทรวงมหาดไทย ซึ่งฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นคนรับผิดชอบโดยตรงว่า สมควรถวายถึงพระมหากษัตริย์หรือไม่ เพราะหลายเรื่องไม่สมควรก็ต้องตัดไฟแต่ต้นลม" นายอานันท์ กล่าว
เมื่อถามว่า มองกรณีกลุ่มเสื้อแดงถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไร นายอานันท์กล่าวว่า คิดว่าไม่น่าหนักใจอะไร ที่มีการกล่าวหากันมากว่า จะเป็นเรื่องที่กดดันพระมหากษัตริย์หรือไม่ หรือจะเป็นการละเมิดพระองค์ท่าน หรือทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยนั้น หากขั้นตอนไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับหลักจารีตประเพณี ไม่เป็นไปตามครรลองของการถวายฎีกา ก็เป็นหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ ที่ต้องส่งเรื่องให้รัฐบาลตัดสินใจ ถ้าไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฏหมายก็หยุดที่รัฐบาล และรัฐบาลมีหน้าที่อธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นการกลั่นแกล้ง แต่เพราะไม่ถูกครรลองกฏหมาย
"ในประวัติศาสตร์ไทย 50-60 ปีที่ผ่านมา ก็มีคนเคยถูกฟ้องร้อง ผมเองก็เคยถูกฟ้องข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผมไปให้การในศาลอยู่ตั้ง 3 ปี มีความเชื่อมั่นในกระบวนการศาลยุติธรรม 3 ปีผ่านไปผมไม่ผิด ศาลก็ไม่ลงโทษ ในช่วง 6 ตุลาฯ 19 ผมโดนข้อหาคอมมิวนิสต์ ผมรู้ว่าไม่ได้เป็น ผมก็ยังเข้ากระบวนการนี้และศาลก็ไม่ได้ตัดสินว่าผิด ในอดีตผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนทั้งทหาร นักการเมืองเคยติดคุก เคยถูกยึดทรัพย์ ทุกคนก็สู้คดี แต่การจะไปอ้างว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม ตุลาการไม่ยุติธรรม ทุกคนก็อ้างได้ แต่สุดท้ายก็ต้องพิสูจน์กันในศาล ผมแน่ใจว่า กฏหมายไทยจะให้ความยุติธรรมกับบุคคลผู้นั้น" นายอานันท์ กล่าวและว่า การที่พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่ามีระบบ 2 มาตรฐานนั้น จากพฤติกรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผ่านมาคล้ายๆ กับว่าอะไรที่ใช้ได้ก็บอกว่าดี แต่ถ้าไม่ได้ประโยชน์ก็จะบอกว่าใช้ไม่ได้ ถือว่าไม่ถูกต้องนัก พระเจ้าอยู่หัวอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถจะก้าวก่ายเรื่องทางการเมืองได้ โดยเฉพาะศาล จะไปต่อสู้เพื่อให้พระองค์ท่านเปลี่ยนคำสั่งศาลเป็นไปไม่ได้ การถวายฎีกาถ้าจะเกิดขัดแย้ง ก็ต้องไม่พาดพิงในวัง
มท.รายงานลงชื่อต้านฎีการ่วม 5 ล.
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย รายงานผลการรวบรวมตัวเลข ผู้ร่วมลงชื่อคัดค้านการถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า มีผู้มาลงชื่อเพิ่มขึ้น 858,667 ราย รวมลงชื่อ 8 วัน มีผู้รวมลงชื่อคัดค้านแล้ว 4,817,317 ราย แบ่งเป็น ภาคเหนือ 75,325 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 364,667 ราย ภาคกลางและภาคตะวันออก 964,181 ราย และภาคใต้ 193,448 ราย โดยมีผู้ถอนฎีกาเพิ่มขึ้น 493 ราย รวมผู้ถอนชื่อถวายฎีกาขณะนี้ 7,925 ราย ทั้งนี้ ในพื้นที่กทม.นั้นไม่มีตัวเลขการลงชื่อคัดค้านฎีกา และถอนฎีกา ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อ
โฆษก"แม้ว"ชี้ต้านฎีกาผิดปกติ
ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การคัดค้านการถวายฎีกาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องผิดปกติ ทำให้เกิดความวุ่นวาย ยุ่งยาก สำหรับคนที่คัดค้านนั้น จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มบุคคลช่วยทำให้เกิดกระแสและมีความพยายามที่จะสร้างประเด็นขึ้นมา ทั้งที่ใครใคร่ถวายฎีกานั้นถือเป็นเรื่องปกติ การพยายามสร้างประเด็นขึ้น ยิ่งทำให้เกิดความไม่ปรองดอง ส่วนคนคัดค้านจะะมีจำนวนเท่าไหร่นั้นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือ คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะยื่นถวายฎีกาได้ สุดท้ายทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของพ.ต.ท.ทักษิณว่า จากการสอบถามพ.ต.ท.ทักษิณล่าสุด ทราบว่าความเป็นอยู่สบายดี แต่ยังทุกข์ทางใจ คิดถึงบ้านอยากกลับบ้าน ส่วนจะเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อไหร่นั้นยังไม่รู้ สำหรับกรณีที่มีประชาชนร่วมลงชื่อคัดค้านการยื่นถวายฎีกาของกลุ่มคนเสื้อแดงถึงจำนวน 4.8 ล้านคนนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวจะจริงหรือไม่นั้นไม่รู้ แต่ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะเรื่องการยื่นถวายฎีกา ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งทำ แต่เป็นการกระทำของคนทั้งประเทศ หากจะคัดค้านนั้น ก็สามารถทำได้ แต่น่าจะเป็นเพียงแค่ความเห็นที่แตกต่างกันเท่านั้นไม่ใช่การแตกแยก
"เหลือง"จันท์แจ้งดำเนินคดี"แดง"
ส่วนกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำเสื้อแดงและประชาชนที่ลงชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาละเมิดอำนาจศาลและช่วยเหลือให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องได้รับโทษ พร้อมให้ประชาชนดาวน์โหลดแบบฟอร์มการแจ้งความทางเว็บไซต์ผู้จัดการนั้น ปรากฏว่า กลุ่มพันธมิตรจันทบุรี ประมาณ 50 คน นำโดยนายสุวิชาณ สุวรรณาคะ ประธานกลุ่มการเมืองภาคประชาชน จ.จันทบุรี ได้เข้าแจ้งความพ.ต.ท.สยาม จิตเพียร พนักงานสอบสวน (สบ.3) สภ.เมืองจันทบุรี เพื่อให้ดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มเสื้อแดงและพวก
นายสุวิชาณ กล่าวว่า การกระทำของแกนนำเสื้อแดงถือเป็นการพยายามช่วยเหลือนักโทษที่หนีอาญาแผ่นดินให้พ้นโทษไม่ต้องรับผิด เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน4,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้เนื้อหาในฎีกายังเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล