ระบาดหวัด09ชะลอตัว อภ.เจอปัญหาเชื้อไว้รัสเป็นนำพัฒนาวัคซีนไม่ได้

ระบาดหวัด09ชะลอตัว อภ.เจอปัญหาเชื้อไว้รัสเป็นนำพัฒนาวัคซีนไม่ได้

ระบาดหวัด09ชะลอตัว อภ.เจอปัญหาเชื้อไว้รัสเป็นนำพัฒนาวัคซีนไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สธ.แจ้งสถานะการณ์การระบาดหวัด09ชะลอตัว ประเมินขาลงอีก 2-3 เดือน ก่อนกลับมาพิฆาตต่อรอบ 2 เบาหรือหนักกว่าเดิมยังระบุไม่ได้ ปธ.บอร์ดอภ.เผยเจอปัญหาเชื้อไวรัสเป็นนำไปพัฒนาเป็นวัคซีนไม่ได้เพราะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ เตรียมเลื่อนทดสอบ-ปรับขนาด

นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการ ที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อบ่ายวันที่ 17 สิงหาคม

จากนั้นเปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค สธ.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ว่า ขณะนี้การระบาดชะลอตัวลง ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ที่ในช่วงเดือนสิงหาคมจะเป็นขาลงของการระบาด ซึ่งจะชะลอตัวไปอีก 2-3 เดือน และจะระบาดระลอก 2 ส่วนจะเบาหรือหนักกว่าเดิมยังสรุปไม่ได้ ทั้งนี้ จากการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมที่เกิดจากเชื้อไวรัส เอช1 เอ็น1 มาสุ่มตรวจ 10 ราย พบว่ามีจำนวนลดลง และว่าสาเหตุที่มีการสุ่มตรวจผู้ป่วยน้อยราย เนื่องจากงบประมาณน้อย สธ.จึงควรสนับสนุนงบประมาณเพิ่มอีก

นอกจากนี้ ที่ประชุมอนุกรรมการ ยังเห็นด้วยกับการที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์สำหรับเด็ก ขณะเดียวกัน เตรียมที่จะจัดทำแนวทางการให้ยาต้านไวรัสซานามิเวียร์ว่าควรจะให้เมื่อใด อย่างไร เพราะแพทย์หลายคนยังสงสัยว่าจะใช้พร้อมกับยาโอเซลทามิเวียร์ได้หรือไม่ หรือไม่ควรใช้ร่วมกัน อีกทั้งยังเห็นว่าควรจะมีการวางระบบเฝ้าระวังเชื้อไวรัสดื้อยา โดยสุ่มตรวจหาเชื้อไวรัสดื้อยาเป็นระยะ หรือสุ่มตรวจในรายที่อาการหนัก

"วันนี้ตัวแทนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) ชี้แจงว่า ขณะนี้สหรัฐลดมาตรการการควบคุมลง และลดจำนวนวันหยุดงานและหยุดเรียนสำหรับผู้ป่วยจาก 7 วัน เป็น 3-5 วันเท่านั้น มาตรการนี้ควรนำมาปรับใช้ในไทย แต่ต้องมีการหารือเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศ" นพ.ประเสริฐกล่าว

ขณะที่ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (วอร์รูม) เพื่อรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มีมติแต่งตั้ง นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัด สธ. เป็นประธานวอร์รูม แทน นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. ทั้งนี้ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสาเหตุปรับเปลี่ยนว่า เพราะการทำงานยังไม่เป็นเอกภาพ โดย นพ.ปราชญ์จะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งภายใน 1-2 วันนี้


"ต่อไปวอร์รูมจะต้องทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาเพื่อออกยุทธศาสตร์และปรับแผนการดำเนินการทั้งหมด ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ อยู่ภายใต้วอร์รูม ทั้งด้านวิชาการ การรักษา และการควบคุมการระบาด รวมทั้งการศึกษาข้อมูลวิชาการต่างๆ ทั้งการดื้อยา เพื่อให้วอร์รูมมีข้อมูลที่รอบด้าน คล้ายๆ กับ ซีดีซีของสหรัฐ"

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากการทดลองฉีดเชื้อไวรัสชนิดเป็นเข้าสู่ไข่ไก่ปลอดเชื้อล็อตแรก ล่าสุดเชื้อไวรัสดังกล่าวไม่ได้ในปริมาณที่กำหนด โดยได้ประมาณไวรัส 6.7 ล็อก (LOG) ต่อซีซี น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ 8 ล็อก ทำให้ได้จำนวนโด๊สของวัคซีนน้อยกว่าที่คาด ไม่สามารถนำไปพัฒนาเป็นวัคซีนได้ โดยเชื้อไวรัสที่กำหนดไว้ในปริมาณ 8 ล็อกนั้น จะนำไปผลิตเป็นวัคซีน 2 ขนาด คือ 6.5 ล็อก และ 7.5 ล็อก เพื่อทดลองว่าขนาดใดจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุด และส่งผลข้างเคียงน้อยที่สุด หรือไม่ส่งผลข้างเคียงใดๆ แต่จากการทดลองที่ผ่านมากลับได้ต่ำกว่าขนาดตามที่ต้องการ จากการหารือขณะนี้จึงมี 2 ทางเลือก คือ 1.เลื่อนการทดสอบวัคซีนล็อตแรกในอาสาสมัคร 24 คน อีก 1-2 เดือน 2.ไม่เลื่อน แต่ต้องปรับขนาดของเชื้อไวรัสที่เหมาะสมต่อการทดลอง โดยอาจต้องปรับขนาดวัคซีนที่จะฉีดให้อาสาสมัคร 24 คนแรก จากเดิมจะพ่นให้กับ 12 คนแรก โดย 9 คน ได้วัคซีนจริงขนาด 6.5 ล็อก ปรับลดเป็น 6.3 ล็อก อีก 3 คน ได้วัคซีนหลอก ส่วนอีก 12 คนที่เหลือ เดิม 9 คน ได้วัคซีนขนาด 7.5 ล็อก ก็ปรับเป็น 6.4 ล็อก และอีก 3 คน ได้วัคซีนหลอก ขณะนี้ได้ส่งปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญของรัสเซีย คาดว่าจะได้รับคำตอบ 2-3 วันนี้ โดยไม่ต้องการให้เลื่อนการทดสอบ เพราะต้องการใช้วัคซีนเร็วที่สุด


ส่วนเรื่องที่ไม่ได้ตามปริมาณที่ต้องการ นพ.วิชัยกล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่ามาจาก 3-4 สาเหตุ คือ อาจมาจากตัวเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ตัวของเชื้อไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดวัคซีนได้ดีตามธรรมชาติ โดยกระตุ้นได้เพียง 1 ใน 4 ของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล หรืออาจมาจากหัวเชื้อที่ผลิตขึ้นมาไม่ดีที่สุด ซึ่งอาจมาจากกระบวนการผลิต เทคนิคต่างๆ ที่สำคัญอาจมีสาเหตุจากไข่ไก่ที่นำมาฟักเชื้อจากประเทศเยอรมนี คุณภาพอาจไม่ดีพอ เนื่องจากเดินทางไกล เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความดันอากาศบนเครื่องบิน เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม นพ.วิชัยกล่าวว่า จากการใช้ไข่ไก่เยอรมนีที่ปลอดเชื้อ อาจต้องหันไปใช้ไข่สะอาดของไทย ซึ่งมีหลายแห่งที่ผลิตได้ เช่น สหฟาร์ม ซีพี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่การจะใช้ไข่สะอาดในประเทศต้องรอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สหรัฐอเมริกาก่อน หากให้ใช้ไข่สะอาดในไทยได้ ก็จะเป็นผลดี เพราะจะสามารถผลิตวัคซีนได้ตามต้องการ 20 ล้านโด๊ส และราคาถูก เชื่อว่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม จะสามารถผลิตวัคซีนได้ประมาณ 10 ล้านโด๊ส ส่วนอีก 10 ล้านโด๊ส นั้น อภ.อยู่ระหว่างเจรจาหาสถานที่ผลิต แม้จะใช้เงินเพียง 100-200 ล้านบาท ในการลงทุนก็ถือว่าคุ้ม


นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (เลขาธิการ สปสช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมชี้แจงแนวทางบริหารและจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ให้แก่คลินิกชุมชนอบอุ่น และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าขณะนี้มีคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการ 217 แห่ง แบ่งเป็นคลินิกใน กทม. 149 แห่ง คลินิกโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วย 29 แห่ง และคลินิกชุมชนอบอุ่น ต่างจังหวัด 39 แห่ง ส่วนการป้องกันการดื้อยานั้น สปสช.จัดทำระบบการรายงานการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ โดยให้คลินิกทุกแห่งรายงานข้อมูลมายังส่วนกลางผ่านเว็บไซต์ www.healthstation.in.th และจะจัดทำรายงานสรุปผลการใช้ยาในทุกสัปดาห์ เบื้องต้นคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลได้ในสัปดาห์หน้านี้


"จะสต๊อคไว้ที่คลินิก และโรงพยาบาลเอกชนแห่งละ 100 เม็ด หรือ 10 ชุด ซึ่งคลินิกแห่งใดมีการจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ออกไป สปสช.ได้มอบให้ อภ. เป็นผู้ดูแลในการจัดส่งยาไปเพิ่มเติม"นพ.วินัยกล่าว


นพ.กฤษณะ ไพโรจน์บริบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักบริหาร อภ. กล่าวว่า อภ.มั่นใจว่าจะสามารถผลิตยาโอเซลทามิเวียร์ในจำนวนที่เพียงพอต่อการกระจายยาไปยังสถานพยาบาลได้ ซึ่งภายในเดือนสิงหาคมนี้ มีแผนจะผลิตเพิ่มอีก 10 ล้านเม็ด และว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีสต๊อคยาโอเซลทามิเวียร์แล้ว 900,000 เม็ด

นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ล่าสุดยังไม่สามารถกระจายยาต้านไวรัสสำหรับเด็กให้กับคลินิกตามที่วางแผนไว้ เพราะต้องการให้ตรวจสอบคุณภาพ และขนาดที่เหมาะสมเพื่อให้มั่นใจก่อนที่จะนำไปรักษาในเด็ก

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วย สธ. กล่าวกรณีมีข่าวว่านักท่องเที่ยวชาวเกาหลีเสียชีวิตจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นรายแรกของประเทศ จากการตรวจสอบประวัติพบว่าล่าสุดเดินทางท่องเที่ยวที่ประเทศไทยว่า เบื้องต้น สธ.ได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา สั่งเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วตรวจสอบสถานที่ที่นักท่องเที่ยวเกาหลีคนดังกล่าวไปพักอาศัยว่ามีที่ใดบ้าง หากพบว่ามีการแพร่เชื้อจะขอความร่วมมือเจ้าของสถานที่ทำความสะอาดต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook