สดศรีคาดเดือนนี้รู้ผลยุบพรรคปชป. คดีเงินบริจาค
สดศรี คาดเดือนนี้รู้ผลว่าต้องยุบ ปชป. ในคดีใช้เงินบริจาค 258 ล้าน และเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้าน ด้าน บัญญัติ ให้การมีหลักฐาน
นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าของการพิจารณาสำนวนเงินบริจาค 258 ล้านบาท และการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ได้รับทราบจากทางคณะกรรมการไต่สวนว่า ขณะนี้พยานในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้มาให้ปากคำแล้ว และทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็ได้ประสานจนสามารถพาตัวนายประจวบ สังข์ขาว กรรมการบริษัทแมซ ไซอะ จำกัด มาให้ถ้อยคำ
จึงน่าจะสามารถสรุปสำนวนเสนอให้ประธาน กกต.ได้ภายในวันที่ 18 ส.ค.นี้ และถ้าไม่มีข้อขัดข้องอะไร สำนวนมีความชัดเจนก็คาดว่า กกต.จะพิจารณาลงมติได้ภายในเดือนนี้
สำนวนที่คณะกรรมการไต่สวนฯ ส่งมาให้ กกต.พิจารณานั้น นอกจากจะมีการรายงานข้อเท็จจริงของการสอบสวนแล้ว ก็จะมีการเสนอความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดหรือไม่ โดย กกต.ก็จะพิจารณาว่ากรณีของเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองมีการนำเงินไปใช้ผิดประเภทเข้าข่ายฉ้อฉลเงินกองทุนตามข้อกล่าวหาของดีเอสไอหรือไม่ ส่วนกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ก็ต้องพิจารณาว่า มีการปกปิดไม่แจ้งให้ กกต.ทราบหรือไม่ และทั้งหมดเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 93 และ 94 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่กำหนดเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคหรือไม่
หาก กกต.มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดและมีผลต่อพรรค กรรมการบริหารพรรค ส่วนตัวก็คิดว่าคงไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก 1 ชุด เพื่อดำเนินการเรื่องของการยุบพรรค แต่สามารถใช้ผลสอบของคณะกรรมการไต่สวนฯ ชุดที่กำลังสรุปอยู่นี้ดำเนินการเรื่องของการเสนอเรื่องยุบพรรคไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เลย
เมื่อถามว่า มีข่าวว่า นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุในการเข้าให้ปากคำต่อ กกต.ว่า ระหว่างดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่เคยได้รับเงินบริจาคจำนวน 258 ล้านบาทจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) นางสดศรี กล่าวว่า เท่าที่ กกต.ตรวจสอบปี 47 และปี 48 ก็ไม่พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเงินบริจาคจำนวนดังกล่าว โดยที่มีการรายงานการรับบริจาคเงินมายัง กกต. ระบุว่า ปี 47 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับบริจาค 49 ครั้ง รวมเป็นเงิน 16 ล้านบาท ส่วนปี 48 ก็ได้รับบริจาค 49 ครั้ง เป็นเงิน 38 ล้านบาท
แต่เงิน 258 ล้านบาทนั้น กกต.ได้รับทราบจากทางดีเอสไอว่า บริษัททีพีไอ ไพลีน จำกัด (มหาชน) มีการบริจาคให้กับพรรคประชาธิปัตย์และมีการนำเสนอมาร้องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบในขณะนี้
เมื่อถามต่อว่า หากบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ให้เงินดังกล่าวกับแกนนำพรรค และมีการนำไปใช้ในการทำให้พรรคเป็นที่นิยมจะถือว่าเข้าข่ายเป็นเงินบริจาคหรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า คำว่าเงินบริจาคตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองทั้งฉบับปี 40 และปี 50 มีความหมายแทบจะเหมือนกัน คือ เงินบริจาคไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือให้เป็นสิทธิประโยชน์อื่น เช่น หุ้น หรือการจัดโต๊ะจีนเพื่อระดมทุนก็เข้าข่ายเป็นเงินบริจาคทั้งหมด และกฎหมายก็กำหนดว่าเมื่อมีเงินไหลเข้าพรรคมาไม่ว่าจะทางใด ก็ต้องแจ้งต่อ กกต.ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลรายรับรายจ่ายของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
"ไม่ว่าจะเป็นเงินนอกระบบหรือเงินใต้โต๊ะ เมื่อพรรคได้รับมาเราก็ต้องตรวจสอบให้ได้ กรณีดังกล่าวถ้าเป็นเรื่องจริงก็ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มีการปกปิดกันไว้ว่ามีการใช้เงินผิดประเภท กกต.ก็ต้องตรวจสอบตามหน้าที่ว่ามีการใช้เงินดังกล่าวโดยชอบหรือไม่" นางสดศรี กล่าว
แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งว่า ในเรื่องดังกล่าวมี 2 ประเด็นที่คณะกรรมการไต่สวนต้องพิจารณาและมีความเห็นเสนอ กกต. โดยประเด็นของข้อกล่าวหาการใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านผิดวัตถุประสงค์นั้น ทั้งจากคำชี้แจงและหลักฐานที่ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์นำมาแสดงและหลักฐานที่คณะกรรมการไต่สวนมีอยู่ บ่งชี้ว่าการใช้เงินกองทุนฯของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าจะมีปัญหา คงเหลือแต่ในส่วนประเด็นเงินบริจาค 258 ล้านของบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ที่แม้ในการเข้าให้ปากคำของนายบัญญัติ หัวหน้าพรรค และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เหรัญญิกพรรคขณะนั้น ต่างจะยืนยันว่าขณะดำรงตำแหน่งพรรคฯไม่มีการรับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอฯ และในรายงานงบดุลของพรรคประชาธิปัตย์ปี 47-48 ก็ไม่พบจำนวนเงินดังกล่าว
แต่ นายประจวบ สังข์ขาว ผู้บริหารบริษัทแมกไซอะฯ ก็ยืนยันว่า เงินที่บริษัทได้รับจากบริษัททีพีไอฯ ถูกโอนให้กับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน ตรงนี้ทางคณะกรรมการไต่สวนต้องกลับไปประมวลข้อเท็จจริงทั้งหมดอีกครั้งว่า เงินบริจาค 258 ล้านที่มีการอ้างนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และมีการนำไปดำเนินการในเรื่องใดที่เป็นการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ รวมทั้งจริงหรือไม่ที่ประชาธิปัตย์ได้รับมาแล้วไม่รายงานต่อ กกต. ก่อนที่จะสรุปว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ กกต.ต้องดำเนินการกับพรรคประชาธิปัตย์ในขั้นตอนต่อไปหรือไม่