เข้าสังคมช่วง “โควิด-19” อย่างไรให้ปลอดภัยและห่างไกลโรค

เข้าสังคมช่วง “โควิด-19” อย่างไรให้ปลอดภัยและห่างไกลโรค

เข้าสังคมช่วง “โควิด-19” อย่างไรให้ปลอดภัยและห่างไกลโรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรคโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิง การรักษาระยะห่างทางสังคมเป็นอีกหนึ่งวิธีที่หลายคนไม่สามารถทำได้ เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม ถูกกำหนดมาโดยสัญชาตญาณให้ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เมื่อข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือการรักษาระยะห่าง และมีแนวโน้มที่จะต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ แม้แต่คนที่ระวังตัวมากที่สุด ก็ยังพยายามหาช่องว่างที่พวกเขาจะได้พบเจอและมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่พวกเขารักอีกครั้ง แต่วิธีการใดที่จะทำให้การเข้าสังคม ไปพบปะสังสรรค์กับครอบครัวและเพื่อน ๆ มีความปลอดภัย ขณะที่ยังสามารถทำตามข้อแนะนำของการรักษาระยะห่างทางสังคมได้ Jason Farley อาจารย์ด้านระบาดวิทยาจากคณะพยาบาลศาสตร์และแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า “ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามนั้น”

มีความเสี่ยงอยู่เสมอ

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ แนะนำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันนอกบ้าน เช่น ไปรวมตัวกันที่บ้านเพื่อน สวนสาธารณะ ร้านอาหาร ร้านค้า และสถานที่อื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะติดโรคโควิด-19 รวมไปถึงคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรืออาศัยอยู่กับคนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มที่กล่าวไปข้างต้น คนทั่วไปก็โอกาสติดและแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนาได้เช่นกัน

Farley ชี้ว่า หลายคนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการใด ๆ เลย ซึ่งแปลว่าคุณหรือคนที่คุณรักก็สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้แม้จะรู้สึกสบายดีก็ตาม แม้แต่ผลการตรวจเชื้อที่บอกว่าเป็นลบหรือไม่ติดโรค ก็ไม่อาจเชื่อถือได้ เนื่องจากยังไม่มีการตรวจหาเชื้อที่เชื่อถือได้ 100 เปอร์เซ็นต์และคุณก็สามารถติดเชื้อได้ตลอดเวลา

“ไม่มีทางที่จะคาดการณ์ได้เลยว่า ถ้าคุณตรวจหาเชื้อวันนี้แล้วได้ผลลบ วันพรุ่งนี้ผลตรวจจะไม่กลายเป็นบวก” Farley กล่าว

การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และไม่ออกจากบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายโรคโควิด-19 แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะลดความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ ยังไม่มีรายงานกลุ่มอายุที่จะปลอดภัยจากโควิด-19 เนื่องจากคนทุกช่วงวัยต่างก็ติดเชื้อ และเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาจำนวนมาก ดังนั้น ก่อนที่จะมีวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เช่นเดียวกับการตรวจเชื้อที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงอัตราการเสียชีวิตและผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดน้อยลง Brandon Brown นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียก็แนะนำว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดในการเข้าสังคมสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ก็คือ การเจอกันบนโลกออนไลน์

พื้นที่สีเทาของการป้องกัน

รูปแบบการป้องกันโรคติดต่อที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด คือทุกคนต้องอยู่บ้าน และมีสังคมอยู่กับสมาชิกในบ้านเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงที่ความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่านั้น จึงทำให้รูปแบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม แม้การไปปาร์ตี้จะเป็นเรื่องต้องห้าม แต่การเดินออกไปนอกบ้านอาจสามารถทำได้ และถ้าอยู่คนเดียว การเจอเพื่อนสัก 1-2 คน หรือไปหาครอบครัวก็อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเสมือนพื้นที่สีเทาของการป้องกันโรค

เมื่อการกักตัวนาน ๆ มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเรื่องโรคซีมเศร้าและโรควิตกกังวลอยู่แล้ว ภาวะตกงาน การกักตัวเอง และความเครียดที่เชื่อมโยงกับโรคโควิด-19 อาจนำไปสู่ภาวะ “สิ้นหวัง” ที่ก่อให้เกิดการฆ่าตัวตายหรือปัญหาการใช้สารเสพติด นั่นจึงทำให้หลายภาคส่วนต้องช่วยกันคิดหาวิธีที่ทำให้คนสามารถเข้าสังคมได้อย่างปลอดภัยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แทนที่จะออกมาตรการให้อยู่บ้านเพื่อหยุดโรคเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นตรงกันว่าการเข้าสังคมบางรูปแบบก็มีความปลอดภัยเช่นกัน  

พื้นที่กลางแจ้งดีกว่าพื้นที่ในร่ม

ดร. Kelly Michelson ผู้อำนวยการศูนย์จริยศาสตร์ชีวภาพและความเป็นมนุษย์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ระบุว่า งานวิจัยส่วนใหญ่แนะนำว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 จะมีน้อยกว่าเมื่ออยู่ในพื้นที่กลางแจ้ง พร้อมกับสวมหน้ากากอนามัยและรักษาระยะห่างทางสังคม

ขณะที่กิจกรรมที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กลางแจ้งบางอย่างก็ดีกว่ากิจกรรมอื่น ๆ เช่น การทำอาหารกลางแจ้งที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน หรือการกินอาหารจากจานใบเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายโรคได้มากกว่าการเดินเล่นแบบรักษาระยะห่าง

ความเชื่อใจสำคัญที่สุด

Patricia Rieker นักสังคมวิทยาการแพทย์ มหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า เธอรู้สึกสะดวกใจที่จะเจอเพื่อน ๆ ของเธอ เพราะเธอรู้ดีว่าพวกเขาปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด ดังนั้น ความเชื่อใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในช่วงเวลาแบบนี้ เนื่องจากการพบปะกับใครสักคนก็เท่ากับการที่คุณเปิดโอกาสให้ตัวเองมีความเสี่ยงที่จะติดโรค

“การใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยเป็นปัญหาหลายชั้นว่าด้วยคุณจะทำอะไรเพื่อตัวเอง สิ่งที่คุณหวังว่าคนอื่น ๆ จะทำเหมือนกันกับคุณ และทุกคนในชุมชน” Rieker กล่าว

การจำกัดการติดต่อกับสังคมเป็นเรื่องยาก แต่การที่คุณจะยอมรับความเสี่ยงของการไปพบปะกับคนรู้จัก ก็ต้องคิดให้รอบคอบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุข และภาระที่ระบบสาธารณะสุขต้องแบกรับ ความคิดเช่นนั้นจะช่วยให้เราทุกคนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้มากที่สุด และการกระทำแบบนั้นจะทำให้การระบาดของไวรัสโคโรนาถึงจุดจบ

“ทุกคนจะต้องเจ็บปวดกับมันในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ปัญหาโรคระบาดนี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น” Brown สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook