ผลคำนวณไข่เยอรมนีได้เชื้อหวัดต่ำกว่าเป้า
เผยไข่ปลอดเชื้อจากเยอรมนีไม่เจ๋ง ผลการคำนวณ เชื้อไวรัสหวัด 2009 ต่ำกว่าเป้า
เผยไข่ปลอดเชื้อจากเยอรมนีไม่เจ๋ง ผลการคำนวณ เชื้อไวรัสหวัด 2009 ต่ำกว่าเป้า ได้แค่ 6.7 ล็อก "นพ.วิชัย" เล็ง 2 ทางออก ยืดการทดลองในคนระยะแรก ออกไป 1-2 เดือน หรือปรับขนาดวัคซีนลงจาก 6.5 และ 7.5 ล็อก เป็น 6.3 และ 6.4 ล็อก รอฟังความเห็นจาก "ฮู-ผู้เชี่ยวชาญเบลเยียม" ก่อนตัดสินใจ ด้านรัฐบาลซาอุ สั่งคุมเข้มหวั่นผู้แสวงบุญเดินทางมายังเมกกะนครศักดิ์สิทธิ์ติดเชื้อ หลังพบมีประชาชนทั้งประเทศตายแล้ว 14 ศพ
เกี่ยวกับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 นั้น เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงผลการคำนวณปริมาณ เชื้อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไข่ไก่จากประเทศเยอรมนี ว่า ผลการคำนวณเชื้อที่ฉีดเข้าไปในไข่ปลอดเชื้อที่สั่งนำเข้าจากประเทศเยอรมนี ปรากฏว่า ได้ปริมาณไวรัส 6.7 ล็อก น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ 8 ล็อก ทำให้ได้จำนวนโด๊สของวัคซีนน้อยกว่าที่คาด ดังนั้นจึงมีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ 1.ชะลอการทดลองวัคซีนในคนออกไปก่อน 1-2 เดือน แล้วไปเริ่มกระบวนการฉีดเชื้อไวรัสเข้าไข่ลอตใหม่ หรือ 2.ปรับขนาดวัคซีนที่จะฉีดให้อาสาสมัคร 24 คนแรกจากเดิมจะฉีดให้กับ 12 คนแรก โดย 9 คนได้รับวัคซีนจริง ขนาด 6.5 ล็อก ก็ปรับลดลงเป็น 6.3 ล็อก ส่วนอีก 3 คนได้รับวัคซีนหลอก และอีก 12 คนหลัง 9 คนได้รับวัคซีนจริงขนาด 7.5 ล็อก ก็ปรับเป็น 6.4 ล็อก ส่วน 3 คนได้รับวัคซีนหลอก
"ผลการคำนวณไวรัสที่ออกมาได้หารือไปยังองค์การอนามัยโลก และผู้เชี่ยวชาญชาวเบลเยียม ดร.อีริค ดอง แล้วว่า จะดำเนินการตามแนวทางที่ 1 หรือ 2 เพราะหากเลือกแนวทางที่ 1 การทดลองวัคซีนในคนก็ต้องล่าช้าออกไป แต่หากเลือกทางที่ 2 ก็สามารถเดินหน้าได้ทันที เพียงแต่ต้องปรับขนาดวัคซีนที่จะฉีดให้อาสาสมัครในระยะที่ 1 จำนวน 24 คนลดลง ซึ่งแนวโน้มน่าจะเลือกแนวทางที่ 2 คือ ปรับขนาดปริมาณไวรัสในวัคซีนลง ทั้งนี้อาจจะต้องหันมาใช้ไข่สะอาดที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีหลายแห่งที่ผลิตได้ เช่น สหฟาร์ม ซีพี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่การจะใช้ไข่สะอาดในประเทศต้องรอดูความเห็นของทาง อย.สหรัฐ" นพ.วิชัย กล่าว
เภสัชกรสมชาย ศรีชัยนาค รอง ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงโครงการทดลองฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัคร 24 คน โดย 12 คนแรกจะได้รับวัคซีนขนาด 6.5 ล็อก และ อีก 12 คนได้รับวัคซีน 7.5 ล็อก จะเปลี่ยนไปใช้ขนาด 6.3 และ 6.4 ล็อก ได้หรือไม่ ว่า การทำวิจัยจะต้องผ่านแจ้งให้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนก่อนทราบก่อน เพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัคร ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะเปลี่ยนได้ง่าย ๆ
ด้าน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวถึงกรณีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ได้ปริมาณไวรัส ในไข่ปลอดเชื้อน้อยกว่าที่คิด ว่า การนำเชื้อไวรัสมาเลี้ยงแล้วไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควรเป็นกันทั่วโลกไม่ เฉพาะประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายพันธุ์ที่นำมาเลี้ยงนั้นไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เชื้อไวรัสเติบโตได้ไม่ดี ส่วนกรณีที่จะมีการฉีดวัคซีนในปริมาณความเข้มข้นลดลงจากที่กำหนดคือ 6.5 และ 7.5 ล็อกนั้น ปริมาณดังกล่าวอาจจะไม่เป็นอันตราย แต่ต้องดูว่าจะกระตุ้นภูมิต้านทานได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงคือ เมื่อผลิตวัคซีนออกมาแล้วนำไปฉีดในคนที่ปกติ แล้วเกิดมีปัญหาขึ้นมาอาจทำให้ถูกฟ้องร้องได้ นอกจากจากนี้ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนอาจมีหลายอย่าง เช่น อาจแพ้สารในวัคซีน หรือเป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิต้านทานร่างกายทำงานผิดปกติ หรือที่เรียกว่า "กิลแลบ แนลเล่ ซินโดรม" ซึ่งผลข้างเคียงตรงนี้จะไม่เห็นในกรณีใช้กับคนน้อย ๆ แต่ถ้าใช้ในคนหมู่มากอาจพบได้
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาทาง วิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า สถาน การณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ขณะนี้ชะลอตัวลง ซึ่งในช่วงเดือน ส.ค.เป็นต้นไป โดยคาดว่าสถานการณ์การระบาดจะชะลอตัวไปประมาณ 2-3 เดือน คือ ประมาณ เดือน พ.ย.-ม.ค. จากนั้นการระบาดจะกลับมาใหม่ระลอก 2 ส่วนจะเบาหรือหนักกว่าเดิมยังบอกไม่ได้ ทั้งนี้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ เห็นด้วยกับการที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ สำหรับเด็กออกมาเพราะจะทำให้สะดวกในการใช้ ขณะเดียวกันเตรียมที่จะจัดทำแนวทางในการให้ยาต้านไวรัสซานามิเวียร์ ว่า ควรจะให้เมื่อใด อย่างไร เพราะแพทย์หลายคนยังสงสัยว่าจะใช้พร้อมกับยาโอเซลทามิเวียร์ หรือจะใช้คนละที นอกจากนี้ยังเห็นว่า ควรจะมีการวางระบบเฝ้าระวังเชื้อไวรัสดื้อยา โดยสุ่มตรวจหาเชื้อไวรัสดื้อยาเป็นระยะ หรือ สุ่มตรวจในรายที่อาการหนัก
ที่บริเวณหน้าเบตงพลาซ่า อ.เบตง จ.ยะลา นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข พร้อม นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา นายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตง นายคุณวุฒิ มงคลปนะจักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองเบตง รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ คณะครู นักเรียน ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ไข้หวัดใหญ่ในชุมชนต่าง ๆ พร้อมแจกแผ่นพับ ใบปลิวให้ความรู้เรื่องการป้องกันไข้หวัดใหญ่
นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาด ของโรคได้เข้ามาในเขตชนบท กระทรวงสาธารณสุขได้จัดยุทธศาสตร์รับมือ โดยให้ อสม. กว่า 980,000 คนทั่วประเทศเข้ามาเป็นกำลังเสริมในการคัดกรองผู้ป่วย โดย อสม. จะออกเยี่ยมบ้านในความรับผิดชอบ 10-15 หลังคาเรือน สัปดาห์ละ 3 วัน ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์
ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ ดร.นพ. สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นำคณะผู้บริหาร เข้าตรวจเยี่ยมและรณรงค์การควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการป้องกันโรค ทั้งสาธิตและฝึกปฏิบัติการทำแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ฝึกการทำหน้ากากอนามัย การประกวดออกแบบหน้ากากอนามัย เป็นต้น โดยมีคณะนักเรียนและอาจารย์มาร่วมงานกันคับคั่ง
ด้านสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบียว่ากระทรวงสาธารณสุขแถลงว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 3 ศพ รวมเป็นผู้เสียชีวิตทั้งหมดทั่วประเทศ 14 ศพ โดยผู้เสียชีวิตล่าสุดนั้น เป็นหญิงชาวซาอุฯวัย 28 ปี และเด็กหญิงชาวซาอุฯ วัย 11 ขวบ เสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และชาวอินเดียอีก 1 คนเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้าและอัตราการสูญเสียก็ ยังคงต่ำอยู่ แต่รัฐบาลสั่งการให้เข้มงวดทั้งการตรวจและแนวทางการรักษาเพราะใกล้ช่วงเดือน ถือศีลอดของชาวมุสลิม ซึ่งจะมีผู้แสวงบุญจำนวนมากเดินทางมายังเมกกะนครศักดิ์สิทธิ์ ขณะเดียวกันกษัตริย์อับดุลลาห์ของซาอุฯ ทรงมีรับสั่งให้รักษาฟรีทั้งชาวซาอุฯและต่างชาติที่ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่.