เสียงสะท้อน “เรียนออนไลน์” และความไม่พร้อมของการศึกษาไทยช่วงโควิด-19
“โรงเรียน” สถานที่อันดับแรก ๆ ที่ถูกประกาศปิด หลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้นักเรียนและคุณครูหลายพันล้านคนทั่วโลกต้องปรับตัวกับวิธีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ และแนวทางการเรียนการสอนที่พึ่งพิงระบบอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก “การเรียนการสอนออนไลน์” จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ระบบการศึกษาในหลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ในสถานการณ์โรคระบาด ประเทศไทยเองก็นำวิธีการเรียนการสอนออนไลน์มาใช้ เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้ แม้จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ช่วยให้นักเรียนสามารถศึกษาหาความรู้ต่อไปได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ทว่า การเรียนการสอนออนไลน์ก็ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความพร้อมของระบบการศึกษาไทย ที่ไม่เพียงจะเพิ่มภาระให้กับผู้ปกครอง แต่ยังตอกย้ำภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอีกด้วย
เมื่อโรคเปลี่ยนโลก โรงเรียนจึงต้องเปลี่ยนแปลง
ประเทศไทยนำรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์มาใช้ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (Distance Learning Television หรือ DLTV) เพื่อให้นักเรียนยังสามารถเรียนตามหลักสูตรที่วางไว้ได้จากที่บ้าน ซึ่งผู้ปกครองหลายคนมองว่า การเรียนการสอนรูปแบบนี้ นอกจากลูกหลานจะมีความปลอดภัยในภาวะโรคระบาดแล้ว ยังทำให้ผู้ปกครองได้ใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น
“พ่อแม่ได้ใกล้ชิดกับลูก ได้รู้ว่าลูกเรียนอะไร แล้วถ้าพ่อแม่ใส่ใจลูก ก็อาจจะใช้ช่วงเวลานี้ดูว่าลูกเราเก่งด้านไหน เราจะได้ส่งเสริมลูกได้ถูกทาง” คุณวัลภา ผู้ปกครองท่านหนึ่งกล่าว
ไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อนักเรียนและผู้ปกครองเท่านั้น ครูเจย์ ครูอัตราจ้างของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็แสดงความคิดเห็นว่า สำหรับคุณครูแล้วการสอนออนไลน์จะช่วยปรับเปลี่ยนวิธีการคิดและวิธีการสอนของครู รวมทั้งทำให้ครูหันมาสนใจกระบวนการสอนที่จะทำให้นักเรียนได้ความรู้มากที่สุดเมื่อต้องสอนบนโลกออนไลน์
“ความไม่พร้อม” คืออุปสรรค
แม้การเรียนการสอนออนไลน์จะปลอดภัยจากโรคโควิด-19 เพราะนักเรียนและครูไม่ต้องไปรวมตัวกันที่โรงเรียน แต่ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาที่แสดงให้เห็นถึง “ความไม่พร้อม” ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน หรือแม้กระทั่งระบบการศึกษาของไทย ที่จะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องของอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ เช่น คอมพิวเตอร์ แล็ปท็อป หรือแท็บเล็ต รวมถึงโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ ซึ่งไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ที่บ้าน และไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอในการจัดกาอุปกรณ์เหล่านี้ ขณะที่การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและระบบไวไฟในประเทศไทยก็ไม่ได้ครอบคลุมเหมือนในต่างประเทศ
“ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เมื่อเด็กเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ระบบการเรียนการสอนก็จะไม่เกิด เด็กก็จะสูญเสียโอกาสตรงนี้ไปเลย และตอนนี้เมื่อให้เรียนออนไลน์รวมกับเรียนผ่านโทรทัศน์ ก็ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีโทรทัศน์และสัญญาณโทรทัศน์ เพราะฉะนั้น การเรียนการสอนออนไลน์ยังไม่พร้อมกับเรา” ครูเจย์ชี้
ไม่เพียงแต่เรื่องความไม่พร้อมของอุปกรณ์เท่านั้น ตัวนักเรียนเองก็อาจจะยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังต้องการผู้ใหญ่ในการให้คำแนะนำหรืออ่านโจทย์ให้ฟังขณะเรียนออนไลน์ คุณอรอนงค์ ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนนานาชาติมองว่า การเรียนออนไลน์จำเป็นต้องแยกระดับของนักเรียนด้วย เช่น นักเรียนอนุบาลที่เรียนผ่านการเล่นและไม่สามารถทำผ่านการเรียนการสอนออนไลน์ได้ พ่อแม่ก็จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการเรียนการสอนในรูปแบบนี้ ซึ่งพ้องกับคุณรุ่ง ผู้ปกครองอีกท่านหนึ่ง ที่เล่าว่า เด็กเล็กที่ต้องเรียนออนไลน์ จำเป็นต้องพึ่งพาพ่อแม่ ส่งผลให้พ่อแม่ต้องจัดสรรเวลาเพื่อช่วยเหลือลูกขณะเรียน และถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาว่าง ไม่สามารถดูแลลูกได้ ก็จะทำให้การเรียนไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่คุณปอ ที่ต้องดูแลลูกเล็กวัยประถมและเลี้ยงลูกคนเล็ก วัย 1 ขวบ มองว่า การเรียนการสอนออนไลน์คล้ายจะผลักภาระเรื่องการเรียนให้กับผู้ปกครอง การที่ผู้ปกครองอยู่บ้านไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่มีงานทำ และการต้องควบคุมให้ลูกนั่งเรียนกับโทรทัศน์ ก็สร้างความกดดันและความเครียดให้กับทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง
ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อธิบายว่า ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนมาใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์แบบ “หักดิบ” หรือใช้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นภาคบังคับ ซึ่งไม่มีทางเลือกให้กับครูหรือนักเรียนเลย
“การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่การสอนที่ง่าย ครูหลายคนต้องเปลี่ยนการสอนของตัวเองใหม่ ในขณะที่ครูหลายคนหรือแม้แต่กระทรวงอาจเข้าใจว่าแค่เปิดวิดีโอให้เด็กดู แล้วครูก็บอกให้ไปทำการบ้านมาส่ง แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ มันคือทักษะการสอนที่แตกต่างไปจากเดิม การที่ครูใช้คอมพิวเตอร์ได้ ไม่ได้แปลว่าครูสอนออนไลน์เป็น มันต้องมีอะไรอื่น ๆ มาร่วมด้วยอีกเยอะ” ศาสตรจารย์ ดร. พิริยะ กล่าว
ในส่วนของ แอดมินมะนาว จากเฟซบุ๊กแฟนเพจ “อะไรอะไรก็ครู” ก็สะท้อนว่า การสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ยังมีน้อยเกินไป ขณะที่การติดตามผลการเรียนอย่างเข้มข้ม โดยเน้นภาพลักษณ์และหลักฐานที่มากเกินไปก็จะสร้างความกดดันของครู และส่งไปถึงผู้ปกครอง
“เราเริ่มเห็นภาพความไม่พร้อมของนักเรียน เห็นผู้ปกครองที่เริ่มเครียด เพราะที่บ้านไม่มีโทรทัศน์แต่ก็อยากให้ลูกได้เรียน ผู้ปกครองเริ่มสะท้อนว่าไม่มีเวลาอยู่หน้าจอกับลูก เพราะต้องไปทำงาน ทั้ง ๆ ที่ช่วงนี้เป็นเพียงการทดลองระบบ และวันที่ 1 ก.ค. จะเปิดเรียนแบบปกติ และเวลาเรียนก็ยังเท่าเดิม มันจึงไม่ควรเป็นเรื่องที่ซีเรียสขนาดนี้ หากเราสื่อสารกันอย่างเข้าใจ” แอดมินมะนาวระบุ
เรียนออนไลน์ชี้ภาพ “ความเหลื่อมล้ำ”
ความไม่พร้อมเรื่องอุปกรณ์และการเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ของนักเรียน สะท้อนให้เห็น “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ถูกทำให้ชัดเจนมากขึ้นในสังคม ครอบครัวของเด็กหลายคนไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายของการเรียนการสอนออนไลน์ได้ และมีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“ปัญหาที่เจอกลายเป็นความเหลื่อมล้ำของเด็กไป เมื่อสอบถามทางโรงเรียนว่าเด็กที่มีความพร้อมไม่มีอะไรให้ห่วง แต่ถ้าเด็กที่ไม่พร้อม เช่น บ้านไม่มีคอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตจะทำอย่างไร คำตอบที่ได้รับคือ จากการสำรวจมีเด็ก 3 คนที่เรียนดีแต่บ้านไม่มีอินเตอร์เน็ต เขากำลังหาทางแก้ไข ซึ่งอาจใช้งบโรงเรียนจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตให้ แล้วเด็กที่เรียนไม่เก่งล่ะ ไม่ต้องเรียนเหรอ” คุณนันทรัตน์ ผู้ปกครองอีกท่านหนึ่งเล่าปัญหาที่ประสบมา
นอกจากนี้ ปัญหา “เด็กล้นห้องเรียน” ในโรงเรียนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ จะทำให้เกิดปัญหาการทิ้งเด็กในช่วงการเรียนการสอนออนไลน์อย่างแน่นอน ด้วยขนาดของห้องเรียนที่ใหญ่และนักเรียนที่มีจำนวนมาก ทำให้ครูไม่สามารถดูแลเอาใจใส่นักเรียนได้อย่างทั่วถึงในห้องเรียนจริง และปัญหาดังกล่าวก็จะรุนแรงมากกว่าเดิมเมื่อเข้าสู่ห้องเรียนออนไลน์ เมื่อผนวกรวมกับปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ เด็กกลุ่มหนึ่งจะถูกทิ้งเอาไว้โดยที่ไม่มีใครเหลียวแล และถูกกดดันจนต้องออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด
ทุกโรงเรียนมีความแตกต่างกัน
แม้การเรียนการสอนออนไลน์จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ศาตราจารย์ ดร.พิริยะ ก็มองว่า การเรียนออนไลน์ไม่เพียงกระทบเด็กเพียงอย่างเดียว แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองของเด็กด้วย ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนที่จะมีศักยภาพคือการให้รายละเอียดเชิงลึกมากกว่านี้ กล่าวคือ กระทรวงศึกษาธิการต้องให้บริบทกับโรงเรียนในการตัดสินว่าเด็กนักเรียนของเขา มีความพร้อมในการเรียนการสอนออนไลน์มากน้อยแค่ไหนก่อน
เช่นเดียวกับความคิดเห็นของแอดมินมะนาวและครูเจย์ ที่ระบุว่า ธรรมชาติการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนแตกต่างกัน รวมถึงปัจจัยด้านอื่น ๆ เพราะฉะนั้น โรงเรียนต้องทำความเข้าใจความเป็นจริงของโรงเรียนและนักเรียนของตัวเองเสียก่อน ขณะที่คุณณัฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดพะเยา ก็เล่าถึงการปรับตัวของโรงเรียน ที่ไม่สามารถใช้การเรียนการสอนออนไลน์ได้ เนื่องจากนักเรียนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง
“ในพื้นที่ที่ไม่มีเลย ก็ต้องมาเรียนที่ห้องเรียน อย่างเราก็ต้องปรับกระบวนการ เช่น โรงเรียนของเรามีโมเดลที่เรียกว่า ‘4 ปรับ 1 ปลูก 1 ทำ’ ซึ่งปรับก็มีทั้งการปรับคน, ปรับห้องเรียน, ปรับการเรียน, และปรับพฤติกรรม ซึ่งต้องทำสอดคล้องไปกับการปลูกฝังเรื่องค่านิยม ขณะที่โรงเรียนก็ต้องทำตามนโยบายที่กระทรวงให้มา เพราะการเรียนการสอนแบบนี้ต้องรายงานผล” คุณณัฐอธิบาย
แม้การเรียนการสอนออนไลน์จะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย และอาจจะยังไม่มีฝ่ายใดที่มีความพร้อมอย่างแท้จริงสำหรับการเรียนในรูปแบบนี้ แต่การทำความเข้าใจบริบทของสังคมที่แตกต่างกัน และให้โอกาสเด็กทุกคนได้เรียนอย่างเท่าเทียมกัน ก็ควรจะเป็นสิ่งที่โรงเรียนหรือกระทรวงศึกษาธิการต้องนำมาพิจารณาเพื่อหาวิธีการเรียนการสอนที่จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด และวิธีการเรียนการสอนที่หลงลืมเด็กบางกลุ่มไปในช่วงเวลาวิกฤตที่ทุกคนต้องการความช่วยเหลือเช่นนี้ อาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่มีศักยภาพที่แท้จริง