ถือศีลอดเดือนรอมฎอน หลักปฏิบัตินับพันปี ระลึกความหิวโหยผู้อดอยาก-ยกระดับใจบริสุทธิ์

ถือศีลอดเดือนรอมฎอน หลักปฏิบัตินับพันปี ระลึกความหิวโหยผู้อดอยาก-ยกระดับใจบริสุทธิ์

ถือศีลอดเดือนรอมฎอน หลักปฏิบัตินับพันปี ระลึกความหิวโหยผู้อดอยาก-ยกระดับใจบริสุทธิ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเดือนรอมฎอน จึงถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่จะเขียนถึงเทศกาลที่สำคัญยิ่งเทศกาลหนึ่งของชาวมุสลิม กล่าวคือ รอมฎอน หมายถึง เดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจเราะห์ หรือปฏิทินอิสลาม (ศักราชฮิจเราะห์เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1165 เป็นปีที่ศาสดามุฮัมมัด อพยพจากเมืองมักกะไปยังเมืองเมดีนา แต่การเทียบรอบปีของ ฮ.ศ. กับ พ.ศ. มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน โดยทุกๆ 32 ปีครึ่งของ ฮ.ศ. จะเพิ่มขึ้น 1 ปี เมื่อเทียบกับ พ.ศ. ปัจจุบัน) เป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอดตลอดทั้งเดือน โดยในปีนี้ พ.ศ. 2563 จุฬาราชมนตรีประกาศว่า วันที่ 1 เดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1440 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2564

เทศกาลเดือนรอมฎอนนั้นกำหนดอยู่ในหลักการแห่งอิสลาม 5 ประการ ถือเป็นภารกิจจำเป็นต่อชีวิตมุสลิมทุกคนอันได้แก่

1) การกล่าวคำปฏิญาณตนเข้ารับอิสลาม

2) การละหมาด 5 เวลาในแต่ละวัน

3) การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน

4) การบริจาคทาน (ซะกาต) และ

5) การแสวงบุญที่เมืองมักกะสักครั้งหนึ่งในชีวิต การจาริกแสวงบุญประจำปีหรือที่เรียกว่าการทำฮัจญ์ที่เมืองมักกะ เป็นภารกิจหลักที่มุสลิมทุกคนที่มีความสามารถทั้งสภาพของร่างกายและเงินทองจะต้องปฏิบัติ

สำหรับหลักการข้อที่ 3 และข้อที่ 4 อันเกี่ยวเนื่องกัน

3) การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ทุกๆ ปีเมื่อเดือนรอมฏอนมาถึงนั้น ชาวมุสลิมจะต้องทำการถือศีลอดโดยเริ่มตั้งแต่ตอนรุ่งสางจนถึงตะวันตกดิน โดยงดเว้นการกิน ดื่ม และการมีเพศสัมพันธ์ การถือศีลอดนั้นได้ให้ประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ถือว่าเป็นวิธีการรักษาความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณ การขัดเกลาจิตใจ การตัดบางสิ่งบางอย่างออกจากการดำเนินชีวิตทางโลก แม้แต่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ดังเช่นการถือศีลอดนั้นได้ทำให้เรามีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่อดอยาก 

4) การจ่ายซะกาต คำว่าซะกาดแปลว่า “การทำให้บริสุทธิ์” การจ่ายซะกาต หมายถึง “การให้ส่วนของทรัพย์สินแก่ผู้ที่ยากจนขัดสนตามจำนวนที่กำหนด” ทรัพย์สินในส่วนที่เรามีอยู่นั้นจะทำให้บริสุทธิ์ ด้วยการให้ส่วนเล็กน้อยแก่ผู้ที่ยากจนขัดสน ในส่วนของทรัพย์สินที่ต้องการบริจาคนั้นก็สามารถบริจาคได้มากเท่าที่ต้องการ

จะเห็นได้ว่าการถือศีลอดประจำปีในเดือนรอมฎอนนั้นเป็นโอกาสที่จะได้ประสบการณ์อันล้ำค่าที่จะรู้จักความหิวโหยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้เข้าใจถึงความรู้สึกของความหิวโหยของคนยากไร้ ทำให้การบริจาคทานนั้นทำด้วยใจอันบริสุทธิ์ ทำด้วยความเคารพ (ไม่ใช่การหยิบยื่นหรือโยนให้อย่างเสียไม่ได้หรือรังเกียจ) และที่สำคัญคือการบริจาคที่ไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ นอกจากการทำให้ทรัพย์สินของผู้บริจาคนั้นบริสุทธิ์เท่านั้นเอง

สวยงามมากนะครับและในยามที่มีผู้คนอดอยากหิวโหยมากเหลือเกินจากผลกระทบของมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ก็หวังว่าทุกท่านจะได้รับแนวคิดดีๆ จากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook