ผลักดันเพิ่มโทษคดีข่มขืน ฉีดยาให้อวัยวะเพศฝ่อ-จำคุกตลอดชีวิตไม่มีการลดโทษ

ผลักดันเพิ่มโทษคดีข่มขืน ฉีดยาให้อวัยวะเพศฝ่อ-จำคุกตลอดชีวิตไม่มีการลดโทษ

ผลักดันเพิ่มโทษคดีข่มขืน ฉีดยาให้อวัยวะเพศฝ่อ-จำคุกตลอดชีวิตไม่มีการลดโทษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รมว.ยุติธรรม รับเรื่อง การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการลงโทษผู้กระทำผิดทางเพศ จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มนักวิชาการอาชญาวิทยา

เมื่อวานนี้ (18 พ.ค.) ณ ห้องรับรองกระทรวงยุติธรรม ชั้น 9 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญสิริ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และพันตำรวจโท มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ รับหนังสือจาก นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร และนายฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา เรื่อง “การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการลงโทษผู้กระทำผิดทางเพศ”

จากกรณีปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนโดยครูและบุคลากรทางการศึกษา และเด็กนักเรียนหญิงผู้ถูกกระทำด้วยพฤติการณ์ที่ร้ายแรง รวมถึงข่าวของการถูกละเมิดในทุกรูปแบบ ซึ่งในคดีความผิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยผู้กระทำเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่า ทำให้เด็กผู้ถูกกระทำต้องตกอยู่ในสถานะแห่งความเสียเปรียบในทุกด้านตั้งแต่เริ่มการดำเนินคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้เสียหายย่อมต้องได้รับการคุ้มครองดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ และในกระบวนการยุติธรรมการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศควรมีมาตรการป้องกันแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

ส.ส.พัชรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเหตุการณ์น่าสะเทือนใจ การถูกข่มขืนและถูกล่วงละเมิดทางเพศมาอยู่ตลอด สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายให้กับผู้ถูกกระทำ ซึ่งไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ ตนได้มีการศึกษาถึงแนวทางในด้านต่างๆ เกี่ยวกับระบบของกระบวนการยุติธรรมต่อเหยื่อและผู้ที่กระทำผิดในคดีทางเพศมาโดยตลอด ตนในฐานะนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ร่วมกับ ส.ส.กานต์กนิษฐ์ ได้รวมกลุ่มนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยมีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ คือ

  1. ด้านการคุ้มครองผู้เสียหาย และคุ้มครองพยาน คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำเสนอภาพ ข่าว หรือข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริงถึงตัวผู้เสียหาย
  2. ด้านการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหาย ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้คนกลุ่มนี้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติต่อไป โดยผู้เสียหายต้องสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้โดยง่าย
  3. การสร้างระบบติดตามผู้ต้องขัง หรือนักโทษที่กระทำความผิดทางเพศ ที่ได้รับการปล่อยตัว โดยการนำระบบลงทะเบียนติดตามความประพฤตินักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวมาใช้ ซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ ที่เป็นทางเลือกเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยปลอดภัยมากขึ้น จากปัญหาการถูกข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นภัยที่สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างยิ่ง

ส.ส.กานต์กนิษฐ์ เปิดเผยว่า ท่านรัฐมนตรีได้รับฟังและแลกเปลี่ยนในประเด็นดังกล่าว สำหรับในคดีของครูที่ จ.มุกดาหาร นั้น ทางกระทรวงได้ใช้แนวทางของกฎหมาย ป.วิ อาญา มาตรา 237 ทวิ คือให้ศาลใช้วิธีการสืบพยานก่อนฟ้อง ซึ่งก็ถือว่าเป็นทิศทางเดียวกับที่ทางกลุ่มได้นำเสนอ รวมไปถึงท่านยังได้รับแนวทางในการลงทะเบียนติดตามนักโทษตามที่ทางกลุ่มได้เสนอแนะ ถือเป็นทิศทางที่ดีที่ทางกลุ่มนักวิชาการ และทางกระทรวงจะได้ร่วมกันผนึกกำลังในการแก้ไขปัญหานี้

ผศ.ดร.ฐนันดร์ศักดิ์ ระบุว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการกระทำผิดเกี่ยวกับเพศมากขึ้นและผู้เสียหายที่เป็นเด็กตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมทางเพศสูงขึ้น ตนจึงอยากขอให้กระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันเกี่ยวกับกลไกและมาตรการในเชิงการบริหารงานยุติธรรม ที่ดำเนินการเกี่ยวกับผู้กระทำผิดทางเพศ ทั้งทางด้านการสืบสวน การพัฒนาระบบข้อมูลผู้กระทำผิด (criminal profiling) การแก้ไขพฤตินิสัย การติดตามและเฝ้าระวังหลังปล่อยตัว รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ได้รับการบาดเจ็บทางจิตใจ ตลอดจนอยากให้การลงโทษผู้กระทำผิดในลักษณะนี้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น การฉีดยาทำให้อวัยวะเพศฝ่อ ไม่ตื่นตัว เพื่อลดความต้องการทางเพศ, การรับประทานยาและฮอร์โมนที่มีผลทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, การมีโทษจำคุกและห้ามประกอบอาชีพ, จำคุกตลอดชีวิตไม่มีการลดโทษ เป็นต้น ในขณะเดียวกันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาและการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook