2 พี่น้องเรียนออนไลน์ผ่านมือถือ เกิดอาการมึนศีรษะ-ตาบวม-อาเจียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า (21 พ.ค.) นางพัชรา อายุ 48 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 บ้านดอนตาเหลือง ตำบลท่าหิน อ.สวี จ.ชุมพร เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลให้นักเรียนเรียนผ่านระบบออนไลน์ ตนได้ให้ ด.ญ.ชนิกานต์ หรือ น้องการ์ตูน เรียนชั้น ป.5 และ ด.ช.พงษกร หรือ น้องกีต้า เรียนชั้น ป.6 ซึ่งเป็นบุตรชายและบุตรสาว เปิดแอปพลิเคชั่น DLTV ดูการเรียนการสอนผ่านโทรศัพท์มือถือหน้าจอขนาด 5 นิ้ว เพียง 1 เครื่อง ในช่วงเช้าของวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการเรียนผ่านออนไลน์ โดยให้ทั้งสองคนนั่งดูด้วยกันเป็นเวลาทั้งหมดประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ระหว่างวิชาก็ให้สลับกับหยุดพักสายตาประมาณ 5 นาที
วันแรกลูกชายและลูกสาวบอกว่า รู้สึกมึนหัว ทางตนเองยังไม่สงสัยหรือเอะใจอะไร กระทั่งในวันที่ 2 ให้ลูกชายลูกสาวเริ่มลงชื่อเรียนตามปกติ ปรากฏว่าทั้งสองคนมีอาการบวมเล็กน้อยที่ตาทั้งสองข้าง ช่วงบ่ายจึงสั่งให้หยุดเรียนชั่วคราวก่อนเพื่อสังเกตอาการ
ต่อมาวันที่ 3 ได้ลงเวลาส่งรายชื่อและภาพถ่ายว่านักเรียนได้เรียนออนไลน์แล้วส่งให้ครูทางโรงเรียนทราบ และมีอาการหนักขึ้นในระหว่างเรียนคือน้องกีต้าลูกชายเรียนชั้น ป.6 ตาเริ่มบวมมากขึ้นกว่าเดิมจึงสั่งให้หยุดเรียนทางโทรศัพท์มือถือและทางช่องสถานีโทรทัศน์ทันที ซึ่งลูกชายบอกว่ายังมึนศีรษะด้วย
โดยอาการดังกล่าวเป็นทั้งสองคน แต่คนน้องคือ ด.ญ.ชนิกานต์ หรือ น้องการ์ตูน อาการจะไม่รุนแรง ส่วนน้องกีต้าก่อนหยุดเรียนจะอาเจียนด้วยหลังมีอาการต้องให้นอนพักผ่อนและกินยาพาราเซตามอลช่วยระงับอาการ แต่หลังจากหยุดดูหน้าจอโทรศัพท์มีอาการดีขึ้น โดยจะรอดูอาการอีกครั้งถ้าไม่ดีขึ้นจะพาไปพบแพทย์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถาม นพ.อนุ ทองแดง รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชุมพร ถึงกรณีดังกล่าว โดยแนะนำว่าการเรียนออนไลน์ ผ่านคอมพิวเตอร์ ไอแพด หรือ มือถือ นั้น ให้ทราบว่าคอมพิวเตอร์ ไอแพด หรือ มือถือ จะมีแม่สีคือ สีแดง เขียว น้ำเงิน แสงที่ทำอันตรายต่อตาคือน้ำเงิน การดูหน้าจอนานๆ ควรตั้งไว้ที่วอร์มไลฟ์ หรือที่เรียกว่าโหมดสีจืดแต่การตั้งสีดังกล่าวมีข้อเสียคือเด็กจะไม่ชอบ ข้อดีคือไม่ทำลายสายตาเด็ก และเครื่องคอมฯ ต้องมีแผ่นกรองสีฟ้าหรือเสื่อน้ำเงิน โดยหาซื้อได้ทั่วไปในราคาประมาณ 100 บาท
นายแพทย์อนุ แนะนำการใช้สายตาอีกว่า ดู 20 นาที พัก 20 วินาที มองไกลประมาณ 20 ฟุต ซึ่งเป็นสูตรเชิงทางการแพทย์ กรณีมีน้ำตาไหล บวม ควรพบแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือจักษุแพทย์ ทั้งนี้นายแพทย์อนุฝากถึงผู้ปกครองให้สังเกตุอาการบุตรและปฏิบัติตามสูตร 20 20 20 ตามที่แจ้งข้างต้น
ทั้งนี้ การเรียนออนไลน์ เริ่มวันแรกเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันแรก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โรคที่ส่งผลกระทบต่อทุกอาชีพ และการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงการเรียนการสอนในโรงเรียนต้องยุติไปชั่วคราวพร้อมกันทั่วประเทศ โดยแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ จึงมุ่งไปสู่การเรียนผ่านระบบออนไลน์
โดยเปิดช่องทางการเรียนการสอนทั้งหมด 6 ช่องทางได้แก่ 1.ทีวีดิจิทัล ช่อง 40-45 2.ทีวีดาวเทียม Ku-Band (จานทึบ) ช่อง 186-191 3.ทีวีดาวเทียม C-Band (จานโปร่ง) ช่อง 340-345 4.เว็บไซต์ www.dltv.ac.th 5.แอพพลิเคชั่น DLTV และ 6.ช่องยูทูบ