ความท้าทายใหม่ของวัคซีนต้าน “โควิด-19”

ความท้าทายใหม่ของวัคซีนต้าน “โควิด-19”

ความท้าทายใหม่ของวัคซีนต้าน “โควิด-19”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขณะที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดอยู่ในหลายพื้นที่ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างก็เร่งคิดค้นวัคซีนออกมาเพื่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ บริษัทผู้ผลิตยารักษาโรคทั่วโลกเริ่มทดลองวัคซีนของพวกเขาในคน ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก็เริ่มทดลองวัคซีนในคนแล้วเช่นกัน และระบุว่า วัคซีนดังกล่าวจะสามารถใช้ได้เร็วที่สุดช่วงเดือนกันยายน เช่นเดียวกับการศึกษาในสัตว์ของศูนย์การแพทย์ Beth Israel Deaconess ที่กล่าวถึงผลการทดลองว่า วัคซีนต้นแบบของพวกเขาสามารถป้องกันลิงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้

นักวิจัยทั่วโลกต่างเชื่อมั่นว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะเกิดขึ้นในเร็ววัน และอาจมีวัคซีนหลายตัวที่พร้อมสำหรับใช้กับมนุษย์ในช่วงปีหน้า ขณะที่นักวิจัยก็ทำการค้นหาวิธีที่จะสร้างวัคซีนอย่างน้อย 4 วิธี ซึ่งสิ่งที่พวกเขากำลังทำคือ พยายามเร่งขั้นตอนการสร้างวัคซีน ที่ปกติมักใช้เวลาหลายปี หรือในบางกรณีก็มากกว่า 10 ปี

“สิ่งที่คนทั่วไปไม่ตระหนักถึง คือ การพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้น การเร่งคิดค้นวัคซีนให้อยู่ในช่วงเวลาเพียงแค่ 12 – 18 เดือน จึงเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และถ้ามันเกิดขึ้นได้ ก็จะเป็นการพัฒนาวัคซีนที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์” นายแพทย์ Dam Barouch นักไวรัสวิทยาของศูนย์การแพทย์ Beth Israel Deaconess ในบอสตัน กล่าว

การวิจัยเพื่อค้นหาวัคซีนสำหรับโรคโควิด-19 มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น บริษัท Moderna ใช้เทคโนโลยี mRNA ที่ส่งสารพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปในเซลล์มนุษย์ เป้าหมายคือให้เซลล์สร้างโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจดจำได้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และร่างกายก็จะสร้างเกราะป้องกันหากติดเชื้อไวรัส ขณะที่ นักวิจัยทีมอื่นก็พยายามพัฒนาวัคซีน โดยการใช้รูปแบบของดีเอ็นเอที่แตกต่างกัน และในหลายทีมวิจัยก็เลือกใช้กลวิธีการศึกษาแบบดั้งเดิม หรือการใช้ไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายเป็นตัวส่งสารพันธุกรรมไวรัสโคโรนาเข้าไปในเซลล์ เพื่อผลิตโปรตีนที่จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำและเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโคโรนา

อย่างไรก็ตาม วัคซีนเหล่านี้จะเข้าสู่ขั้นตอนของการทดลองใช้ ซึ่งจะมีอาสาสมัครได้รับการฉีดวัคซีน และพวกเขาบางคนอาจไม่สามารถป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิด-19 ได้ ยิ่งไปกว่านั้น อาจเกิดผลข้างเคียงที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ เชื้อไวรัสยังสามารถกลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลงรูปร่างที่จะทำให้แอนติบอดี้ตรวจไม่พบเมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย แต่เรื่องน่ายินดี ก็คือ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้กลายพันธุ์ช้าและวัคซีนที่กำลังทำการทดลองอยู่ในขณะนี้จะสามารถใช้ได้กับทุกพื้นที่ทั่วโลก

การทำให้วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ จำเป็นต้องใช้การวางแผนและการจัดการอย่างระมัดระวัง หากวัคซีนที่กำลังทดลองกันอยู่ในตอนนี้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตามมา คือการผลิตวัคซีนในปริมาณที่มากมายมหาศาล

ทุกคนบนโลกใบนี้มีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 แต่ละคนจำเป็นต้องใช้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือเท่ากับ 16,000 พันล้านโดส ที่ต้องผลิต แต่การผลิตวัคซีนมีความซับซ้อนมากกว่าการผลิตสินค้าอื่น ๆ เช่น รองเท้า หรือรถจักรยาน โดยต้องมีถังขนาดใหญ่เพื่อเลี้ยงส่วนประกอบของวัคซีน และต้องอยู่ในสภาวะที่ปลอดเชื้อ และการผลิตวัคซีนในปริมาณที่มากเช่นนี้ ก็ไม่เคยมีบริษัทผู้ผลิตใดเคยทำได้มาก่อน

ถึงแม้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook