ขนส่งนิวยอร์กประกาศใช้ “แสงยูวี” ฆ่าเชื้อ COVID-19 ในรถบัสและรถไฟ

ขนส่งนิวยอร์กประกาศใช้ “แสงยูวี” ฆ่าเชื้อ COVID-19 ในรถบัสและรถไฟ

ขนส่งนิวยอร์กประกาศใช้ “แสงยูวี” ฆ่าเชื้อ COVID-19 ในรถบัสและรถไฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักงานควบคุมระบบขนส่งมวลชนมหานครนิวยอร์ก (The Metropolitan Transportation Authority - MTA) ประกาศใช้หลอดไฟแสงยูวีซี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 สเปกตรัมของแสงอัลตราไวโอเล็ต ในการกำจัดเชื้อ COVID-19 โดยเฟสแรกจะเริ่มใช้ในการทำความสะอาดตู้รถไฟใต้ดินและรถประจำทาง รวมทั้งอาคารสถานที่ที่ให้บริการขนส่ง ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า และหากประสบความสำเร็จ ก็จะขยายโครงการไปยังการรถไฟของลองไอส์แลนด์ และการทางรถไฟสายเหนือในเฟสที่สอง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มุ่งหน้าไปยังชานเมืองของนิวยอร์ก

สำหรับเฟสแรกนั้น จะเริ่มที่การติดตั้งเสาหลอดไฟแสงยูวีซีที่มีความเข้มข้นสูง เพื่อฆ่าเชื้อในโรงเก็บรถ สถานี และพื้นที่ลานรอบสถานี รวมทั้งห้องพนักงานและพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ โดยจะทำในช่วงที่รถไฟใต้ดินปิดทำการในเวลากลางคืน และในช่วงที่รถไฟงดให้บริการ

แพทริก ฟอย ประธานและซีอีโอของ MTA ระบุว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องครั้งแรกที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรด้านการขนส่ง และในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทาง MTA ได้พยายามทุกวิถีทางในการทำความสะอาดขบวนรถไฟและรถประจำทาง รวมทั้งให้คำมั่นว่าจะแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการฆ่าเชื้อไวรัสที่สามารถทำได้ และการเปิดตัวโครงการแสงยูวีซีก็เป็นก้าวใหม่ที่มีความหวัง ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการและพนักงานขององค์กร

แม้ว่าทาง MTA จะยืนยันว่าแสงยูวีซีนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อไวรัส รวมทั้งเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ต้นเหตุของโรค COVID-19 และได้ทดสอบโดยการฆ่าเชื้อไวรัสในห้องผ่าตัดในโรงพยาบาล คลินิกฉุกเฉิน มหาวิทยาลัย และสถานีดับเพลิง โดยสามารถฆ่าเชื้อได้ทั้งเชื้อโรคบนพื้นผิวและในอากาศได้ถึง 99.9% จากรายงานของ PURO Lighting ผู้ผลิตหลอดไฟแสงยูวีซีดังกล่าว แต่ ดร.เดวิน เบรนเนอร์ ผู้อำนวยการศูนย์การวิจัยด้านรังสีวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดังกล่าว ก็ระบุว่าขณะนี้กำลังมีการศึกษาและตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสารการวิจัย

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook