ทำอย่างไรเมื่อ “ลูกติดพ่อแม่” ในช่วงล็อกดาวน์ COVID-19

ทำอย่างไรเมื่อ “ลูกติดพ่อแม่” ในช่วงล็อกดาวน์ COVID-19

ทำอย่างไรเมื่อ “ลูกติดพ่อแม่” ในช่วงล็อกดาวน์ COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาตรการล็อกดาวน์ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ บังคับให้คนหันมาใช้เวลาอยู่ในบ้านกับครอบครัวมากขึ้น นั่นหมายความว่า พ่อแม่ก็จะได้ใช้เวลาอยู่กับลูกๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกก็ดูเหมือนจะเรียกร้องเวลาและความสนใจของพ่อแม่มากขึ้นด้วย จนกลายเป็นว่าลูกมีอาการ “ติด” พ่อแม่มากกว่าเดิม ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และพ่อแม่จะรับมืออย่างไร มาหาคำตอบกัน

เด็กติดพ่อแม่เพราะต้องการความรู้สึกปลอดภัย

สตีเวน เมเยอร์ส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยรูสเวลต์ ในอิลลินอยส์ อธิบายว่า สาเหตุหลักที่เด็กติดพ่อแม่คือ พวกเขาพยายามให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยและสบายใจ

“การเกาะติดถือเป็นการตอบสนองทางสัญชาตญาณที่มีต่อภัยคุกคามและความวิตกกังวล ในแง่ของวิวัฒนาการ ลูกของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีแนวโน้มที่จะเอาตัวรอดได้ หากได้อยู่ใกล้กับพ่อแม่ และมีพ่อแม่คอยปกป้องคุ้มครอง เมื่อมีภัยมาถึงตัว และเด็กๆ ก็มีรหัสนี้อยู่ในชีววิทยาของพวกเขา ซึ่งอาจจะถูกกระตุ้นจากความเครียดและความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่”

ดังนั้น การเกาะติดพ่อแม่จึงเป็นสัญญาณที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับความพยายามของเด็กๆ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน วิธีการแก้ไขก็คือ พยายามเจาะลึกถึงต้นตอของความรู้สึกไม่สบายใจนั้น โดยการถามว่าเด็กรู้สึกกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไรกันแน่ เช่น กลัวติดเชื้อ กลัวตาย และทำความเข้าใจเรื่องอาการติดพ่อแม่ในเชิงบริบท

เด็กโตก็อาจกลับไปติดพ่อแม่ได้เช่นกัน

เมเยอร์สกล่าวว่า อาการติดพ่อแม่นั้นอาจจะเป็นขั้นตอนหนึ่งในพัฒนาการของเด็กทารก เด็กเล็ก และเด็กวัยก่อนเรียน และยังเป็นเรื่องตามวัยของเด็กโตด้วยเช่นกัน แต่ปัจจุบันนี้ พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กโตแล้ว ก็ยังตัวติดกับลูกอยู่เสมอ และผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่า ภาวะถดถอยเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เด็ก 9 ขวบ ที่เคยเล่นคนเดียวได้ อาจจะหันมาตามติดพ่อแม่ทั้งวันก็ได้ หรือลูกวัยรุ่นก็อาจจะอยากมานอนกอดพ่อแม่ตอนกลางคืนได้เช่นกัน

“เด็กโตมักมีภาวะถดถอยภายใต้สภาวะเครียดรุนแรง และแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสมกับอายุของพวกเขา การถดถอยเช่นนี้เป็นการตอบสนองจากภัยคุกคาม เพื่อเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย สร้างความสบายใจ และลดความกังวล” เมเยอร์สกล่าว

อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกว่าลูกเกาะติดพ่อแม่หรือถดถอยมากเกินไป ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์หรือนักวิชาชีพด้านสุขภาพจิต

รักษากิจวัตรประจำวันเป็นสิ่งจำเป็น

การรักษากิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ คือแนวทางในการรับมือกับปัญหานี้ แม้ว่าพ่อแม่จะเริ่มเหนื่อยกับการจัดตารางกิจกรรมของลูกตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการล็อกดาวน์ก็ตาม แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่า การสร้างกิจวัตรประจำวันนั้นมีความลึกซึ้งกว่าการบอกให้ลูกเรียนตามตาราง คือเป็นการให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะกิจวัตรประจำวันจะช่วยให้เด็กรู้สึกมีแผนการในชีวิต และมีความคาดหวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างระหว่างวัน อย่างไรก็ตาม ตารางกิจวัตรประจำวันต้องยืดหยุ่นได้ และเป็นตารางที่ผ่อนคลาย ที่ช่วยให้เด็กรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่อบอุ่นปลอดภัย

นอกจากนี้ กิจวัตรประจำวันยังช่วยให้เด็กๆ มีกิจกรรมทำ โดยไม่รบกวนเวลาของพ่อแม่ เช่น การเล่นบอร์ดเกม การต่อบล็อก หรืออ่านหนังสือ ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็ต้องให้ความสนใจกับลูก เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว้าเหว่ และตามติดพ่อแม่ และหากเด็กๆ มีกิจวัตรประจำวันที่คงที่ การกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านหลังจากที่มาตรการล็อกดาวน์ยกเลิก ก็จะไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด

เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านความสงบและความมั่นใจ

เด็กมีความสามารถในการรับรู้ที่น่าทึ่ง ดังนั้น หากคุณพยายามไม่ให้ลูกเสพข่าวมากเกินไป หรือพยายามรักษาระดับของกิจวัตรประจำวันในบ้าน เด็กๆ ก็จะรับเอาอารมณ์อีกแบบหนึ่งของคุณ ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัด และจะยิ่งเกาะติดคุณมากขึ้น เพื่อให้รู้สึกมั่นใจ ดังนั้น ควรเช็คตัวเองและคู่ของคุณเกี่ยวกับสารที่ส่งออกไปถึงลูก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า พ่อแม่ต้องใส่ใจเกี่ยวกับความกลัวหรือความกังวลที่ลูกรู้สึกได้จากพ่อแม่ หากพ่อแม่มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง เด็กจะรู้สึกได้ การทำเช่นนี้จะช่วยให้ลูกสามารถเตรียมใจเมื่อต้องกลับไปโรงเรียนหรือศูนย์รับดูแลเด็ก เนื่องจากมันจะสร้างพื้นฐานความมั่นใจเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย

จำไว้ว่า คุณคือสิ่งเดียวที่ลูกมี

เด็กหลายคนรู้สึกเศร้าเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากการที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่เจอเพื่อน ไม่ได้เล่นกีฬาหรือเรียนดนตรี ไม่มีกิจวัตรประจำวันและการพบปะผู้คนที่เขาคุ้นเคย ดังนั้นจึงต้องใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ ในการติดต่อพูดคุยกับเพื่อนๆ แต่ก็ไม่เหมือนกับการที่มีคนอยู่ด้วยอย่างใกล้ชิดและให้ความสนใจ ซึ่งพ่อแม่ก็เหมือนเป็นตัวเลือกเดียวที่ลูกมีในสถานการณ์เช่นนี้

“เด็กหลายคนหันมาติดพ่อแม่มากกว่าเดิม เนื่องจากพวกเขาไม่มีช่องทางในการติดต่อพูดคุยกับคนอื่นๆ และพ่อแม่ก็เป็นตัวเลือกไม่กี่ข้อ เมื่อพวกเขาต้องติดอยู่ในบ้าน” เมเยอร์สกล่าว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook