มาร์ค ถกเครียดหน่วยมั่นคงจับตาเสื้อแดง!! ยธ.ส่ง ราชทัณฑ์ ตรวจฎีกา
ครม.พิจารณาเนื้อหาฎีกาขออภัยโทษ"ทักษิณ"เข้าข่ายใด ด้านยุติธรรมเตรียมส่ง"ราชทัณฑ์"ตรวจฎีกาด้วย "มาร์ค"ถกหน่วยความมั่นคง ห่วงเป็นเหตุทำสถานการณ์เปราะบาง ขอ"แม้ว"ร่วมมือยุติปลุกปั่นทำ ปชช.แตกแยก วิปรบ.ชี้โฟนอินไม่สำนึกผิด แถมใช้ปชช.กดดันเบื้องสูงอีก ตร.ฟังโฟนอินยังไม่ผิดกฎหมาย
"สำนักราชเลขาฯแถลงส่งให้รัฐบาลพิจารณา
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงนำรายชื่อประชาชนกว่า3ล้านคน ยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง
โดยสำนักราชเลขาธิการ หลังรับรายชื่อถวายฎีกาของแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงแล้วได้ออกแถลงการณ์ ว่า ตามที่นายวีระ มุสิกพงศ์ กับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกา ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2552 เวลา 13.00 น. ณ ประตูวิเศษไชยศรี พระบรมมหาราชวัง นั้น สำนักราชเลขาธิการได้ขอแจ้งให้ทราบว่า ตามที่ขั้นตอนที่เคยปฏิบัติมาเมื่อสำนักราชเลขาธิการได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ การขอพระราชทานความเป็นธรรม และการขอพระราชทานความช่วยเหลือ สำนักราชเลขาธิการต้องส่งฎีกาทุกเรื่องไปให้รัฐบาลพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระราชดำริต่อไป จึงขอแถลงข่าวมาให้ทราบด้วยทั่วกัน
วิปรบ.ชี้โพลหนุนรธน.40ตอกลิ่ม
ด้านนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) แถลงภายหลังการประชุมวิปตอบโต้ พ.ต.ท.ทักษิณที่โฟนอิน ว่าจ้างโพลสำนักเดียวกับที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้สำรวจความคิดเห็นของคนไทยพบคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 72 ต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ว่า การกล่าวอ้างความคิดเห็นประชาชนเรื่องดังกล่าว น่าจะเกิดจากความจงใจตอกลิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นกว่ากรณีล่ารายชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาให้พ.ต.ท.ทักษิณ และแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง คิดแต่จะทำให้เกิดความวุ่นวายเพื่อนำมาต่อรองทางการเมือง ทั้งนี้วิปรัฐบาลยืนยันจะมีการเดินหน้าตามผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์และปฏิรูปการเมืองเพื่อศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน เนื่องจากเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ไม่สำนึกผิด-ใช้ปชช.กดดันเบื้องสูง
นายชินวรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณประกาศว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังคนที่ล่ารายชื่อถวายฎีกามาโดยตลอด แต่วันที่มีการยื่นถวายฎีกากลับออกมาขอบคุณประชาชน และแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ทั้งที่ยังไม่เคยสำนึกผิดแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่ง เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ใครใช้ประชาชนทำประโยชน์ให้ตัวเอง เพราะถือเป็นการเอาประชาชนมาเป็นแรงกดดันต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงหวังว่ากระบวนการทุกอย่างจะยุติทันทีที่การยื่นรายชื่อประชาชนเสร็จเรียบร้อยแล้ว
"หลังจากนี้ สำนักราชเลขาธิการก็จะส่งเรื่องมาที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณาถวายความเห็นต่อไป ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายตระหนักดีอยู่แล้วว่าเรื่องนี้ไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการได้ ดังนั้น จึงไม่อยากให้มีการนำสถานการณ์นี้ไปขยายผล หรือทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทอีก" ประธานวิปรัฐบาลกล่าว
ยธ.เผยส่ง"ราชทัณฑ์"ตรวจฎีกา
ที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หากเรื่องฎีกาของ พ.ต.ท.ทักษิณถูกส่งมายังกระทรวงยุติธรรม จะส่งเรื่องให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้ประมวลคำพิพากษาของคดีและพฤติการณ์ของผู้ต้องโทษว่าเคยมีพฤติการณ์หลบหนีหรือไม่ และสำนึกผิดหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิถวายฎีกา ตามประมวลกฎหมายอาญา ในการขอพระราชทานอภัยโทษ หากตรวจสอบแล้วไม่พบว่าผู้มีสิทธิเกี่ยวข้องกับผู้ต้องโทษจะถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ จากนั้น กรมราชทัณฑ์จะทำหนังสือเสนอความเห็นมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์อย่างไร ขั้นตอนต่อไปรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอาจจะทำหนังสือทูลเกล้าฯถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ หรือยุติที่รัฐมนตรียุติธรรมเพราะหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย
ดักคอต้องมีข้อความ"สำนึกผิด"
นายธาริตกล่าวว่า ที่ผ่านมาฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษจะเข้าหลักเกณฑ์ ยังไม่มีรายใดไม่เข้าหลักเกณท์ เพราะบุคคลที่เสนอขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นญาติ พี่น้อง และตัวผู้ต้องโทษในเรือนจำ ซึ่งจะเขียนคำถวายฎีกาด้วยตนเอง ดังนั้น ถ้อยคำที่เขียนจะระบุข้อความว่าสำนึกผิดที่ได้รับโทษ แต่กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เขียนถ้อยคำเอง จึงไม่ทราบว่ามีข้อความสำนึกผิดจากใจจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องต้องตรวจสอบ อีกทั้งญาติ พี่น้องไม่ลงร่วมลงชื่อถวายฎีกา
"จะนำเรื่องเข้าสู่ระบบพิจารณาเกณฑ์ตามปกติ หากมีปัญหาตรวจสอบรายชื่อผู้ร่วมถวายฎีกากว่า 3 ล้านคน อาจตั้งบุคคลเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาพอสมควร แต่มีคนเสนอให้กระทรวงตรวจสอบอย่างง่าย แทนที่จะตรวจสอบรายชื่อทั้งหมด อาจจะพิจารณาสอบถามผู้มีสิทธิ เช่น ญาติ พี่น้อง ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะรวดเร็วกว่า แต่จะได้รับความร่วมมือมากน้อยแค่ไหนต้องรอดูอีกครั้ง" นายธาริตกล่าว
ครม.พิจารณาเนื้อหาฎีกาเข้าข่ายใด
แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สำนักราชเลขาธิการจะส่งเรื่องให้รัฐบาล ซึ่งหมายถึงคณะรัฐมนตรี ที่จะพิจารณาว่า เนื้อหาฎีกาเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรและหน่วยงานใดรับผิดชอบ เช่น ฎีการ้องทุกข์เรื่องที่อยู่อาศัยจะส่งไปยังกระทรวงมหาดไทย แต่หากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องส่งเรื่องให้กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก
"มาร์ค"ให้ทุกหน่วยจับตาเสื้อแดง
เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552 มีกรรมการ สมช.โดยตำแหน่งเข้าร่วมพร้อมเพรียง อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. นายอดุลย์ กอวัฒนา ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ต่อมาเวลา 15.20 น. พล.อ.ทรงกิตติ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ออกจากห้องประชุมโดยไม่ให้สัมภาษณ์ ขณะที่นายสุเทพออกจากห้องไปชี้แจงกระทู้ถามของ ส.ว.
เวลา 17.45 น. นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ฝ่ายความมั่นคงได้รายงานถึงกลุ่มคนเสื้อแดงยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งนายอภิสิทธิ์กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อย คำนึงถึงภาพลักษณ์ประเทศ เนื่องจากขณะนี้นานาประเทศเริ่มมองไทยดีขึ้น จึงต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นมาอีก รัฐบาลขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อย
ขอ"แม้ว′หยุดโฟนอินปลุกปชช.
นายปณิธานกล่าวว่า สิ่งที่กังวลคือกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินเข้ามาพูดคุยกับประชาชน เพราะอาจทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านจากบางฝ่ายได้ จึงอยากขอความร่วมมือ พ.ต.ท.ทักษิณให้ยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสถาบัน เพราะขณะนี้กระบวนถวายฎีกาได้เดินหน้าไปแล้ว ซึ่งภายหลังได้รับเรื่องจากสำนักราชเลขาธิการ รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมจะตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการถวายฎีกา และรายชื่อของประชาชนทั้งหมด ก่อนส่งเรื่องมาที่สำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อถวายความเห็นต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าในการประชุม ครม. วันที่ 18 สิงหาคม จะมีการหยิบยกกรณีการถวายฎีกาขึ้นหารือในที่ประชุมในวาระประธานแจ้งให้ทราบ เพราะถือเป็นหน้าที่ของ ครม.อยู่แล้ว แต่แนวโน้มคงไม่มีมติทางการออกมา
เมื่อถามว่า รัฐบาลนึกอย่างไรถึงต้องขอความร่วมมือจาก พ.ต.ท.ทักษิณ นายปณิธานกล่าวว่า เป็นเพราะประชาชนอยากเห็นความร่วมมือของ 2 ฝ่ายในการสร้างความสมานฉันท์ แม้จะมีความขัดแย้งทางการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะร่วมมือกันทำงานไม่ได้ ทั้งนี้ มีรายงานในที่ประชุม สมช.ว่า ขณะนี้หลายประเทศเริ่มไม่พอใจกับความเคลื่อนไหวที่อาจทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งเท่าที่ทราบบางประเทศได้ส่งสัญญาณไปถึงอดีตนายกฯแล้วด้วย
ชี้ทำสถานการณ์เปราะบาง
นายปณิธานกล่าวว่า ที่ประชุม สมช.ยังได้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ โดยเห็นว่าทุกฝ่ายต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากฝ่ายที่ยื่นถวายฎีกาอาจมีความคาดหวังว่าผลออกมาอย่างหนึ่งอย่างใด โดยอาจใจร้อน หรืออยากเห็นผลในเร็ววัน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์เปราะบางไปถึงสิ้นปี อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะไม่นำไปสู่ความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก เพราะผู้เกี่ยวข้องมีแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนแล้ว หากเกิดความรุนแรงก็จะใช้มาตรฐานเดียวกับที่เคยใช้ในเดือนเมษายน เช่น การนำกฎหมายพิเศษขึ้นมาใช้ โดยคำนึงถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย
เมื่อถามว่า พล.อ.อนุพงษ์พูดถึงสถานการณ์ทางการเมืองอย่างไร เพราะหลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่ทหาร นายปณิธานกล่าวว่า หลายคนพูดว่าขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนสามารถทำงานร่วมกันด้วยความเรียบร้อย มีการสนับสนุนกันเป็นอย่างดี
ปชป.ห่วงดึง2สถาบันหลักมายุ่ง
ด้าน นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป. กล่าวถึงการโฟนอินครั้งล่าสุดของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ไม่มีข้อความหรือคำพูดใดที่แสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณสำนึกต่อการกระทำของตัวเองว่าผิดแม้แต่น้อย แต่กลับยืนยันที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ โดยการอ้างถึงราชประเพณีการถวายฎีกา ถือว่าขัดกับหลักการขอพระราชทานอภัยโทษ และเนื้อหาสาระก็ไม่เหมาะสม เป็นการดึงสถาบันหลักของชาติเข้ามาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง
"พรรครู้สึกไม่สบายใจที่มีการเกณฑ์พระภิกษุสงฆ์ ให้เข้าร่วมเป็นการสร้างแรงกดดันระหว่าง 2 สถาบันหลักของชาติและที่ไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการที่แกนนำ พท. (นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ) พยายามผูกโยงเงื่อนเวลา 3 เดือน กับการเปลี่ยนแปลง โดยการเปรียบเทียบกับปี 2475 เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่งพร้อมกันนี้แกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทย จะต้องไม่นำเงื่อนเวลาและเหตุผลดังกล่าวมาผูกกับกระบวนการถวายฎีกาในลักษณะการยื่นคำขาดหรือขีดเส้นตายโดยเด็ดขาด" นพ.บุรณัชย์กล่าว
สวนกลับ"แม้ว"ตัวสร้างวุ่นวาย
นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้า ปชป. แถลงว่า การโฟนอินของพ.ต.ท.ทักษิณยังเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ แต่สร้างประเด็นใหม่ๆ เพื่อหลอกลวงคนเสื้อแดง ที่พูดว่าตัวเองเป็นหมากตัวหนึ่งที่เขาใช้เดินนั้น ไม่เข้าใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นหมากได้อย่างไร เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ในลักษณะที่เป็นตัวการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในสังคม มากกว่าเป็นหมากตัวเล็กๆ และที่พยายามกล่าวหาว่ามีคนหลงอำนาจหลงผลประโยชน์เพียงไม่กี่คนมาเสี้ยมให้ทะเลาะกัน และเผชิญหน้ากัน
"ผมไม่ทราบว่าคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวหาเป็นใคร แต่สังคมน่าจะรู้ดีว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณใช่หรือไม่ แล้วไม่คิดบ้างหรือว่าการยื่นถวายฎีกาดับทุกข์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ เป็นการก่อเกิดทุกข์ให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและคนไทยทั้งแผ่นดิน" นายเทพไทกล่าว
ตร.ฟังโฟนอินยังไม่ผิดกฎหมาย
เวลา 15.00 น. พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ปรึกษา (สบ 10) รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ออกวิทยุรามา ขอบคุณตำรวจทุกนายที่ปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการจราจร การถวายฎีกา ของ นปช.วันนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี
ด้าน พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผบช.น. กล่าวสรุปสถานการณ์ว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีไม่มีเหตุร้ายแรงใด ไม่พบสิ่งผิดปกติ ส่วนกรณีที่ระบุว่า มีคนเสื้อแดงถูกปาด้วยก้อนหินนั้นไม่ได้รับรายงานเหตุดังกล่าวเลย ส่วนการโฟนอินของอดีตนายกฯทักษิณ มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายเฝ้าฟังตลอด ในเบื้องต้นยังไม่พบอะไรผิดกฎหมาย
มท.1 เตรียมยุติล่าชื่อต้าน
ด้านนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงที่กระทรวงมหาดไทยว่า มีผู้มาลงชื่อคัดค้านถวายฎีกาแล้ว 10,140,527 ราย และผู้ที่ถอนฎีกา 9,443 ราย เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ จะหารือกับปลัดกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งว่าสมควรที่จะยกเลิกการลงชื่อคัดค้านหรือไม่ ทั้งนี้ เชื่อว่าการตั้งโต๊ะอาจจะต้องยุติลง แต่เจ้าหน้าที่ยังคงต้องทำหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ว่าการถวายฎีกาเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและการรณรงค์ปกป้องสถาบันจะต้องดำเนินการต่อไป
นายชวรัตน์กล่าวว่า จะให้แต่ละจังหวัดนำรายชื่อที่ได้มีลงเว็บไซต์ของจังหวัด เปิดเผยรายชื่อเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ว่ารายชื่อดังกล่าวมีอยู่จริง และจะเก็บรายชื่อไว้เป็นข้อมูล สำหรับทำการศึกษา ส่วนที่มีตัวเลขที่มากที่สุด ก็คือ จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา ระยอง ส่วนที่ จ.ระยอง มีการรายงานตัวเลขผู้ลงชื่อคัดค้าน 4.5 แสนคน ทั้งที่ประชากรในจังหวัด มี 5.9 แสนคนรวมทั้งเด็กแรกเกิด จะต้องตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง
"บิ๊กเหวียง"ชี้หมดยุคทหารปว.
พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. ในฐานะที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวว่าทหารอาจปฏิวัติเพราะบ้านเมืองไม่สงบว่า ไม่มี คิดกันไปเอง ใครจะมาทำ ทหารไม่ทำแล้วยุคนี้ เนื่องจากไม่มีเหตุผลที่เพียงพอจะมาทำ ต่างชาติยอมรับไม่ได้ เพราะหมดยุคแล้ว ส่วนเรื่องการปฏิวัติเงียบเช่นกันคงไม่มีใครมาทำ น่าจะเป็นแค่ข่าวที่พูดกันไปเอง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใน จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พังงา ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่ม นปช. โดยกล่าวหาว่าบุคคลทั้งสามปลุกระดมประชาชนเพื่อรวบรวมรายชื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