ให้สติ แม้ว อย่าดัน ปชช.เป็นปฏิปักษ์สถาบัน

ให้สติ แม้ว อย่าดัน ปชช.เป็นปฏิปักษ์สถาบัน

ให้สติ แม้ว อย่าดัน ปชช.เป็นปฏิปักษ์สถาบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พระราชวิจิตรปฏิภาณหรือเจ้าคุณพิพิธ ให้สติ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพวก พิเคราะห์หาสาเหตุจุดอับของตัวเอง และอย่าผลักดันประชาชนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน อภิสิทธิ์มั่นใจฝ่ายความมั่นคงดูแลสถานการณ์17ส.ค.ได้

(16ส.ค.) พระราชวิจิตรปฏิภาณ (เจ้าคุณพิพิธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพมหานครแสดงพระธรรมเทศนา ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เช้านี้ ถึงการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านว่า ฝากบอก พ.ต.ท.ทักษิณขอให้พิเคราะห์ตัวเองว่า การลงสู่จุดอับนั้นเพราะมีเหตุ คือ อำนาจ อำนวย รวยมาก พวกลากไป ใจนักเลง บริวารเกรงใจ อ่านกฎหมายไม่ละเอียด

การมีอำนาจทำให้หลงเริงอำนาจ อาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดหรือลืมตัว การจะถวายฎีกานั้นมีช่องทาง ขั้นตอน กระบวนการ และราชประเพณีอยู่แล้วต้องศึกษา แต่เมื่ออ่านกฎหมายพลาดจึงเกิดปัญหา แม้

พ.ต.ท.ทักษิณบอกว่าไม่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของประชาชน แต่ถ้ารู้แล้วไม่ทันทานถือเป็นการมิบังควร เป็นการกดดันพระราชอำนาจ ผู้ที่เกี่ยวข้องและพ.ต.ท.ทักษิณต้องตระหนัก คือยอมรับกฎหมายไทยก่อน อย่างการถูกตัดสินจำคุก 2 ปี แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับโทษที่ศาลพิพากษาโดยพระปรมาภิไธย เมื่อต้องโทษแต่ไม่ยอมรับโทษจะขอพระราชทานได้อย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับศาลแต่ขณะเดียวกันยังไปอาศัยศาลด้วยการฟ้องร้องบุคคลอื่น

ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสุทัศนเทพวราราม ยังเรียกร้องให้ผู้ดำเนินการอย่าผลักดันประชาชนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการกระทำที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งให้อภัยไม่ได้และให้ระวังการอ้างความจงรักภักดีมาทำลายกัน ซึ่งอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

พระราชวิจิตรปฏิภาณ ยืนยันว่า การแสดงธรรมวันนี้ เป็นการแสดงความรักต่อประเทศชาติ โดยมิได้มีอคติ แต่ต้องการเตือนสติทุกฝ่าย ไม่ให้เกิดหายนะ ให้ทุกอย่างยุติและเริ่มต้นกระบวนการกันใหม่

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์" ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในวันพรุ่งนี้ (17) นั้น ขอยืนยันว่าตนนั้นเคารพการแสดงออกทางการเมือง แต่ขอให้ทุกคนที่จะใช้สิทธิ์ อยู่บนหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อนที่สำคัญ ไม่สร้างความรุนแรงต่อคนไทยด้วยกัน ที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และเศรษฐกิจ ทำให้การแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่เดินหน้า

ปชช.มองเรื่องถวายฎีกาเป็นเกมการเมืองดึงสถาบันเกี่ยวข้อง

สวนดุสิตโพลล์ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน "คิดอย่างไรกับการถวายฎีกา" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และติดตามข่าวสาร และร้อยละ 37.17 มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเกมการเมืองที่เอาชนะฝังตรงข้าม โดยดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง ขณะที่ประชาชน 28.93 เห็นว่าเป็นการกระทำที่มีลักษณะ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน มุ่งแต่ชนะ จนอาจทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ส่วนร้อยละ 20.43 เห็นว่าเป็นการใช้กฎหมู่ ดึงประชาชนมาเป็นเครื่องมือต่อรอง ส่วนร้อยยละ 13.47 เห็นว่า เรื่องดังกล่าวนั้น ควรจะดำเนินการให้ถูกกฎหมายจะดีกว่าการถวายฎีกา

นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนเป็นห่วงการถวายฎีกา อาจเกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายที่ยื่นกับฝ่ายที่คัดค้านสูงถึง 27.54 เปอรเซ็นต์ และห่วงว่าเรื่องดังกล่าวจะทำให้ระคายเคืองพระยุคลบาท ไม่ควรนำพระองค์มาเกี่ยวข้อง และยังรู้สึกสงสารประชาชนที่ถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ ประชาชน 36.07 เชื่อว่า เหตุการณ์ถวายฎีกา จะไม่เกิดการนองเลือดขึ้น เพราะมองว่าเป็นคนไทยด้วยกันคงยอมกันได้ และขอให้หลีกเลี่ยงการปะทะกันให้ได้

อภิสิทธิ์มั่นใจฝ่ายความมั่นคงดูแลสถานการณ์17ส.ค.ได้

เมื่อเวลา 09.50 น.นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สันติบาลประเมินว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ อาจจะมีประชาชนเข้ามารวมตัวกันถึงสองหมื่นคน ว่า ตนเพิ่งได้คุยกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และพล.ต.อ.วิโรจน์ พจน์โพธิ์ศรี รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คิดว่า น่าจะบริหารจัดการกันได้ และก็มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สมมุติว่าจะมีประชาชนเข้ามาสองหมื่นคนหรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ ความสำคัญก็อยู่ที่ว่า จัดให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อย ซึ่งในชั้นนี้ ก็คิดว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น

เมื่อถามว่า บรรยากาศการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงในขณะนี้ เริ่มพยายามยั่วยุให้เกิดการปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) อย่างเช่น ที่ จ.พะเยา กลุ่มเสื้อแดงบุกเข้าไปในสถานที่ประชุมของ พธม. นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในต่างจังหวัด ตนได้ย้ำไปหลายครั้งแล้วว่า การใช้สิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ต้องเปิดโอกาสให้กันและกัน และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการปะทะกัน โดยในวันที่ 17 ส.ค.นี้ก็เช่นเดียวกัน ในกรณีที่อาจมีกลุ่มอื่นเข้ามา ก็ได้กำชับไปแล้ว ว่าจะต้องมีวิธีการที่จะไม่ให้เกิดการเผชิญหน้ากัน

เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อันนี้คือเหตุผลที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้น ตนได้กำชับไปอีกรอบหนึ่ง และได้รับการยืนยันจากคนทำงานทุกฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร ว่ามีความพร้อมที่จะดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างยังคงมีค้างอยู่ เราก็ต้องใช้เวลาและใช้บทเรียนต่างๆ อย่างที่ตนบอกเสมอว่า เหตุการณ์ที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เวลาที่เกิดความไม่สงบขึ้น ดังนั้น ก็อย่าให้เกิดขึ้นอีก เพราะถ้าเกิดขึ้นอีก คนที่เดือดร้อนก็คือประชาชนทั้งประเทศ และกลุ่มที่ก่อเหตุ ก็จะถูกสังคมมองว่า เป็นตัวปัญหาในบ้านเมือง ดังนั้น ถ้าเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ ในความสงบก็ไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนกรณีที่นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า อีก 3 เดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนปี พ.ศ. 2475 นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าพูดจาอะไรในลักษณะซึ่งเป็นการยั่วยุ ความจริงก็อยากบอกว่า หลายคนก็มีเรื่องในอดีตซึ่งเป็นคดีที่ค้างอยู่ ตำรวจ ศาลก็ต้องพิจารณาตรงนี้อยู่แล้ว ดังนั้น อยากให้นักการเมืองระมัดระวัง บางครั้ง ตนก็เข้าใจว่า ต้องการจะทำให้เกิดความฮึกเหิมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็ไม่ได้เป็นผลดี ซึ่งตนได้บอกมาตลอดว่า ยังมีคนอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย และเราคงไปเปลี่ยนใจเขาไม่ได้ แต่หน้าที่เราคือ อย่าให้เขาเข้ามามีอิทธิพลเพียงพอจนทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้น และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เราก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลก็กำลังบริหารจัดการอยู่ โดยในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ก็จะต้องดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อย ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น เราก็ต้องใช้วิธีในการให้ข้อมูลและชี้แจงต่อไป เพราะตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆ ก็ค่อนข้างอยู่ในระดับที่เรียบร้อย ก็อยากให้เป็นอย่างนี้ต่อไป

เมื่อถามว่า หลังจากกลุ่มเสื้อแดงยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี ขั้นตอนของรัฐบาลในการดูแลเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า โดยหลักทางสำนักราชเลขาธิการ จะส่งเรื่องมาขอความเห็นจากรัฐบาล และรัฐบาลก็จะส่งความเห็นไปให้ ซึ่งจะมีประเด็นข้อกฎหมายว่า ฎีกานี้เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้วเป็นอย่างไร อย่างที่เราเห็นเบื้องต้นขณะนี้ ก็ได้บอกไปแล้วว่า กรณีนี้ ไม่ใช่กรณีการขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนจะเป็นการฎีกาความเดือดร้อนทั่วไป หรือเป็นเรื่องการเมือง รัฐบาลก็จะให้ความเห็นไป พร้อมๆกันนี้ ตนเข้าใจว่า ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ก็จะมีการเสนอรายชื่อไปด้วย และส่วนนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบรายชื่อในเบื้องต้นว่าถูกต้องหรือไม่

เมื่อถามว่า ความเห็นของรัฐบาลจะถึงขนาดที่ว่าสำนักราชเลขาธิการฯควรจะนำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าว ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สำนักราชเลขาฯจะต้องใช้ข้อมูลของรัฐบาลประกอบในการพิจารณา เมื่อถามต่อว่า ห่วงหรือไม่ว่าจะมีการใช้เหตุการณ์ช่วงนี้ก่อเหตุอะไร เพราะขณะนี้ก็เริ่มมีกระแสข่าวเรื่องการปฏิวัติเงียบออกมา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนใหญ่ก็มาจากคนที่เคลื่อนไหวในลักษณะที่ต้องการให้คนมองว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องปรกติที่เขาจะต้องให้ข่าวในทำนองนั้น แต่ตนก็ยืนยันว่า ยังมองไม่เห็นว่า ถ้าเกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นแล้ว บ้านเมืองจะเดินอย่างไร เพราะมีแต่จะเกิดความวุ่นวายและความเดือดร้อนมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงสถานการณ์หรือไม่ เพราะขนาดอดีตนายทหารเช่น พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) ก็ออกมาประเมินว่า การปฏิวัติอาจเกิดขึ้นได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราก็ไม่ประมาท แต่เราก็ยังมั่นใจว่า ระบบการทำงานและสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการเห็น คือความสงบเรียบร้อยและให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เราผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มาได้

เมื่อถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย บินด่วนไปประเทศสิงคโปร์เพื่อพบหารือกับ ผบ.เหล่าทัพ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ค่อยได้ไปตามละเอียด ว่าใครจะไปไหน เพราะเวลา รมว.กลาโหมจะไปปฏิบัติภารกิจอะไร ก็มาลาตนอยู่แล้ว และก็เพิ่งได้พูดคุยกับท่าน เมื่อถามย้ำว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการจับมือกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่มีปัญหาอะไร เราเป็นประเทศประชาธิปไตย เราต้องยอมรับได้อยู่แล้ว แต่ในชั้นนี้ ตนยังมองไม่เห็นว่า จะเป็นอย่างนั้น เพราะในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองก็มองว่า มันมีความจำเป็นที่จะต้องให้ประเทศมีเสถียรภาพ และงานต่างๆ ก็ต้องการที่จะผลักดัน ในขณะที่หากมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาอีก

เมื่อถามว่า รู้สึกเหนื่อยหรือไม่ ที่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ก็มักจะมีเรื่องการเมืองเข้ามาซ้ำเติม นายกฯ กล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิ์เหนื่อย แต่ก็เป็นห่วงว่า ถ้ามีอะไรมาซ้ำเติม คนที่เหนื่อยก็คือประชาชนทั้งประเทศ แต่ตนไม่มีสิทธิ์เหนื่อยอยู่แล้ว จึงได้เรียกร้องว่า อย่าสร้างเงื่อนไขอะไร เพราะขณะนี้ เวลาที่ตนเดินทางไปต่างประเทศ พบกับภาคธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่ เงื่อนไขเรื่องการเมือง ยังเป็นเงื่อนไขเดียวที่ยังเป็นความห่วงใยอยู่ ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น เริ่มคลายไปบ้างแล้ว ดังนั้น ก็อยู่ที่คนไทยด้วยกันเอง อยากเห็นเศรษฐกิจฟื้นเร็ว อยากเห็นประชาชนไม่ได้รับผลกระทบเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งหลาย ก็ต้องช่วยกันทำให้ทุกอย่างนิ่ง อะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือคิดว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมตรงไหน ตนก็รับฟังตลอด และพยายามเดินหน้าแก้ไขให้

เมื่อถามว่า ยังมั่นใจว่า ฝ่ายความมั่นคงจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็ต้องทำให้ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook