“ตู้ปันสุข” ดราม่าที่เผยปัญหาสวัสดิการสังคมไทย
โรคระบาดใหญ่อย่างโรคโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนทั่วโลกแล้ว ปัญหาที่ตามมาเป็นลูกโซ่และน่ากลัวไม่แพ้เชื้อไวรัส ก็คือสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลงและส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในทุกระดับ ดังจะเห็นได้จากระลอกข่าวการฆ่าตัวตายรายวันของผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตามมาด้วยดราม่าต่างๆ ที่สะท้อนให้เห็นรอยร้าวในโครงสร้างทางสังคม และเหตุดราม่าครั้งล่าสุดในสถานการณ์โควิด-19 ก็คือ ดราม่า “ตู้ปันสุข” ซึ่งเป็นแนวทางที่มาจากการบริจาคในต่างประเทศ โดยนำตู้มาวางไว้ในที่สาธารณะ และเปิดให้ผู้คนนำสิ่งของหรืออาหารแห้งมาใส่ เพื่อให้ผู้ที่ยากไร้ได้หยิบไปใช้แบบฟรีๆ ซึ่งภาพการใช้ตู้ดังกล่าวในต่างประเทศที่ถูกนำเสนอในโลกออนไลน์ ก็แสดงให้เห็นถึงภาพการแบ่งปันอันน่าประทับใจ
ทว่าเมื่อโมเดลการบริจาคนี้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทย ภาพที่สวยงามนั้นกลับถูกแทนที่ด้วยความโกลาหล เมื่อมีคนบางกลุ่มเข้ามากวาดสิ่งของออกจากตู้ไปเป็นจำนวนมาก ทำให้คนเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ในขณะที่กระแสอีกด้านหนึ่งมองว่าผู้ที่ “ให้” ก็ควรให้ไปเลย ไม่ต้องเพ่งเล็งว่าผู้รับจะนำสิ่งของเหล่านั้นไปมากเท่าไร และใช้ทำอะไร อย่างไรก็ตาม ดราม่าครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นบางอย่างในสังคม ที่เราควรตั้งคำถามไปด้วยกัน
“ตู้ปันสุข” กับปัญหาสวัสดิการในสังคมไทย
ดราม่าคนกอบโกยสิ่งของบริจาคจากตู้ปันสุข ดูจะเป็นการ “เปิดแผล” โครงสร้างของระบบสวัสดิการของไทย ที่เรียกกันว่า “ระบบสวัสดิการแบบเก็บตก” ที่เน้นให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเองเป็นหลัก และรัฐจะช่วย “สงเคราะห์” บางส่วน โดยไม่ได้มองว่าสวัสดิการเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับอย่างถ้วนหน้ากัน ดังนั้น ภาระในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตจึงเป็นหน้าที่ของประชาชน ส่งผลให้คนต้องพยายามกอบโกยให้ได้มากที่สุดเพื่อความอยู่รอด อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการกอบโกยเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนจนเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในกลุ่มคนทุกระดับ โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ
“คนไทยพอเกิดวิกฤตก็เริ่มด้วยการกักตุน พอตัวเองรู้สึกปลอดภัยก็โยนอะไรข้ามกำแพงมาบ้าง แต่เราก็ยังรู้สึกว่าคนที่มารับของเป็นคนอื่น ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ในสังคมเดียวกับเรา ความเหลื่อมล้ำทำให้เกิดความไม่ไว้ใจกัน คนจนก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งชีวิตจะดีขึ้นมาได้ ถ้าทำตามกติกาทุกอย่าง ขณะเดียวกัน คนรวยก็มองว่า ถ้าวันหนึ่งเรากลับไปจน ก็ไม่มีใครสนใจเราอยู่ดี เราก็ต้องตักตวงเพื่อให้เราอยู่ในสภาวะที่มั่นคง เพราะฉะนั้น ผมก็เลยมองว่าการกอบโกยมันก็เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น
ด้าน ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของคนไร้บ้านทั้งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ มองว่า การแก่งแย่งกันในหมู่ประชาชนมักจะเกิดขึ้นในสังคมที่ทรัพยากรไม่ได้ถูกแจกจ่ายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และคนไม่เชื่อว่ากลไกการช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากพอ
“ผมอยู่กับการแจกอาหารมาพอสมควร แล้วก็เคยมีประสบการณ์ไปร่วมต่อคิวรับเองหลายครั้ง ผมคิดว่าการแจกอาหารรับอาหารจะวุ่นวาย ถ้าคนที่มารับอาหารไม่มั่นใจว่าอาหารที่มีอยู่จะสามารถแจกได้ครบทุกคน ถ้าเกิดเขาไม่มั่นใจว่าวันพรุ่งนี้จะมีอีกไหม มันก็เป็นไปได้ว่าเขาก็เอามาเก็บไว้ก่อน แต่ถ้าเขามั่นใจว่ามีทรัพยากรมาถึงเขาแน่ๆ เพียงแต่ได้ช้าได้เร็วต่างกัน ความวุ่นวายมันจะน้อยลงไปเยอะ” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าว
