ผู้เชี่ยวชาญเตือน หมอ-พยาบาลเสี่ยงรับสารพิษจากการใช้อุปกรณ์ป้องกันซ้ำ
ผู้เชี่ยวชาญเตือน บุคลากรทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกาอาจมีความเสี่ยงต่อการรับสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จากสารฆ่าเชื้อโรคที่ใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกัน (PPE) รวมทั้งหน้ากาก N95 ถุงมือและเสื้อคลุม เพื่อนำอุปกรณ์มาใช้ซ้ำ เนื่องจากภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันในสถานการณ์ COVID-19
การขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันร่างกายของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือกับโรค COVID-19 ส่งผลให้มีการคิดค้นวิธีการที่หลากหลายในการเก็บรักษาและทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บอุปกรณ์ในถุงกระดาษเป็นเวลาหลายวัน การใช้แสงอัลตราไวโอเล็ต และสารเคมีสำหรับฆ่าเชื้อ ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ C.D.C. ก็เสนอแนวทางในการใช้ชุด PPE ซ้ำ ในกรณีที่มีการขาดแคลนอุปกรณ์อย่างหนัก โดยการใช้ชุดคลุมผ้าโดยไม่ต้องซักรีดและทำความสะอาดเกราะกันหน้า หรือ face shield ด้วยสารฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลที่ได้รับการจดทะเบียนโดยรัฐบาลกลาง
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อส่วนใหญ่ที่ได้รับการยืนยันว่าใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้ กลับมีส่วนประกอบหลักที่อยู่ในกลุ่มสารประกอบที่เรียกว่า Quaternary Ammonium Compounds ซึ่งปล่อยสารฟอร์มัลดีไฮด์ ที่มีการศึกษาพบว่าก่อให้เกิดโรคหอบหืด ส่งผลต่อระบบการเจริญพันธุ์และการคลอดบุตร รวมทั้งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา และปอด
แอนา รูล ผู้อำนวยการห้องทดลองการประเมินการสัมผัส (Exposure Assessment Lab) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก กล่าวว่า สารทำความสะอาดเหล่านี้มักจะใช้ในการทำความสะอาดเฉพาะจุด เช่น ราวกันตกที่เตียงผู้ป่วย หรือพื้นที่ที่มีการสัมผัสบ่อยในห้องผู้ป่วยแยก แต่ในขณะนี้มีการใช้สารดังกล่าวทั่วไปในทุกพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะสัมผัสสารเคมีดังกล่าวมากกว่าเดิม
ซาราห์ คอลลินส์ พยาบาลในแผนกไอซียู ศูนย์การแพทย์ PeaceHealth Southwest ในแวนคูเวอร์ วอชิงตัน กล่าวว่าเธอและเพื่อนร่วมงานเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ หรือ Powered Air Purifying Respirator (PAPR) ทุกครั้งที่ออกจากห้องผู้ป่วยหนักจากโรค COVID-19 ด้วยกระดาษฆ่าเชื้อโรค และจะมีการตรวจสอบว่ามีการเช็ดทั้งด้านในและด้านนอกของหน้ากาก ซึ่งเธอและเพื่อนร่วมงานเห็นฉลากที่ระบุคำเตือนว่า “เป็นอันตรายหากสูดดมหรือมีการซึมเข้าสู่ผิวหนัง” และ “ไม่ควรใช้เช็ดตาหรือเช็ดเสื้อผ้า” และเริ่มกังวลว่าอาการปวดหัว เจ็บคอ และเหนื่อยล้า น่าจะมาจากการหายใจเอาสารเคมีเหล่านี้เข้าไป
ด้าน C.D.C. เองก็มีการกล่าวถึงวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ PAPR ที่คล้ายกัน โดยระบุว่าให้ใช้เฉพาะช่วงการระบาดใหญ่ และเตือนว่าความเข้ากันได้ทางเคมีของสารทำความสะอาดอุปกรณ์ PAPR ยังไม่มีการศึกษาอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตาม มีการแนะนำให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวหลีกเลี่ยงสารประกอบ Quaternary Ammonium Compounds
เลสเลียม ควิรอส-อัลคาลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักระบาดวิทยาสิ่งแวดล้อม จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บลูมเบิร์ก กล่าวว่า การใช้สารฆ่าเชื้อดังกล่าวบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในการทำความสะอาดหมวกครอบ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและในระยะยาว เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่ใกล้กับทางเดินหายใจ และการที่ต้องสวมใส่อุปกรณ์เพื่ออยู่กับผู้ป่วยเป็นระยะเวลานานจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวล
แม้ว่าวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ลักษณะนี้จะเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อ จนกว่าจะมีการค้นพบวัคซีนรักษาโรค แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องใช้มาตรการนี้ไปจนถึงเมื่อไร