พร้อมพงศ์ ปูดบิ๊กมั่นคง-ผู้มีบารมี หารือตปท.ปฎิวัติเงียบ 17 ส.ค. !!!
ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง-เทียบเท่า 29 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านกลุ่มเสือแดงถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ"ทักษิณ" อ้างเป็นการดึงสถาบันกษัตริย์เข้ายุ่งการเมืองจะเป็นผลโดยตรงให้เกิดความเคลือบแคลงในความเป็นกลางของสถาบัน
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงของข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่าจำนวน 29 คนเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมคัดค้านกรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)หรือกลุ่มเสื้อแดงการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยอ้างว่า จะมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เนื่องจากเป็นเรื่องในทางการเมือง จะเป็นผลโดยตรงให้เกิดความเคลือบแคลงในความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ และหากความระแวงสงสัยย่อมไม่เป็นการเชิดชูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทศพิธราชธรรม เสมอมา
รายละเอียดของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ดังที่เป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่า ในขณะนี้ได้มีบุคคลคณะหนึ่งดำเนินการรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวนมาก เพื่อร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีความผิดที่แผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกมีกำหนด 2 ปี และพันตำรวจโททักษิณฯ อยู่ในระหว่างหลบหนีโทษจำคุกตามคำพิพากษาโดยคณะบุคคลที่ดำเนินการกำหนดจะนำฎีกาฉบับดังกล่าวไปยื่นเรื่องราวที่สำนักราชเลขาธิการในเร็ววันนี้
ข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่าปลัดกระทรวงผู้มีนามท้ายหนังสือนี้ ตระหนักแก่ใจดีว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นประหนึ่งร่มเกล้าธงชัย บำบัดทุกข์และบำรุงสุขแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าเสมอมา ตามคติประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข พระมหากษัตริย์ย่อมทรงวางพระองค์เป็นกลางในทางการเมือง ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณแก่ราษฎรโดยทั่วไป ไม่เลือกหน้า ทรงใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด
ประเทศไทยและนานาประเทศ ที่มีการปกครองระบอบเดียวกันล้วนถือคตินิยมว่า ฝ่ายการเมืองก็ดี ส่วนราชการต่าง ๆ ก็ดี ตลอดถึงประชาชนโดยทั่วไปก็ดีต่างมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะต้องเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปลอดจากมลทินหรือ ความหมองมัวทางการเมือง ธรรมเนียมการปกครองเช่นนี้เป็นแบบแผนที่ยึดถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาโดยตลอด
เมื่อพิเคราะห์เหตุการณ์รวมถึงสาระในฎีกาฉบับดังกล่าวที่ปรากฏต่อสาธารณชนแล้ว เรามีความเห็นร่วมกันว่า เรื่องราวที่จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาครั้งนี้ เป็นประเด็นทางการเมืองโดยตรง ธรรมชาติของความเป็นการเมืองนั้น เป็นปกติที่จะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย ผู้ที่เห็นแตกต่างหรือคัดค้านและอาจจะมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งวางเฉยเสียก็ได้
หากมีการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาในประเด็นการเมืองเช่นนี้ และมีเนื้อความส่วนหนึ่งของฎีกาตลอดจนความคาดหวังของผู้ที่ลงลายมือชื่อร่วมกันทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกา เพื่อขอให้มีพระบรมราชวินิจฉัยอภัยโทษให้พันตำรวจโททักษิณฯ ไม่ว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยไปในทางใด ทางหนึ่งหรือแม้แต่ยังมิได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย หากแต่เวลาทอดยาวล่วงเลยนานเข้า ย่อมเห็นได้ชัดว่า จะเป็นผลโดยตรงทำให้เกิดความเคลือบแคลงในความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ และความระแวงสงสัยเช่นนั้น หากเกิดขึ้นแล้วย่อมไม่เป็นการเชิดชูพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงทศพิธราชธรรม เสมอมาเป็นแน่ ความระมัดระวังร่วมกันป้องกันมิให้เกิดผลในทางร้ายเช่นนั้น พึงเป็นจริยาของพสกนิกรและข้าราชการโดยทั่วกัน
สำหรับข้าราชการระดับปลัดกระทรวงและเทียบเท่าปลัดกระทรวงผู้มีนามท้ายหนังสือนี้ ประกอบด้วย
1.นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 2.นายวัลลภ พลอยทับทิม ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3. นางสาวศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4. นายจรัลธาดา กรรณสูต ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5. นายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6. นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 7. นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน 8. นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ 9.นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย 10. นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
11.นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน 12. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 13. นางสาวสุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 14. นายชินภัทร ภูมิรัตน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 15. นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา
16. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 17. นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา 18. นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 19. นายปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข 20. นายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
21. นายอดุลย์ กอวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 22. นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 23. นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
24. คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 25. นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ.
26. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. 27. นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ 28.พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 29. นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ว่า ขณะนี้ตนทราบว่า มีบิ๊กความมั่นคงและ ผู้มีบารมีนอกพรรคร่วมรัฐบาล เดินทางไปสมทบกันที่ต่างประเทศเพื่อหารือกันถึงการดำเนินการบางอย่าง จึงขอเตือนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำประเทศและหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ให้ติดตามและตรวจสอบกลุ่มคนเหล่านี้ให้ดี และดำเนินการแก้ไขโดยด่วน เพราะเรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อสถานการณ์วันที่ 17 สิงหาคมว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น และอาจจะส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงนายอภิสิทธิ์หลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญอยากเรียกร้องให้ ผู้ที่รักประชาธิปไตยติดตามเรื่องนี้ เพราะหลังจากที่บิ๊กความมั่นคง และผู้มีบารมีนอกพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือกันแล้ว จะทำให้เหตุการณ์วันที่ 17 สิงหาคมเป็นประชาธิปไตยถอยหลังหรือไม่
"วันนี้ นายกฯอย่างเพิ่มหลงดีใจว่า ล้วงโผตำรวจได้ เพราะมีกลุ่มแก๊งอำนาจใหม่เป็นบิ๊กความมั่นคงที่มีชื่อย่อ ป.ปลา 3 คน ซึ่งนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทราบดีว่าเป็นใครบ้าง และผู้มีบารมีนอกพรรคร่วมรัฐบาลชื่อย่อว่า น. อาจจะใช้นายอภิสิทธิ์เป็นเครื่องมือปฏิวัติเงียบ จึงฝากอภิสิทธิ์รวมทั้งทีมงานพรรคประชาธิปัตย์ติดตามเรื่องนี้ให้ดี เพราะจะส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ตกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" นายพร้อมพงศ์ กล่าว