เปิดประวัติศาสตร์ความเกลียดกลัวชาวเอเชียในสหรัฐฯ ที่ปะทุอีกครั้งในช่วงโควิด-19

เปิดประวัติศาสตร์ความเกลียดกลัวชาวเอเชียในสหรัฐฯ ที่ปะทุอีกครั้งในช่วงโควิด-19

เปิดประวัติศาสตร์ความเกลียดกลัวชาวเอเชียในสหรัฐฯ ที่ปะทุอีกครั้งในช่วงโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในนิวยอร์ก ผู้หญิงคนหนึ่งถูกวัยรุ่น 3 คนรมทำร้ายบนรถโดยสารประจำทาง ขณะที่ในแคลิฟอร์เนีย เด็กนักเรียนคนหนึ่งถูกซ้อมจนต้องเข้าโรงพยาบาล และในเท็กซัส สมาชิก 3 คนของครอบครัวหนึ่ง ถูกชายคนหนึ่งจ้วงแทง เพียงเพราะว่า พวกเขาเป็น “คนจีนและผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา”

ขณะที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก หลังจากที่ถูกพบเป็นครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ส่งผลให้ชาวเอเชีย และชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียถูกโจมตีอย่างหนัก ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เอฟบีไอ ได้ออกประกาศเตือนเรื่องอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ขณะที่ข้อมูลของเอฟบีไอ ระบุว่า อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังและโรคโควิด-19 ในนิวยอร์กมีมากกว่า 15 คดี โดยเหยื่อทั้งหมดเป็นชาวเอเชีย ขณะที่ทั่วสหรัฐฯ มีเหตุโจมตีและทำร้ายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียแล้วกว่า 1,200 คดี นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ความเกลียดกลัวชาวเอเชียในสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับโรคโควิด-19 แต่กลับมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกัน

ภัยคุกคามชาติผิวเหลือง

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ชาวจีนหลายหมื่นคนอพยพเข้าไปในสหรัฐอเมริกาเพื่อตามหา “ภูเขาทองคำ” แห่งแคลิฟอร์เนีย แต่หลายคนกลายเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟ ทำงานเจาะภูเขาเซียร์รา เนวาดาภายใต้สภาพการทำงานที่โหดร้าย เมื่อทางรถไฟสร้างเสร็จในปี 1869 ชาวจีนหลายคนจึงเลือกตั้งถิ่นฐานในไชน่าทาวน์ ทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และทำอาชีพเกษตรกร ชาวประมง คนซักรีด หรือแม่บ้านเพื่อหาเลี้ยงชีพ

ขณะที่ผู้อพยพได้รับการยอมรับในฐานะแรงงานราคาถูก พวกเขาก็ถูกเกลียดชังอย่างหนักเมื่อพวกเขาพยายามก่อตั้งกลุ่มชุมชนของตัวเองขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในปี 1873 ชาวเอเชียถูกมองว่าเป็นคู่แข่งแรงงานที่ไม่ยุติธรรม เป็นความชั่วร้าย และเป็นโรคภัย ภาษาที่เหยียดหยันถูกนำไปใช้ในหนังสือพิมพ์ การ์ตูน หรือแม้แต่ในการหาเสียงของนักการเมือง ที่ใช้วาทกรรมต่อต้านชาวเอเชียมาเรียกคะแนนเสียงให้กับตัวเอง เช่นเดียวกับ Horace Greeley บุคคลที่มีบทบาททางการเมืองและผู้ก่อตั้ง New York Tribune ซึ่งเรียกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนว่าเป็นพวก “ไร้อารยธรรม สกปรก และโสโครกยิ่งกว่ามโนคติใด ๆ”

การใช้ภาษาในลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในปี 1871 ผู้อพยพชาวจีนอย่างน้อย 17 คน ถูกจับแขวนคอ ด้วยฝีมือของกลุ่มคนผิวขาวในไชน่าทาวน์ ลอสแอนเจลิส ต่อมาในปี 1885 เกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่ชาวจีนให้ออกจากเมืองทาโคมา วอชิงตัน พร้อมทำลายทรัพย์สินและบ้านเรือนของชาวจีนในพื้นที่ และในปีเดียวกัน คนผิวขาวในเมืองไวโอมิง ได้ก่อเหตุฆาตกรรมคนงานเหมืองชาวจีนถึง 28 คน

ตัวแพร่เชื้อโรค

ผู้โจมตีผิวขาวมักใช้ข้ออ้างต่าง ๆ ในการก่อความรุนแรงของพวกเขา รวมถึงเรื่องของเศรษฐกิจและความกลัวเรื่องเพศ แต่วาทกรรมที่ถูกใช้บ่อยมากที่สุดอันหนึ่งคือ เรื่องสุขภาพ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงประเทศจีน ที่มีประชากรหลายพันล้านคน และต้องอยู่รวมกันโดยขาดสุขอนามัย ขณะเดียวกัน การกินอาหารแปลก ๆ ก็ทำให้ชาวจีนกลายเป็นชนชาติที่ไร้อารยธรรมในสายตาคนผิวขาว เมื่อโรคไข้ทรพิษระบาดที่ซานฟรานซิสโก ในปี 1875 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็กล่าวโทษ “ชาวจีนที่ไร้ยางอาย ชอบโกหก และพวกขายชาติ ที่ไม่ยอมทำตามกฎหมายสุขาภิบาลของเรา”

ในปี 1900 กาฬโรคระบาดในเมืองโฮโนลูลู ส่งผลให้คณะกรรมการสุขภาพของเมืองสั่งกักตัวชาวจีนในที่พักอาศัยกว่า 41 แห่ง อีก 6 ปีต่อมา ในแซนตาแอนา แคลิฟอร์เนีย สภาเทศบาลเมืองสั่งเผาย่านไชน่าทาวน์ทั้งหมด เพราะมีชายชาวจีนคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน ผู้อาศัยในย่านนั้นต้องยืนดูเปลวไฟที่แผดเผาบ้านเรือนของพวกเขา ขณะที่ พนักงานดับเพลิงยืนรอ เพื่อป้องกันไฟลามเข้าสู่พื้นที่ใกล้เคียง

ใบหน้าของศัตรู

ในอดีตที่ผ่านมา การโจมตีมักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดความวิตกกังวลต่อเรื่องเศรษฐกิจและสาธารณสุข ในปี 1929 ซึ่งเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้ชุมนุมผิวขาวหลายร้อยคนในแคลิฟอร์เนียบุกเข้าไปในชุมชนชาวฟิลิปปินส์ เมืองวัตสันวิลล์ และยิงปืนเข้าไปในบ้านเรือน ส่งผลให้ Fermin Tobera วัย 22 ปีเสียชีวิต แต่ไม่มีใครถูกจับกุมจากการกระทำดังกล่าว

หลังจากเหตุการณ์ระเบิดเพิร์ล ฮาร์เบอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นถูกจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้น 2 เดือน ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นกว่า 120,000 คนถูกส่งเข้าค่ายกักกัน ต่อมา การเหยียดเชื้อชาติเอเชียก็เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงสงครามเวียดนาม รวมทั้งหมู่บ้านชาวประมงในเท็กซัส ที่ผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามถูกขับไล่จากกลุ่มคลูคลักซ์แคลน ด้วยการจุดไฟเผาบ้านเรือนและเรือหาปลาของชาวบ้าน

ในปี 1982 Vincent Chin ชายชาวอเมริกันเชื้อสายจีน วัย 28 ปี ถูกชายผิวขาว 2 คนที่ทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ในดีทรอยต์ รุมทำร้ายจนเสียชีวิต โดยทั้ง 2 คนเข้าใจผิดว่า Chin เป็นชาวญี่ปุ่นและกล่าวโทษเขาว่าเป็นผู้ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ถดถอย ผู้ก่อเหตุทั้ง 2 คนถูกศาลสั่งคุมประพฤติ 3 ปีและไม่ได้รับโทษจำคุก โดยผู้พิพากษา Charles Kaufman ระบุว่า “พวกเขาไม่ใช่คนที่จะส่งเข้าคุก” ขณะที่ในช่วงเหตุการณ์ 9/11 ชาวอเมริกันผู้นับถือศาสนาซิกข์ก็โดนทำร้ายร่างกายมากกว่า 300 คดี

สถานการณ์จะยิ่งเลวร้าย

การเสียชีวิตของ Chin เปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนของความรู้สึกนึกคิดของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย มันเป็นตัวขับเคลื่อนให้หลาย ๆ คนกลับมาคิดถึงมายาคติของการเป็นชนกลุ่มน้อยที่ว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ หากพวกเขาทำงานหนักและก้มหน้าเอาไว้ ขณะที่ชาวเอเชียไม่ว่าชาติไหนก็มีความเชื่อมโยงกัน การตัดสินใจของผู้พิพากษา Kaufman นำไปสู่การต่อสู้และเคลื่อนไหวที่ยังคงดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันอีกมากยังไม่ตระหนักถึงการฆาตกรรม Chin หรือมองว่าเป็นเพียงเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเมื่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เริ่มประสบความสำเร็จในฐานะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แต่ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 การเหยียดเชื้อชาติชาวเอเชียเริ่มกลับมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เรียกไวรัสโคโรนาว่า “ไวรัสจีน” ซึ่งนั่นเท่ากับการตอกย้ำวาทกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงกับชาวเอเชียในสหรัฐฯ มาหลายทศวรรษ

“คณะทำงานของทรัมป์ใช้ประเทศจีนเป็นเครื่องมือสร้างความหวาดกลัวในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ซึ่งมันจะส่งผลกระทบกับชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมกับกระบวนการแบ่งแยกเชื้อชาติในช่วงโรคระบาดแบบนี้ มันจะเลวร้ายแน่” Renee Tajima- Pena โปรดิวเซอร์สารคดีเรื่อง Asian Americans กล่าวสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook