ฮิวแมนไรท์ฯแนะตั้งราชบัณฑิตสอบฎีกา

ฮิวแมนไรท์ฯแนะตั้งราชบัณฑิตสอบฎีกา

ฮิวแมนไรท์ฯแนะตั้งราชบัณฑิตสอบฎีกา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฮิวแมนไรท์วอช จับตาฎีกาช่วยทักษิณ แนะรัฐตรวจสอบ-ชี้แจงให้ตามกฎหมาย เสนอให้ราชบัณฑิตเป็นกรรมการในสังคม เผยทั่วโลกรู้ทันทักษิณแค่นักโทษหนีคดีไม่ใช่วีรบุรุษ แฉประเทศตะวันตกไม่ต้อนรับจึงต้องซุกอยู่แถบทะเลทราย 8 เดือน รัฐบาลให้คะแนนมาร์คคนเดียว เอือม "ยธ.-พม.-กห." สอบตก

(18ส.ค.) นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอชประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล กล่าวถึงมุมมองของฮิวแทนไรท์วอชในการจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเมื่อวานนี้ว่า เป็นโชคดีที่ไม่มีการขยายตัวไปเป็นความรุนแรง เพราะยังมีความกังวลอยู่จากนานาชาติเพราะจากเหตุการณ์เดือนเมษายน รวมทั้งเหตุการณ์ของปี 51 ทั้งปี และเมื่อไม่เกิดความรุนแรงขึ้นก็เป็นเรื่องดี

"และถ้ามองจากจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนก็ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของการตรวจสอบตามกระบวนการตามกฎระเบียบที่มีอยู่ ทางฝ่ายผู้ที่จะยื่นก็ให้เขายื่น และให้กระบวนการตรวจสอบทางซีกรัฐบาลตรวจสอบว่าเขายื่นถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องชี้แจงว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และฝ่ายผู้ยื่นก็คงต้องยอมรับกติกา ซึ่งรัฐบาลก็มีเวลาอยู่อย่างน้อยก็ 2 เดือนในการพิจารณาเรื่องนี้" นายสุณัย กล่าว

นายสุณัย กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอให้มีคนกลางของสังคมในการที่จะออกมาเป็นกรรมการให้สังคมในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องของขั้นตอนการถวายฎีกา ที่ไม่ใช่คนของเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งตนมองว่าราชบัณฑิตเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นกลางและมีคนที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก ดังนั้นตนจึงขอเสนอให้ราชบัณฑิตช่วยเป็นอนุกรรมการเล็กๆในสังคมเพื่อให้ความรู้กับสังคมด้วย

เมื่อถามว่าถ้ามองในมิติของกติกาสากลกลุ่มคนเสื้อแดงทำถูกต้องหรือไม่ นายสุณัย กล่าวว่า ถ้าไม่ได้มองในกรอบกฎหมายไทยแต่มองแบบสากลก็จะเป็นเรื่องของการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสันติ เพราะเขาสามารถคุมตัวเองได้ และนี่เป็นการปรับตัวของเสื้อแดงจากช่วงเดือนเดือนเมษายนที่มีการใช้ความรุนแรงซึ่งส่วนของการชุมนุมก็ผ่านไป แต่เรื่องของการยื่นฎีกาได้ผ่านพ้นมาอยู่ในมือของรัฐบาล และก็เป็นภาระของรัฐบาลว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามมีความกังวลในช่วงก่อนหน้านี้ที่พรรคภูมิใจไทยจะมีการจัดตั้งมวลชนมาเผชิญหน้า คัดค้านกัน นานาชาติกลัวว่าจะมีการนำม๊อบมาชนม๊อบแต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร

เมื่อถามถึงความชอบธรรมในการยื่นฎีกาของพ.ต.ท.ทักษิณในสายตานักสิทธิมนุษยชนนานาชาติมองอย่างไร ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า สถานะของพ.ต.ท.ทักษิณ ตอนนี้เป็นนักโทษหนีคดี และในสายตานานาชาติเขาไม่ได้เป็นวีรบุรุษ แต่เป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิมนุษชนอย่างร้ายแรง ซึ่งตอนนี้ประเทศตะวันตกแทบจะทุกประเทศมองพ.ต.ท.ทักษิณว่าเป็นคนที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จากรณีฆ่าตัดตอนยาเสพติด จากกรณีการละเมิดสิทธิ์ในภาคใต้ จากการคุกคามสื่อ ซึ่งคุณทักษิณมีบัญชีติดตัวอยู่ในเรื่องนั้น

"ฉะนั้นตั้งข้อสังเกตได้เลยว่าคุณทักษิณทำไมถึงเคลื่อนไหวในประเทศตะวันตกไม่ได้แล้ว ถึงต้องไปในประเทศที่เขาไม่แคร์เรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างดูไบเขาไม่แคร์เรื่องสิทธิมนุษยชน สื่อดูไบก็ไม่วิจารณ์คุณทักษิณ แต่ลองถ้าคุณทักษิณไปอยู่ประเทศอังกฤษเหมือนที่เคยอยู่สิ ดังนั้นอันนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งว่าทำไมต้องอยู่ในดูไบ หรือขุดทองที่ไลบีเรีย ที่มีอดีตประธานาธิบดีฆ่าคนเป็นอาหารเช้า ดังนั้นคุณทักษิณจึงเคลื่อนตัวอยู่ในประเทศเหล่านี้ที่มีการปกครองยังไม่โปร่งใส ไม่เป็นประชาธิปไตยและเป็นประเทศที่รัฐบาลไม่ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนตรวจสอบอย่างเต็มที่ คุณทักษิณจึงมีเกราะคุ้มกันในการเป็นฐานเคลื่อนทางการเมืองได้ แต่ถ้าคุณทักษิณไปอยู่ประเทศแถบตะวันตกแล้วเป็นคนที่มีหมายจับแบบนี้เขาก็คงจะต้องตรวจสอบว่าเข้ามาอยู่ประเทศเข้าได้อย่างไร" นายสุณัย กล่าว

เมื่อถามว่าแต่มีอีกมิติหนึ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณมักจะอ้างคือถูกยึดอำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ถูกละเมิดสิทธิ์ นายสุณัย กล่าวว่า เรื่องของการถูกยึดอำนาจก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นการสูญเสียอำนาจด้วยความไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนประเภทไหน ตอนนี้ประเทศตะวันตกเขารู้ทันแล้ว ว่าเป็นคนที่ได้อำนาจมาจากเลือกตั้งก็จริง แต่หลังจากนั้นก็ละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดจนถึงวันสุดท้ายที่ตกจากอำนาจ ก็ยังไม่รับผิดว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าตัดตอนประชาชนในประเทศ ทั้งที่นานาชาติมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้ประเทศไทยถูกเพ่งเล็ง ถูกเข้มงวดในการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมทหาร -ตำรวจ และเรื่องของการซื้อขายอาวุธ ซึ่งถูกจำกัดเพราะพ.ต.ท.ทักษิณ

เมื่อถามว่ามองเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลนี้ในรอบ 8 เดือนอย่างไร นายสุณัย กล่าวว่า รัฐบาลนี้เปิดตัวด้วยการพูดในแง่ของนโยบาย สัญญาประชาคมด้านสิทธิมนุษยชน แต่เนื่องจากสภาพที่แกว่งจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้งานด้านนี้ยังไม่เห็นการติดตามผลอย่างเป็นรูปธรรม

"คนที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนชัดเจนที่สุดกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียว ขณะที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหมที่ดูแลงานด้านสิทธิมนุษยชนทางภาคใต้หายไปเลย" นายสุณัย กล่าว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook