กะเหรี่ยงทวงสิทธิ์ ชุดไทยยูนิเวิร์ส

กะเหรี่ยงทวงสิทธิ์ ชุดไทยยูนิเวิร์ส

กะเหรี่ยงทวงสิทธิ์ ชุดไทยยูนิเวิร์ส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลียนแบบ ชุดปะด่อง แต่ไม่ดูแล ให้สัญชาติ คนคอยาว

ชุด ประจำชาติไทยของมิสยูนิเวิร์สได้รับรางวัลที่ 3เป็นเรื่อง ผู้แทนชนเผ่าทวงสิทธิ์ชี้เป็นชาวปะด่องหรือกะเหรี่ยงคอยาว ดัดแปลงนำเอาชุดชนเผ่ามาใช้ประโยชน์ทางด้านการค้า อ้างเป็นชุดประจำชาติไทย ทั้งๆ ไม่ได้ยอมรับความเป็นมนุษย์ แถมมองไม่เห็นหัวชาวชนเผ่าดังกล่าวที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้แต่สัญชาติไทยก็ไม่เคยให้ ทำให้ต้องอยู่ในสถานะผู้อพยพมาตลอด ด้านผู้ออกแบบก็เพิ่งรู้ว่าชนเผ่าดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองไทย แนะรัฐบาลให้สัญชาติไทยเพื่อความเสมอภาค

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 16 ส.ค. นายไวยิ่ง ทองบือ เจ้าหน้าที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒน ธรรมและสิ่งแวดล้อม และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ได้ออกมาเปิดเผยกรณี "น้องไข่มุก"น.ส.ชุติมา ดุรงค์เดช มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ที่เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2552 ใช้ชุดแต่งกายแบบกะเหรี่ยงคอยาว จนได้รับรางวัลจากการประกวดนางงามจักรวาล ที่ประเทศบาฮามาส ว่า ตอนแรกก็ขอแสดงความยินดีด้วยกับน้องไข่มุกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศชุดประจำ ชาติ อันดับที่ 3 แต่จากการดูภาพจากหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวสดแล้ว ช่วงบนจะออกไปในการแต่งตัวของลักษณะชนเผ่าของเผ่าหนึ่ง เป็นชนเผ่าปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาว ส่วนช่วงล่างออกมาในลักษณะของชุดประจำชาติไทยแบบไทยโบราณ โดยภาพรวมเขาก็บอกว่าเป็นชุดประจำชาติ ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

นายไวยิ่งกล่าวต่อว่า แต่ที่นี้ข่าวออกมาว่าเป็นชุดประจำชาติ ขณะที่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถือเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด โดยเฉพาะพี่น้องกะเหรี่ยงคอยาว ถือเป็นชนเผ่าที่อพยพหนีเข้ามาในประ เทศไทย และรัฐบาลไทยเองก็ยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนไทย และที่ผ่านมาก็บอกว่าเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง แต่ตอนนี้กลับเอาสัญลักษณ์เขามาใช้ แต่ไม่ยอมรับหรือให้เขาใช้สัญชาติไทยจนถึงบัดนี้

"ผมคิดว่าเรื่องความเหมาะสมอาจจะไม่ถูกต้องนัก คือข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่อาจจะถือเป็นโอกาสของพี่น้องปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาว ที่จะบอกว่าขนาดชุดประจำชาติที่ออกมาในลักษณะพี่น้องชนเผ่า ยังบอกว่าเป็นชุดประจำชาติไทย ทั้งที่เป็นชุดประจำชาติชนเผ่า หากมองในแง่ของโอกาสก็จะเป็นโอกาสให้พี่น้องของชาวปะด่อง เพราะว่ารัฐเองในงานระดับมิสยูนิเวิร์สก็ยังเอาชุดหรือสัญลักษณ์ของ กะเหรี่ยงคอยาวไปบอกว่าเป็นชุดประจำชาติ แม้แต่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเอง งานการประชาสัมพันธ์ยังบอกว่าเป็นประจำชาติ แต่สิทธิขั้นพื้นฐานนั้นพี่น้องชาวปะด่องหรือกะเหรี่ยงคอยาวไม่ได้เป็น สัญชาติหรือพลเมืองไทยแต่อย่างใด มักจะถูกเขาเอาสัญลักษณ์ของกะเหรี่ยงคอยาวไปประยุกต์ในรูปแบบต่างๆ ในเรื่องผลประโยชน์เป็นส่วนมาก" นายไวยิ่งระบุ

นายไวยิ่งยังกล่าว ด้วยว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือภาครัฐควรหาทางแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้อง หากต้องการใช้สัญลักษณ์ของชาวกะเหรี่ยงคอยาว เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว หรือเพื่อโปรโมตประชาสัมพันธ์อะไรก็ตามที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทย ก็ต้องยอมรับพวกเขาเหล่านี้ ทำเรื่องแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ชาวกะเหรี่ยงคอยาวถูกขบวนการด้านธุรกิจนำมาหาผลประโยชน์ตลอด ในขณะนี้พี่น้องชาวชนเผ่ากะเหรี่ยงคอยาว สิทธิขั้นพื้นฐานถือว่าอยู่ต่ำสุดมากๆ ถูกเอารัดเอาเปรียบทุกรูปแบบ เมื่อพบปัญหาแบบนี้ทางภาครัฐและเอกชนที่อาศัยผลประโยชน์จากการแต่งกายของ ชาวกะเหรี่ยงคอยาวควรจะหันมาให้การช่วยเหลือเขาเหล่านั้น เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องที่อยู่สาธารณูปโภคต่างๆ แม้แต่เรื่องที่หากลูกหลานเขาเกิดในประเทศไทย เขาควรได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองไทย ไม่ใช่มาหาโอกาสที่จะเป็นเงินเป็นทองแล้วมาหาผลประโยชน์กับเขาเหล่านี้

เจ้าหน้าที่เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวอีกว่า การนำชุดหรือสัญลักษณ์ของกะเหรี่ยงคอยาวไปใช้ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย และบอกว่าเป็นชุดประจำเผ่า พวกปะด่องหรือกะเหรี่ยงคอยาว เขาไม่มีโอกาสมาคัดค้านหรือต่อสู้ในเรื่องนี้ แต่ตนในฐานะที่ตนก็เป็นชาวกะเหรี่ยงหรือชนเผ่าและเป็นคนไทยด้วย ตนคิดว่าไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้อง ภาครัฐและเอกชนไทยน่าจะหาทางแก้ไขในเรื่องนี้ มีจุดยืนที่จะออกมาแก้ไขในเรื่องเหล่านี้ให้ออก มาในรูปแบบที่ดี ไม่ใช่มาเอาแต่ผลประโยชน์จากสัญลักษณ์ของเขา แต่กลับปล่อยให้เขายังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ถูกค้ามนุษย์เหมือนทุกวันนี้

สำหรับชุดประจำชาติที่ออกแบบให้น.ส.ชุติ มานำไปสวมใส่โชว์ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส จนได้รับรางวัลที่ 3 ครั้งนี้ สถานีโทรทัศน์สีกอง ทัพบกช่อง 7 ประกาศประกวดออกแบบชุดประจำชาติที่จะใช้ตัดเย็บเพื่อให้มิสไทยแลนด์ยูนิ เวิร์สใส่ประกวดบนเวทีนางงามจักรวาล 2009 มีผลงานส่งเข้ามาร่วมโครงการถึง 1,476 ชิ้น ผลงานที่ชนะการประกวด ได้แก่ ชุด "ญ.งามท้องถิ่นสุวรรณภูมิ" ของนายธัชกร ตั้งธนกรกิจ นักออกแบบอิสระ เจ้าของบริษัทรับออกแบบตก แต่งภายใน และกรรมการสมาคมภูมิสถาปนิก ประเทศไทย คว้าเงินรางวัลชนะเลิศจำนวน 20,000 บาท

นายธัชกรเปิดเผยถึงการออกแบบชุดดังกล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสวยงามของผู้หญิงไทยที่นอกจากจะมีความงามจากภาย นอกแล้ว ยังงดงามออกมาจากภายในจิตใจ มีประกายความสดใสผ่องอำไพดุจดังทอง ชุดท่อนบนคาดด้วยผ้าทอสีเนื้อ ท่อนล่างเป็นผ้านุ่งที่ใช้ผ้าทอสีน้ำตาลเข้มธรรมชาติ มีลวดลายแสดงถึงเอก ลักษณ์ไทย จับพับซ้อนให้เกิดระดับชั้น ซึ่งจะทำให้ผ้าผืนเรียบดูมีมิติราวกับมีชีวิตขึ้นมา นอกจากนี้ ด้านหน้าของผ้านุ่งยังคาดทับด้วยผ้าปักลายนูน ตกแต่งด้วยดิ้นเงินระยิบระยับ ส่วนเครื่องประดับได้แนวคิดมาจากเครื่องประดับของชาวไทยภูเขาที่เป็น สัญลักษณ์บ่งบอกถึงความงาม โดยนำทองเหลืองหลายชิ้นหลายขนาดซ้อนกันจนถึงระดับอก และให้พาดผ่านไหล่เสมือนสไบทองคำแท่งยาวจรดพื้น

ขณะที่นายปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์ประจำภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ชื่นชมในฝีมือการออกแบบ รวมถึงแนวคิดในการนำเสนอของทุกๆ ผลงาน หลายผลงานที่ออกแบบมานำเสนอได้น่าสนใจมาก สำหรับชุดที่ได้รับการคัดเลือกมีชื่อว่า ญ.งามท้องถิ่นสุวรรณภูมิ เป็นชุดที่เรียบหรู ดูสง่า ถ่ายทอดจิตวิญญาณของความเป็นชาติไทยได้อย่างลงตัว สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมไทยในเชิงลึก ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการนำเสนอความเป็นไทยออกสู่สายตาคนทั่วโลก

นายธัชกร ผู้ออกแบบชุดแต่งกายมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผู้แทนชนเผ่าออกมาทวงสิทธิ์ กรณีถูกนำชุดประจำชนเผ่า กะเหรี่ยงปะด่องมาใช้ และรับสมอ้างว่าเป็นชุดประจำชาติ แต่รัฐบาลละเลยความเป็นมนุษย์ ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิพื้นฐาน เช่นการยอมรับความเป็นคนสัญชาติไทยของชนเผ่าว่า ชุดที่ออกแบบมานั้นเป็นชุดประจำชาติของไทย เพียงแต่เอาแนวความคิดของหญิงชาวกะเหรี่ยงมาใช้ในภายใต้ของห่วงทอง โดยส่วนตัวไม่คิดว่าชาวกะเหรี่ยงไม่ใช่คนไทย เพราะในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีเพื่อนที่เป็น ชาวกะเหรี่ยง ยังรู้สึกว่าเป็นคนไทยคนหนึ่งที่รักประเทศไทยมาก ซึ่งการนำเสนอชุดกะเหรี่ยงออกมานั้นอยากให้มองว่าเป็นเรื่องของแรงผลักดัน ให้ชาวกะเหรี่ยงได้เป็นคนไทยเต็มตัวมากกว่า อยากให้รัฐบาลได้หันมาใส่ใจด้วยการให้สิทธิความเป็นคนไทยตามกฎหมาย รวมถึงสิทธิพื้นฐานอื่นๆ ให้เท่าเทียมกับคนไทย ซึ่งจะส่งผลดีในเรื่องการท่องเที่ยวด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook