OSISU โชว์รูม โชว์ไอเดีย
โดย : อัคคเดช ดลสุข
เปิดตัวโชว์รูม OSISU เฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดัง ของอาจารย์หนุ่มนักรีไซเคิล สิงห์ อินทรชูโต ไม่เน้นขาย แต่หวังสร้างแรงบันดาลใจคนรุ่นใหม่รักษ์โลก
เป็นความฝันของคนมีไอเดียอย่าง ผศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยายาลัยเกษตรศาสตร์ มานานแล้วว่าอยากมีสถานที่ขนาดพอเหมาะไว้สำหรับแสดงผลงานของตัวเองที่ได้คิด ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อไว้เป็นต้นแบบให้คนทั่วไปได้เกิดแรงบันดาลใจในการคิด หยิบ จับ สิ่งของที่พังแล้ว ไม่มีค่าประโยชน์อันใด หรือที่หลายคนเรียกกันว่า 'ขยะ' นำมาดัดแปลงประยุกต์ขึ้นใหม่ไว้ประดับตกแต่ง บ้านเรือนอาคาร จนถึงอาจนำมาใช้สอยประโยชน์อย่างจริงจังได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระเป๋า ฝาผนัง
วันนี้ แบรนด์ OSISU ซึ่งมี 'สิงห์ อินทรชูโต' เป็นดีไซเนอร์และหุ้นส่วนคนสำคัญ เปิดตัวโชว์รูมอย่างเป็นทางการ โดยการสนับสนุนพื้นที่จากโครงการ H-Cape ซอยเอกมัย ให้ใช้พื้นที่เพื่อแสดงสินค้าและผลงาน ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของไทยที่มีโชว์รูม 'กรีน เฟอร์นิเจอร์' ของตกแต่งบ้านจากวัสดุเหลือใช้ที่นำมา 'รีไซเคิล'
ไอเดียดี ไม่มีลิขสิทธิ์
ผู้ก่อตั้งแบรนด์ OSISU พูดถึงการเปิดโชว์รูมครั้งนี้ว่าเริ่มต้นจากการร่วมงานกันมานานปี ระหว่างเขากับ 'แฮปปี้แลนด์กรุ๊ป' ซึ่งทำโครงการหมู่บ้านจัดสรร และให้ความสำคัญเรื่องของการออกแบบบ้านให้มีพื้นที่สีเขียวอย่างกลมกลืน
"ครั้งนี้ถือว่าเป็นพาร์ทเนอร์กัน โดยแฮปปี้แลนด์กรุ๊ปชวนให้มาลองเปิดโชว์รูม ถือเป็นครั้งแรกที่ OSISU มีโชว์รูม เพราะที่ผ่านมา สินค้าจะวางตามห้างสรรพสินค้าและทางเวบไซต์ ทำให้สินค้าบางชิ้นที่มีขนาดใหญ่จะมีปัญหาเรื่องของการนำเสนอเพราะไม่มี พื้นที่ลง"
'สิงห์' บอกด้วยว่า การมีโชว์รูมเป็นของตัวเองจะทำให้เขาสามารถทำอีกหนึ่งความฝันให้เป็นจริง นั่นก็คือการเปิดแหล่งเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการแสดงให้เห็นตัวอย่างของการนำของไร้ค่าที่เคยสร้างภาระให้ชุมชน ให้กลับมามีประโยชน์ได้อีกครั้ง
"ทีนี้ใครสนใจอยากเจอผม อยากแลกเปลี่ยนไอเดีย อยากรู้ว่าผลิตภัณฑ์บางตัวสามารถทำได้อย่างไร ก็เข้ามาถามกันได้ ผมยินดีตอบ อยากเปิดอบรมวิธีการทำ ขั้นตอนกระบวนการผลิต เพราะผมอยากให้ทุกคนเข้าถึงผลิตภัณฑ์พวกนี้ได้"
ผู้ชำนาญการด้านดีไซน์ขยะรีไซเคิล ยืนยันว่าเขาไม่ได้นึกถึงเรื่องธุรกิจการค้า มากไปกว่าการหวังจะเผยแพร่แนวคิด ด้วยเหตุนี้ 3 ปีของแบรนด์ OSISU จึงพิสูจน์ตัว ด้วยการไม่เคยจดสิทธิบัตร เพราะไม่กลัวการลอกเลียนแบบ แต่กลับอยากให้ทุกผลิตภัณฑ์เป็นต้นแบบที่มีผู้นำไปพัฒนาต่อ
"สินค้าทุกชิ้นที่ทำมาไม่เคยจดลิขสิทธิ์ เพราะไม่คิดทำการค้ามาแต่แรก แม้แต่แบรนด์ OSISU ก็ไม่อยากให้คนสนใจชื่อแบรนด์มากกว่าจดจำความประทับใจกับวัสดุที่นำมาใช้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ให้เกิดการคิดตั้งคำถามต่อไปว่า ของแบบนี้ ทำเองได้ไหม ทำอย่างไร" และนี่คือสิ่งที่ 'ดร.สิงห์' ปรารถนา
ขยะล้น ไอเดียทะลัก
อาจารย์หนุ่มนักดีไซน์ ยังชี้ลายแทงขุมทรัพย์ที่รอการขุดค้นว่า 'กรีน โปรดัก' หรือสินค้าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อ เนื่อง และเพียงพอที่จะรองรับนักคิดนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาคิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ไอเดียดีเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค
ด้วยประสบการณ์ในช่วงหลายปี 'สิงห์' ยังตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันตลาด 'กรีน โปรดัก' เปิดกว้างมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ นิยมแต่ผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ โดยเฉพาะไม้ แต่ตอนนี้ ผู้บริโภคยอมรับวัสดุอย่าง เหล็ก พลาสติก และวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ขอเพียงมีดีไซน์ที่สวยแปลกตา สีสันสดใส ทำให้การออกแบบเป็นไปได้อย่างลื่นไหล ไม่ถูกจำกัดเหมือนเมื่อก่อน
'สิงห์' ยังมองในมุมสิ่งแวดล้อมของสังคมว่า หากคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจนถึงระดับอุตสาหกรรม ก็จะเป็นผลดีในการช่วยลดปริมาณขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกสังคมบริโภคกำลังเผชิญได้เป็นอย่างดี ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ที่ทำให้ OSISU เดินหน้าออกแบบและผลิตงานอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนการผลิต
"ตั้งใจตั้งแต่ครั้งแรกที่คิดทำผลิตภัณฑ์พวกนี้ขึ้นมา โดยมองว่านี่เป็นโอกาสสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่คนจำนวนมาก ยิ่งความรู้ถูกกระจายไปมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการกระจายทัศนคติเกี่ยวการนำของเหลือใช้มาผลิตซ้ำให้เกิดประโยชน์ ได้มากเท่านั้น"
ความรู้ที่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง 'สิงห์' หวังว่าจะก่อให้เกิดทักษะความชำนาญในเชิงช่างตามมาด้วย ทั้งนี้ การขาดแคลนช่างฝีมือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ 'สิงห์' ชี้ว่าทำให้งานดีไซน์มีราคาสูง โดยเขายืนยันว่าที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ของ OSISU คิดต้นทุนเฉพาะค่าวัสดุ ค่าแปรรูปวัสดุ และค่าแรง
"ถ้าวัสดุที่นำมาใช้ต้องบูรณาการใหม่ ด้วยการล้าง ตัด ตกแต่ง มากเท่าใดก็ต้องใช้แรงงานเพิ่มเท่านั้น นั่นคือค่าแรงของช่างจะสูงตาม วัสดุชิ้นไหนเมื่อมาถึงไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ล้าง ทำความสะอาด ประกอบอย่างง่าย ราคาจะไม่แพง ฉะนั้นต้องดูเป็นชิ้นๆไป ส่วนค่าออกแบบให้ตัดไปได้ ไม่ต้องเอามาคิด เพราะออกแบบเอง"
นี่ขนาดไม่บวกค่าดีไซน์ สินค้าก็ยังมีราคาสูง เพราะส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงของช่าง 'ฝีมือดี' ที่หายากในปัจจุบัน
"ตอนนี้เรามีช่างฝีมือจำนวนน้อย ทำให้มีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิต ถ้าช่างมีจำนวนมากขึ้น ผลิตภัณฑ์จะราคาถูกลง สินค้าจะหลากหลายกว่านี้ ผมมีแบบที่คิดไว้ในเยอะมาก คิดทุกวัน ช่างทำตามไม่ทัน"
เรียกว่านอกจากจะไม่กลัวก็อป ไม่กลัวโดนแย่งตลาด แต่กลับหวังให้เกิด แนวร่วมอุดมการณ์เดียวกันขึ้นอีกเยอะๆ เพราะ 'สิงห์' เชื่อว่าไอเดียสร้างสรรค์มีได้ไม่จำกัด ยิ่งมีคนลงสนามมากเท่าไร การแข่งขันจะนำไปสู่การสร้างผลงานดีๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชึวิตที่ดีของทุกคน