35ส.ว.ยื่นUNกดดันปล่อยตัวซูจี-บัวแก้วชมพม่าปล่อยฝรั่ง

35ส.ว.ยื่นUNกดดันปล่อยตัวซูจี-บัวแก้วชมพม่าปล่อยฝรั่ง

35ส.ว.ยื่นUNกดดันปล่อยตัวซูจี-บัวแก้วชมพม่าปล่อยฝรั่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ส.ว.35คนลงชื่อทำจม.เปิดผนึกถึงเลขายูเอ็น-ปธ.ยุโรป-เลขาอาเซียน เรียกร้องพม่าปล่อยตัว นางอองซาน ส่วนแถลงการณ์"บัวแก้ว"ชมพม่าปล่อยฝรั่งหาเหตุ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. เปิดเผยว่ามีสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 35 คนร่วมลงชื่อเพื่อทำจดหมายเปิดผนึกจากสมาชิกวุฒิสภาไทย ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ ประธานสหภาพยุโรป และเลขาธิการอาเซียน กรณีทางการทหารพม่าจำกัดอิสรภาพนางอองซาน ซูจี โดยมีเนื้อหาว่า

"คณะวุฒิสมาชิกแห่งราชอาณาจักรไทย รับทราบคำตัดสินของทางการทหารพม่า ให้กักขังบริเวณนางอองซาน ซูจี เป็นเวลา 18 เดือน ด้วยความไม่สบายใจอย่างยิ่ง การบุกรุกของนาย John Wiliam Yettaw ชาวอเมริกันที่ว่ายน้ำเข้ามาถึงบ้านพักของนางอองซาน ซูจี ที่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณในบ้านพักนั้น ความจริงแล้วเป็นความบกพร่องของหน่วยรักษาความปลอดภัยของพม่า โดยนางอองซาน ซูจี มิได้รู้เห็นเป็นใจใดๆ

คณะ ส.ว.จึงมีความเห็นว่าคำตัดสินกักบริเวณดังกล่าว มีความมุ่งหมายกีดกันนางอองซาน ซูจี ให้พ้นไปจากเวทีการเลือกตั้งของพม่าในปีหน้า ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นธรรมต่อชีวิตและครอบครัวของเธอแล้ว ยังเป็นการบั่นทอนบรรยากาศแห่งการปรองดองของชาวพม่า ทำให้วิถีแห่งการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยในพม่ามอดดับลงด้วย ส.ว.ไทยไม่ปรารถนาจะแทรกแซงกิจการภายในของพม่า แต่ด้วยสำนึกแห่งมนุษยธรรมของผู้รักประชาธิปไตย เราขอร่วมกับองค์กรและประชาคมโลก เรียกร้องต่อทางการพม่าให้เร่งถางทางสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและความปรองดองสมานฉันท์ในชาติพม่า ด้วยการปลดปล่อยนางอองซาน ซูจี และนักโทษการเมืองชาวพม่าโดยด่วน และอนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อความดีงาม และเพื่อสันติสุขของชาวพม่า ชาวอาเซียน และชาวโลกทั้งมวล"

สำหรับรายชื่อ 35 ส.ว.ร่วมลงชื่อ อาทิ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ส.ว.พิษณุโลก ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ พล.อ.อ.ณพฤษภ์ มัณฑะจิตร ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ

แถลงบัวแก้วชื่นชมพม่าปล่อยตัวฝรั่งตัวการ ซูจี ต้องโทษ

มีรายงานแจ้งว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์โดยมีสาระสำคัญว่า รัฐบาลไทยยินดีกับการตัดสินใจของรัฐบาลพม่าที่ปล่อยตัว นายจอห์น วิลเลี่ยม เยททอว์ ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก ๗ ปี พร้อมใช้แรงงานหนักในข้อหาละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องของพม่า

ประเทศไทยเห็นว่าการผ่อนผันของรัฐบาลพม่าด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นพัฒนาการทางบวก เพราะนอกจากจะช่วยให้นายเยททอได้กลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวอันเป็นที่รักแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลพม่าที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับประชาคมระหว่างประเทศด้วย ประเทศไทยหวังด้วยว่า รัฐบาลพม่าจะพิจารณาดำเนินแนวทางเช่นเดียวกัน โดยนิรโทษกรรมและให้อิสรภาพอย่างเต็มที่แก่นางออง ซาน ซู จี ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook