อย.เตือน อุปกรณ์ฆ่าไวรัสด้วยแสง UV ไม่ควรใช้กับมนุษย์ หวั่นทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
อย. ย้ำ ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคผิดประเภทเสี่ยงอันตราย เตือนอุปกรณ์ฆ่าไวรัสด้วยแสง UV ไม่ควรใช้กับมนุษย์
เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำว่า การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อโรคเป็นอันดับแรก การใช้สารเคมีทำความสะอาดพื้นผิวเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย. วอส. บนฉลาก และปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้งานที่เหมาะสมกับพื้นผิวหรือวัสดุ ไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังหรือร่างกายโดยตรงไม่ว่าจะด้วยวิธีเช็ดทำความสะอาดหรือฉีดพ่นน้ำยา เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้มีฤทธิ์กัดกร่อน อาจทำให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือเกิดการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดอันตรายได้
กรณีระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อโรคในห้องและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่เหมาะสำหรับมนุษย์และสัตว์เลี้ยง เพราะอาจทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ อีกทั้งองค์การอนามัยโลกก็ไม่แนะนำให้ใช้การฆ่าเชื้อโรคบนร่างกายมนุษย์ด้วยวิธีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือใช้แสงยูวี ส่วนการอบโอโซน ก๊าซโอโซนเป็นก๊าซที่มีพิษต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หากต้องการฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมที่มีความชำนาญ และที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีผลการศึกษาที่ชัดเจนว่า ก๊าซโอโซนสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้
เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ไม่ว่าจะเลือกวิธีการฆ่าเชื้อโรคแบบใดควรศึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากหรือคู่มือการใช้อย่างเคร่งครัด การนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แต่หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีสัมผัสผิวหนังหรือร่างกายโดยตรงควรใช้แอลกอฮอล์ 70% ที่ระบุเลขทะเบียนยาบนฉลาก หรือแอลกอฮอล์เจลที่ระบุเลขจดแจ้งบนฉลาก ทำความสะอาดที่มือเท่านั้น
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวว่า วิธีการฆ่าเชื้อโรคที่ทำได้ง่ายและได้ผลดี คือ ใช้น้ำสบู่ล้างมือบ่อย ๆเมื่อกลับเข้าบ้าน ควรอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายทันที และนำเสื้อผ้าไปซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า หรือใช้ในน้ำร้อนซักผ้าที่อุณหภูมิประมาณ 60-90 องศาเซลเซียส จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง