"เจ้าวาเลนไทน์" ม้าแสดงชื่อดัง ตายเซ่นกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพจดังแฉต้นตอโรคระบาด
จากกรณีการระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นโรคที่ไม่เคยระบาดในไทยมาก่อน ทำให้ม้าในไทยตายลงไปเป็นจำนวนหลายร้อยตัว
ล่าสุด ม้าแสดงชื่อดังอย่าง "เจ้าวาเลนไทน์" ม้าสีชาวซึ่งถูกนำไปเข้าฉากละครและภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง ได้ตายจากด้วยโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งทาง เฟซบุ๊ก อารี ปัตตาล ซึ่งเป็นเจ้าของท้า ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "วันนี้ เป็นวัน สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสมานฟาร์ม ที่ได้สูญเสียม้าแสดงชื่อดัง เจ้าวาเลนไทน์และเจ้าเสาร์ 5 แล้วยังไม่รู้ว่าการสูญเสีย จะจบลง โดยการตายของม้ากี่ตัว??"
ทางด้าน เฟซบุ๊ก แหม่มโพธิ์ดำ ซึ่งได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า
"ว่าจะปิดเพจ แต่ขออีกสักโพสต์นะ เพราะทางฟาร์มติดต่อมาขอความช่วยเหลือ ตอนนี้เกิดวิกฤตที่เรียกได้ว่าฉิบหาย ม้าไทยตายไปกว่าห้าร้อยตัว แต่ข่าวเงียบกริบ เกิดโรคระบาด ASH หรือ กาฬโรคแอฟริกาในม้า ที่ไม่เคยระบาดในไทยมาก่อน คร่าชีวิตม้าไทยไปกว่าห้าร้อยตัว สูญเงินไปหลายร้อยล้านบาท และยังตายไม่หยุด ตายทุกวัน เหตุเกิดจากนายทุนนำเข้าม้าลายมาโดยไม่ควบคุมโรค แพร่เชื้อจนน้องม้าไทยตายเป็นเบือ"
นายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีเกิดการระบาดของ “กาฬโรคแอฟริกาในม้า” ยอดม้าตายอยู่ที่ 431 ตัว ซึ่งทางจังหวัดฯ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอ ได้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น เพื่อสกัดการแพร่ระบาดเอาไว้ให้ได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการคัดกรองตรวจโรคก่อนเข้ารับวัคซีนป้องกันกาฬโรคแอฟริกาในม้า ซึ่งม้าที่จะรับวัคซีนได้ ผลตรวจเลือดจะต้องเป็นลบ ไม่มีเชื้อโรคนี้อยู่ และต้องเป็นม้าที่อยู่ในมุ้งตาถี่ ป้องกันริ้นไรและสัตว์ต่างๆ เข้าไปดูดกินเลือด รวมทั้ง ต้องมีสุขภาพที่สมบูรณ์อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค
อย่างไรก็ตาม หลังจากม้ารับวัคซีนไปแล้ว ม้าจะต้องอยู่มุ้งเป็นเวลา 1 เดือน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิต้านทานโรค เจ้าของม้าจึงต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ม้าโดนสัตว์ดูดเลือดกัด และควรงดอาหารข้นลงด้วย ควบคู่ไปกับนวดเท้าและกล้ามเนื้อเพื่อให้เลือดไหลเวียน ที่สำคัญ ต้องปรับพฤติกรรมการเลี้ยง ให้ม้านอนกางมุ้ง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์โรค ดูแลพื้นที่คอกเลี้ยงให้แห้ง พ่นหมอกควัน ไล่แมลง สุขาภิบาลให้ดีเพื่อป้องกันโรคอื่นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ต้องขอประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าของม้าที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนซึ่งมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้นำมาไปตรวจเพื่อขึ้นทะเบียนเอาไว้ จะได้รู้โรคเร็ว และควบคุมโรคได้รวดเร็ว ซึ่งเจ้าของม้าทุกฟาร์มทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดฯ ขอให้ดำเนินการป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มข้น ด้วยมาตรการ ม. ว. ย. โดย ม. คือกางมุ้ง ด้วยตาข่ายตาถี่ ตา 32 ป้องกันแมลงและสัตว์ดูดเลือดให้กับม้า , ว. คือวัคซีน ขอให้นำม้าไปตรวจเลือดคัดกรองเพื่อรับวัคซีนตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และ ย.คือ ยาพ่นกันแมลง เช่น พ่นหมอกควัน ,พ่นสเปรย์ และยาทาให้กับม้าเพื่อป้องกันแมลงพาหะมาดูดเลือด