เช่นเดียวกับคุณกอล์ฟ แอดมินเพจ “นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง” ที่มองว่า หากรัฐมีกลไกที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเขาจะสามารถอยู่ดีกินดีในระดับพื้นฐานได้ คนเหล่านั้นก็จะสามารถคาดการณ์ได้ว่า ถ้าเขาหยิบของจากตู้ไปเท่านี้แล้วเขากินหมด พรุ่งนี้ถ้าเขากลับไปที่ตู้ มันจะยังมีของสำหรับเขาอยู่ เนื่องจากไม่มีการแก่งแย่งกันเกิดขึ้น ในทางกลับกัน หากคนไม่รู้ว่าวันต่อไปจะมีกินหรือไม่ ก็ย่อมตักตวงเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น การที่คนจนแสดงพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ อาจจะมาจากโครงสร้างสวัสดิการที่มีปัญหา ที่บีบให้พวกเขาต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
“ถ้าคุณไม่ทำตามระเบียบที่รัฐกำหนด คุณจะเป็นคนเลว ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะรัฐนี่แหละที่ทำให้เขาไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ แล้วกลายเป็นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมหรือการเป็นคนดีมันก็ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินในกระเป๋าและสถานะทางสังคมที่คุณมีอยู่ เพราะว่าเมื่อไรก็ตามที่คุณไม่มีความมั่นคงในชีวิตพอ คุณก็ไม่สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมได้ คุณไม่สามารถหยิบของทีละ 2 ชิ้นได้ เพราะคุณไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีกินหรือเปล่า” คุณกอล์ฟอธิบาย
นอกจากนี้ ผศ.ดร.บุญเลิศยังเสริมว่า การที่คนมีจิตสำนึกและหยิบของไปแต่พอดี จะเกิดขึ้นได้ในสังคมที่ทุกคนเคารพการมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในมิติอื่นๆ ถ้าในชีวิตประจำวัน คนจนไม่ได้มีสิทธิเท่ากับคนอื่นๆ หรือมีคนที่มีอภิสิทธิ์มากกว่า เมื่อเขารู้ว่าเขามีสิทธิ เขาก็จะพยายาม “เอา” สิทธินั้นๆ บ้างเท่าที่เขาจะเอาไปได้ ทว่าวิธีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของเขาอาจจะไม่งดงามอย่างที่ชนชั้นกลางคาดหวังนั่นเอง
ตู้ปันสุขตอบโจทย์สังคมไทยหรือไม่
การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมถือเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย และตู้ปันสุขก็เป็นช่องทางการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนที่เหมาะกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้อาจจะไม่เหมาะกับสังคมไทยเท่าไรนัก ซึ่งคุณกอล์ฟอธิบายว่า เนื่องจากโมเดลนี้มีต้นแบบมาจากประเทศในแถบยุโรป หรือในนิวซีแลนด์และ ออสเตรเลีย ที่มีระบบสวัสดิการที่พัฒนาแล้ว ทำให้ประชาชนไม่รู้สึกว่าขาดแคลน ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของตู้ปันสุขจึงเป็นคนไร้บ้านหรือผู้อพยพที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐ แต่สำหรับประเทศไทย คนที่เข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการของรัฐคือคนไทยส่วนใหญ่ และตู้ปันสุขอาจจะไม่สามารถรองรับความต้องการของคนจำนวนมากได้
ส่วน ผศ.ดร.บุญเลิศก็ให้ความเห็นว่า โมเดลการช่วยเหลืออย่างตู้ปันสุขไม่ได้เอื้อให้เกิดการสื่อสารกันระหว่างชนชั้น ทำให้ผู้ที่ให้และผู้ที่รับสิ่งของไม่ได้พูดคุยทำความรู้จักกัน และส่งผลให้เกิดสภาวะที่มีความกลัวชนชั้นล่าง กลายเป็นสังคมที่คนอยากจะช่วยกัน แต่ไม่ใช่ช่วยในระดับที่จะยกระดับคนอื่นให้ขึ้นมาด้วย ขณะที่ ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ก็มองว่า การแบ่งปันลักษณะนี้ช่วยได้ในแง่ของการเยียวยาจิตใจของผู้ที่บริจาค ให้รู้สึกว่าได้ทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว และไม่เพียงพอที่จะทำให้คนพ้นทุกข์ได้
“ถ้ามันเป็นการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำต่อไปอีก ผมก็คิดว่ามันไม่ใช่แนวทางที่น่าจะส่งเสริม ถ้าคนรู้สึกว่าทุกอย่างมันสามารถจบที่ตู้ปันสุข เราก็จะไม่ไปเรียกร้องต่อสู้ในเรื่องที่มันมากกว่านี้ เช่น เรียกร้องให้รัฐทำหน้าที่จัดสวัสดิการถ้วนหน้า” ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ระบุ
แบ่งปันอย่างไรให้ได้ผล
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการแก่งแย่งสิ่งของจากตู้ปันสุข ส่งผลให้รัฐบาลต้องเสนอแนวทางในการระงับความโกลาหล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกล้องจับตาดูผู้ที่หยิบสิ่งของจำนวนมาก การจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าตู้ รวมทั้งการติดป้ายกติกาการหยิบสิ่งของจากตู้ปันสุข ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนถูกจับตามองโดยรัฐ และถูกลดสถานะเป็นเพียงแค่คนต่ำต้อยที่รอรับความช่วยเหลือเท่านั้น และยังตัดโอกาสที่คนแต่ละคนชั้นจะได้สื่อสารและทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน
“ถ้ามันเป็นการจัดการของคนในชุมชนที่รู้จักกัน ผมว่ามันน่าจะมีพัฒนาการไปในทางที่ดีกว่า ยิ่งรัฐเข้ามาจัดการก็ยิ่งทำให้การเรียนรู้ซึ่งกันและกันของคนในสังคมไม่เกิดขึ้น มันก็ยิ่งกลับไปสู่ความไม่รู้จักกัน คนชั้นกลางไม่รู้จักคนจน คนจนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้คนมองเขาในแง่ที่ดีขึ้นมา” ผศ.ดร.บุญเลิศกล่าว พร้อมเสริมว่า ที่จริงแล้ว รัฐมีหน้าที่อย่างอื่นที่ต้องทำ นั่นคือการจัดสรรทรัพยากรให้ทั่วถึงโดยเร็ว และใช้กลไกของรัฐในการทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ ในขณะที่หน้าที่เฝ้าตู้ควรเป็นหน้าที่ของชุมชนมากกว่า
ด้าน ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ก็มองว่า การจ้างเจ้าหน้าที่มาเฝ้าตู้ปันสุขก็ไม่ต่างจากการจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะผู้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ซึ่งจะทำให้รัฐเสียโอกาสในการทำงานด้านอื่น อีกทั้งยังต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการจ้างคนมาเฝ้าตู้ที่มีสิ่งของอุปโภคบริโภคที่มีมูลค่าไม่มาก
สำหรับแนวทางการแบ่งปันอาหารและสิ่งของที่น่าจะเหมาะสมสำหรับสังคมไทยนั้น คุณกอล์ฟให้ความเห็นว่า เนื่องจากสวัสดิการของรัฐไทยยังไม่สามารถให้ความมั่นคงปลอดภัยกับประชาชน จนทำให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมีกินในวันต่อๆ ไป และสามารถจำกัดความต้องการของตนเองได้ ดังนั้น การแจกจ่ายสิ่งของควรใช้รูปแบบเดิม คือแจกเลย ไม่ต้องใช้ตู้ปันสุข ส่วน ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ก็มองว่า แนวทางที่เหมาะสมคือการบริจาคผ่านมูลนิธิที่น่าเชื่อถือ เพราะมูลนิธิจะมีระบบบริหารจัดการให้สิ่งของสามารถไปถึงมือของผู้รับได้ตรงกับความต้องการมากกว่า
ด้าน ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า การช่วยเหลือคนที่ยากลำบากเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
“ผมคิดว่าตู้ปันสุขที่ตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ ก็ตั้งตามที่ที่สะดวกสำหรับคนแจก มากกว่าจะไปถึงคนที่ลำบากจริงๆ และอย่างที่สองคือ จะบริหารของบริจาคกับความต้องการของผู้รับได้อย่างไร เนื่องจากบางที่ก็มีอาหารแจกเยอะ วันหนึ่งหลายรอบ บางที่ก็ไม่มีเลย ผมคิดว่าสิ่งที่จะทำให้มีประสิทธิภาพก็คือ คนที่จะแจกต้องรู้ว่าจะไปแจกที่ไหนที่มันจะทั่วถึง”
แม้ว่าในที่สุดกระแสดราม่าที่ก่นประณามพฤติกรรมของคนจนก็อาจจะจางหายไปเช่นเดียวกับดราม่าในประเด็นทางสังคมอื่นๆ แต่คุณกอล์ฟก็ระบุว่า แทนที่จะทะเลาะกันเอง คนส่วนใหญ่ควรมองแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ดังกล่าว รวมทั้งมองโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างสวัสดิการ หรือกลไกของรัฐ ที่ผลักให้คนทำเรื่องที่ไม่สมควร มิฉะนั้น รัฐที่ควรจะทำหน้าที่สร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ก็จะลอยตัวเหนือปัญหา จนไม่เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างแท้จริง