5 วิธีรับมือ “ความหวาดกลัวและวิตกกังวล” หลังเลิกกักตัวอยู่บ้าน
ขณะรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่ประชาชนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน งดเจอเพื่อนฝูงและคนในครอบครัว ในที่สุด เราก็จะได้กลับเข้าสังคม ได้พบเจอกับคนที่เรารัก ขณะที่หลายคนก็ได้กลับไปทำงาน เช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะที่สามารถเปิดทำการได้อีกครั้ง พร้อมด้วยมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลิกกักตัวและออกไปใช้ชีวิตอีกครั้งในช่วงโควิด-19 อาจก่อให้เกิดอาการ “กลัวการออกนอกบ้าน (Fear of Going Out หรือ FOMO)” ด้วยเหตุนี้ นักจิตวิทยาจึงออกมาให้คำแนะนำวิธีการรับมือกับอาการดังกล่าว ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้
ยอมรับว่าความวิตกกังวลเป็นเรื่องปกติ
โรคโควิด-19 คือ ภัยคุกคามที่มองไม่เห็น ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายได้มากแค่ไหน หรือเราต้องอยู่กับมันไปอีกนานแค่ไหน ซึ่งทำให้คนเกิดความวิตกกังวล Roxane Cohen Silver อาจารย์จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แนะนำว่า เราควรทำความเข้าใจว่าความรู้สึกของตัวเองเป็นเรื่องปกติและเป็นธรรมชาติ นี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่ปกติและน่ากังวล ดังนั้น ความรู้สึกวิตกกังวลจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
เรียนรู้ที่จะจัดการความรู้สึก
Christopher Pittender ผู้อำนวยการคลินิกวิจัยโรค OCD มหาวิทยาลัยเยล มองว่า ขณะที่เราทุกคนต้องออกจากบ้านเพื่อเข้าสังคม สิ่งที่มาพร้อมกันคือความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น สิ่งที่ควรทำคือ การพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และยอมรับความจริงว่ายังมีความไม่แน่นอนที่เกี่ยวกับโรคอยู่ ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะจัดการความรู้สึกต่อความไม่แน่นอนดังกล่าว การตระหนักรู้ถึงความรู้สึกจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เพราะเมื่อเราตระหนักรู้ว่าเรากำลังหวาดกลัวสิ่งใด เราก็สามารถทำลายวงจรของความวิตกกังวลหรือความกลัวที่เกาะกินหัวใจของเราได้
ฝึกจิตใจและตัดกิจวัตรที่ไม่ดีต่อสุขภาพออกไป
หลังเกิดภัยธรรมชาติ มักจะเกิดอาการโรคซึมเศร้าในคนหมู่มาก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการจัดการกับอาการซึมเศร้า คือ การฝึกจิตใจ Rossi Hassad นักระบาดวิทยาและอาจารย์ด้านจิตวิทยา วิทยาลัยเมอร์ซี แนะนำให้คนระมัดระวังตัวในขณะที่เสพข่าว และสร้างกิจวัตรประจำวันที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง ขณะเดียวกัน ก็พยายามไม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาต่าง ๆ ในช่วงโควิด-19 เพราะจะทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายแย่ลงกว่าเดิม ทั้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือ ให้ติดต่อสายด่วนสุขภาพจิตทันที
ต่อสู้กับความหวาดหวั่นด้วยการเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเอง
George Bonanno ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการทางด้านการสูญเสีย ความบอบช้ำทางจิตใจ และอารมณ์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย อธิบายว่า จากการศึกษาสิ่งที่ทำให้คนมีความรู้สึกที่ยืนหยุ่น เช่น การมองโลกในแง่ดี ความมั่นใจในวิธีการรับมือกับความเศร้าของตัวเอง ความระมัดระวัง และความเชื่อมโยงในสังคม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สามารถหลุดพ้นจากปัญหาได้ เพราะชีวิตมีความซับซ้อน ดังนั้น สิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คือการรู้จักสร้างสรรค์วิธีแก้ไขปัญหาขึ้นมาเอง
“เราต้องการการติดต่อกับสังคม การได้เจอเพื่อน ๆ ได้ฟังเรื่องตลกก็เป็นสิ่งที่ดี มันอาจไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด แต่การยิ้มและหัวเราะช่วยได้จริง ๆ เราควรหาอะไรมาเบี่ยงความสนใจของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ถ้ามันช่วยคุณได้ และไม่เป็นอันตรายต่อตัวคุณเอง มันก็ดีมากแล้ว” Bonanno กล่าว
การเป็นส่วนหนึ่งช่วยป้องกันความรู้สึกไร้อำนาจ
ปัญหาโรคโควิด-19 และภาวะโลกร้อน ทำให้คนรู้สึกหมดหวังและไร้อำนาจ เพราะมันคือปัญหาระดับโลก และผู้คนรู้สึกว่า พวกเขาไม่สามารถทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาได้ แต่ปฏิกิริยาต่อโรคโควิด-19 ก็แสดงให้เห็นว่า เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอะไรบางอย่างจะช่วยลดความรู้สึกไร้อำนาจของตัวเองลงได้ Susan Clayton นักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวูสเตอร์ แนะนำว่า การดูแลชุมชน การแสดงออกทางการเมือง หรืออาจรวมกลุ่มกับผู้คนเพื่อพูดคุยถึงปัญหา สามารถช่วยให้คนเราสามารถเอาชนะความรู้สึกไร้อำนาจและหมดหวัง ซึ่งจะเป็นผลดีกับสุขภาพจิตด้วย