ผู้เชี่ยวชาญเตือน “โควิด-19” อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญเตือน “โควิด-19” อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญเตือน “โควิด-19” อาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารของโลกในทุก ๆ ระดับ ความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจอันมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสโคโรนามีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงและจับจ่ายซื้ออาหารของประชากรทั่วโลก จากการสำรวจของโครงการอาหารโลก (World Food Program หรือ WFP) ระบุว่า ในปี 2020 ผู้คนกว่า 265 ล้านคนทั่วโลกมีความเสี่ยงต่อภาวะอดอยาก ซึ่งมีจำนวนมากกว่าในปี 2019 กว่า 2 เท่า ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ชี้ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 และการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ตำแหน่งงานมากกว่า 195 ล้านตำแหน่งทั่วโลก หายไป

ผลผลิตทางการเกษตรจากทั่วโลกจำเป็นต้องปล่อยให้เน่าเสียไป เพราะลูกจ้างแรงงานถูกสั่งห้ามทำงาน ไม่สามารถเดินทางมาทำงานได้ หรือไม่ต้องการทำงานเพราะกลัวจะติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่การผลิตเนื้อเพื่อบริโภคในสหรัฐฯ ก็ต้องหยุดสายพานการผลิตไป เพราะการระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับเกษตรกรในหลายประเทศต้องเทน้ำนมททิ้ง เพราะความต้องการใช้นมจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ และการผลิตอาหารอื่น ๆ ลดลงไปในช่วงล็อกดาวน์

มาตรการสั่งห้ามการเดินทางก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของเหล่าเกษตรกร ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศยังสั่งห้ามการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศเวียดนาม ที่ประกาศงดการส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนมีนาคม และประเทศรัสเซีย ที่กำหนดโควตาการส่งออกข้าวสาลีไปจนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพิงการนำเข้าข้าวสาลีเพื่อบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่ปัญหาเรื่องการจับจ่ายซื้ออาหารก็เริ่มเพิ่มมากขึ้น ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองเนื่องจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลก ผู้คนมากมายต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหาร เนื่องจากไม่สามารถออกไปทำงานได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ ราคาอาหารที่นำเข้าก็อาจพุ่งสูงขึ้น จนคนกลุ่มนี้ไม่สามารถซื้อได้ เช่น ประเทศคิริบาส ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ต้องเผชิญกับปัญหาราคาข้าวที่สูงกว่าในช่วงเวลาปกติกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ โควิด-19 ยังส่งผลต่อการนำเข้าอาหารในบางประเทศ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) คาดการณ์ว่า ผู้คนกว่า 80 ล้านคนในประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหารจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะอดอยาก เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าอาหารได้ เช่น หลายประเทศในแอฟริกา และประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญยังแสดงความกังวลเรื่องการหยุดชะงักของห่วงโซ่อาหารในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบในอนาคต ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรในฤดูกาลหน้า เช่น ในฟิลิปปินส์ ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด ส่งผลให้เมล็ดพันธุ์พืชไม่สามารถผ่านจุดตรวจของทางการไปถึงมือเกษตรกรได้ และฤดูกาลทำการเกษตรในอีกหลาย ๆ ประเทศต้องถูกเลื่อนออกไปเพราะการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่สามารถปลูกหรือเก็บเกี่ยวพืชผลในฤดูกาลนั้น ๆ ได้ และอาจทำให้เกษตรกรต้องเจอปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งศูนย์ฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือทางอาหาร ขณะเดียวกันก็ขยายและปรับปรุงการคุ้มครองทางสังคม และให้การช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรขนาดเล็กเพื่อให้พวกเขาสามารถผลิตผลผลิตทางการเกษตรได้ต่อไป ทั้งนี้ ห่วงโซ่อาหารควรมีขนาดที่สั้นลงเพื่อที่ประเทศต่าง ๆ ไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าหรือส่งออกอาหารที่ต้องใช้การขนส่งข้ามโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook