UNICEF เผย โควิด-19 อาจทำให้เด็กเสียชีวิตวันละ “6,000 คน”

UNICEF เผย โควิด-19 อาจทำให้เด็กเสียชีวิตวันละ “6,000 คน”

UNICEF เผย โควิด-19 อาจทำให้เด็กเสียชีวิตวันละ “6,000 คน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อระบบสาธารณสุขอาจทำให้เด็กทั่วโลกเสียชีวิตถึงวันละ 6,000 คน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของโลกที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูบุตรและสุขภาพอนามัยของเด็ก เช่น การวางแผนครอบครัว การคลอดบุตรและการดูแลหลังคลอด รวมถึงวัคซีนต่าง ๆ จะนำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบกว่า 1.2 ล้านคนทั่วโลก

“การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคน และเป็นภาวะวิกฤติที่ยิ่งใหญ่และเร่งด่วนที่สุดที่เด็กต้องเผชิญนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กกำลังถูกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ระบบดูแลเด็กหายไป ด่านพรมแดนถูกปิด การศึกษาที่หยุดชะงัก และอาหารที่ลดน้อยลง” Sacha Deshmukh ผู้อำนวยการ UNICEF สหราชอาณาจักร กล่าว  

การวิจัยของคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก ชี้ให้เห็นว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่เวชภัณฑ์จะส่งผลกระทบอย่างมากในประเทศที่ระบบสาธารณสุขไม่แข็งแรง การไปหาหมอเพื่อรับการรักษาจะมีแนวโน้มลดน้อยลงเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล การประกาศเคอร์ฟิว และปัญหาเรื่องระบบการขนส่ง รวมไปถึงความกังวลเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ซึ่งการวิเคราะห์ 3 สถานการณ์จำลองในประเทศที่มารายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ แสดงผลการคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายน้อยที่สุด ระบุว่า การบริการสุขภาพจะลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเพิ่มกว่า 9.8 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1,400 คนต่อวัน และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของมารดา 8.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การคาดการณ์สถานการณ์ที่เลวร้ายมากที่สุด ชี้ว่า การบริการสุขภาพจะลดลงมากกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในเด็กเพิ่มขึ้น 44.7 เปอร์เซ็นต์ และอัตราการเสียชีวิตของมารดาเพิ่มขึ้น 38.6 เปอร์เซ็นต์

การปิดด่านพรมแดนก็ปิดกั้นผู้คนให้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ได้ โดยชาวซีเรียกว่า 10,000 คนที่อยู่บริเวณชายแดนของประเทศซีเรียและจอร์แดน ไม่สามารถเข้ามารับการรักษาในจอร์แดนได้ ตั้งแต่เริ่มประกาศล็อกดาวน์และปิดด่านข้ามพรมแดน

“เด็กไม่ได้รับวัคซีน และผู้หญิงที่ถึงกำหนดคลอดบางคนไม่สามารถทำการผ่าคลอดได้” Tanya Chapuisat ตัวแทน UNICEF จอร์แดน กล่าว

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีแนวโน้มจะเกิดปัญหาเด็กเสียชีวิตมากที่สุดคือ บังคลาเทศ บราซิล เอธิโอเปีย อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และยูกันดา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook