เรื่องเล่าของคนเฝ้าป่า ..ยุคไฮเทค

เรื่องเล่าของคนเฝ้าป่า ..ยุคไฮเทค

เรื่องเล่าของคนเฝ้าป่า ..ยุคไฮเทค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี

เปิดหลักสูตรพิทักษ์ป่ายุคใหม่ ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่นำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาป่า

เมื่อเทคโนโลยียุคดิจิทัลถูกนำมาใช้ เพื่อการดูแลรักษาผืนป่าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น "อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน" จึงกลายเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้หลักสูตรพิทักษ์ป่าสมัยใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่แผ่นกระดาษและเข็มทิศอีกต่อไป

ไม่เฉพาะแค่ความชุ่มชื่นของสีเขียวรอบตัวเท่านั้น แต่ไอหมอก กับ วงออร์เคสตราธรรมชาติที่กำลังเปิดทำการแสดงอยู่ในราวป่าบริเวณ จุดสกัดที่ 4 ห้วยคมกริช อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตอนนี้ ยิ่งช่วยลบภาพตึกสูง ไอเสีย รวมทั้งความวุ่นวายของชีวิตเมืองออกไปได้อีกมากโข

รวมทั้งความเย็นระดับ "ยะเยือก" ของน้ำในลำห้วย หลังฝนเพิ่งขาดเม็ดไปไม่นาน อาจทำให้ออกอาการ "เนื้อสะดุ้ง" เอาดื้อๆ เหมือนกัน

"น้ำเย็นดีไหมครับ" ใครบางคนถามถึง "ห้องอาบน้ำสาธารณะ" ที่แขกทั้งสองเพิ่งใช้บริการไปเมื่อครู่ ระหว่างที่เจ้าบ้านอีก 2 คนกำลังเดินแยกออกไปเด็ดยอดผัก และดูความเรียบร้อยตามแนวชายป่าอีกด้านของจุดสกัด

นาฬิกายังไม่ทันจะทุ่ม แต่ป่ากลับถูกความมืดโอบคลุมเอาไว้เสียแล้ว หลังเสร็จธุระส่วนตัวของแต่ละคน วงอาหารค่ำจึงค่อยถูกตั้งขึ้น บะหมี่สำเร็จรูปต้มปลากระป๋องแซมยอดผักกูด และข้าวเย็นจากมื้อกลางวันอีกค่อนหม้อเป็น "เมนคอร์ส" ใต้แสงเทียน เคล้าแสงดาว คลอเสียงป่าเป็นของหวาน

"อยู่กินกันง่ายๆ อย่างนี้แหละครับ" เจ้าของน้ำเสียง "เหน่อเพชร" รายเดิมบอกด้วยรอยยิ้ม

ระหว่างรสอร่อยของอาหาร ขณะแสงไฟกำลังส่องสว่าง เรื่องราวของบรรดา "คนเฝ้าป่า" ก็ทยอยพรั่งพรูออกมา...

ใจรักกลางร่ม (ไม้)

"ที่ตัวเหลือบมันเยอะ เพราะกระทิงเพิ่งลง" สมพงษ์ สีนวล พนักงานพิทักษ์ป่าวัย 44 ปี หัวหน้าหน่วย 4 บ้านกร่าง เล่าถึงสาเหตุที่มีฝูงแมลงนับสิบมาคอยตอดเลือดระหว่างทางเข้ามายังจุดสกัด ให้ฟัง

นอกจากกระทิง และสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ค่อนข้างชุกชุมแล้ว อาณาเขตกว่า 1.8 ล้านไร่ ตั้งแต่เขต อ.แก่งกระจาน อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ไปจนถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ทำให้อุทยานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทยแห่งนี้ ยังคงสภาพเป็นป่าดงดิบตามธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งในโลก ทางอุทยานฯ จึงมีการจัดสรรการดูแลพื้นที่ออกเป็น 5 โซนใหญ่ๆ คือ เขตหนองหญ้าปล้องติดรอยต่อ จ.ราชบุรี, เขตโป่งลึก บางกลอย เขตบ้านกร่าง พะเนินทุ่ง, เขตหินราบ ห้วยโสก และเขตป่าละอู อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน 6 ชุด

"แก่งกระจานจะเน้นเรื่องวิชาการ 40 เปอร์เซ็นต์ งานป้องกัน 30 เปอร์เซ็นต์ และบริการ 30 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละเขตจะมีข้าราชการที่เป็นผู้ช่วยอยู่เขตละ 1 คน มีชุดสายตรวจประจำเขต 5 ชุดชุดละ 8-10 คน และมีสายตรวจส่วนกลางอีก 7 คนเป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว สามารถไปเขตไหนก็ได้ ในกรณีฉุกเฉิน" สุริยนต์ โพธิ์บัณฑิต นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อธิบายภาพรวมการทำงาน

เจ้าหน้าที่ 60 คน ดูแลป่าเกือบ 2 ล้านไร่ ถ้าไม่เรียกว่าเป็นงานที่วัดกันตรงขนาดหัวใจ ก็ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาตอบเหมือนกัน

อย่างตัวสมพงษ์เอง ป่าก็เหมือนบ้านอีกหลังไปแล้ว ตลอด 17 ปีของการทำงาน เขาเข้า-ออกป่าผืนนี้เป็นว่าเล่น เพียงเพราะความสบายใจที่ได้อยู่กับธรรมชาติ หรือ บุญแทน บุษราคำ พนักงานพิทักษ์ป่าจุดสกัด 4 ห้วยคมกริช คนแก่งกระจานแท้ๆ ที่เห็นป่ามาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เมื่อเริ่มรู้สึกว่าวันนี้บ้านตัวเองกำลังเปลี่ยนไปเขาจึงไม่รั้งรอที่จะ กระโดดเข้ามาเพื่อรักษาไว้ รวมทั้ง พงษ์ศักดิ์ กันทุกข์ พนักงานลูกจ้างเหมา และบุญชาย อินทร์จักร์ ลูกจ้างป้องกันจุดสกัด ต่างก็เพิ่งบรรลุนิติภาวะมาหมาดๆ พวกเขากอดคอเข้าป่าตามรอย "รุ่นพี่" มาด้วยเหตุผลเดียวกัน

"ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ที่นี่จะเป็นคนพื้นที่ บางคนเข้ามาทำงานเพราะอยู่ใกล้บ้าน ชินป่า บางคนก็มีแรงจูงใจให้เข้ามาทำเพราะรู้สึกว่าป่ามันเหลือน้อยแล้ว เพชรบุรีบ้านเราน่ะนะ แต่ก่อนเคยเห็นสิงสาราสัตว์แถวบ้านเยอะ พอมันเจริญขึ้น ไก่ป่าก็ไม่เห็นแล้ว ปัจจุบันกระต่ายป่าก็ไม่เห็นแล้ว ก็สมควรจะอนุรักษ์ไว้ เพราะมันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สมัย ร.5 เขาว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์นะ" บุญแทนให้เหตุผล

ตรวจป่าแบบดิจิทัล

การแผ้วถางที่ทำกินของชาวบ้าน การลักลอบตัดไม้ การล่าสัตว์ และหาของป่าในพื้นที่ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติยังคงเป็นปัญหาระดับ "คลาสสิก" บนพื้นที่สื่อ เรื่องเหล่านี้มักปรากฏเป็นข่าวให้เห็นอยู่เสมอ มาตรการ และวิธีแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่งัดขึ้นมาใช้ก็ทำได้เพียง "ทุเลาอาการ" เท่านั้น พอพ้นความสนใจของผู้คน ปัญหาเหล่านี้ก็กลับมาเรื้อรังซ้ำซากอีก ระบบติดตาม และนำทางอย่าง GPS การเก็บฐานข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงถูกนำมาทดลองใช้ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตั้งแต่ปี พ.ศ.2549

"งานลาดตระเวนระบบใหม่นี้เป็นระบบที่ทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ที่ประเทศยูกันดา แล้วได้ผลดี จึงเริ่มแพร่หลายในต่างประเทศ อย่าง ลาว พม่า เวียดนาม ตอนนี้ก็ใช้ระบบนี้อยู่ ทางสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทยที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก คิดว่าเมื่อ ลาว พม่า ทำประเทศไทยก็น่าจะทำตรงนี้ได้บ้างจึงเริ่มทดลองระบบกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่าห้วยขาแข้งเป็นแห่งแรกโดยใช้การจดบันทึกข้อมูล การถ่ายภาพ การจับGPS โหลดข้อมูลลงในโปรแกรมที่ทางสมาคมฯ ช่วยทำขึ้นมา ก่อนจะมาทดลองในส่วนอุทยานแห่งชาติที่แก่งกระจานเมื่อ 3 ปีก่อน" สุริยนต์บอก

จากเดิม เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจลาดตระเวนในแต่ละครั้งแล้วจึงค่อยนำรายละเอียดมาลงใน สมุดบันทึก ทำให้บางครั้งข้อมูลอาจคลาดเคลื่อน และตกหล่นไป หรือมีเจ้าหน้าที่บางคน "ลักไก่" นั่งเทียนเขียนรายงานเอาดื้อๆ แต่ในการลาดตระเวนระบบใหม่นั้นจะไม่มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก

ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ ขยายความว่า ระบบที่นำมาใช้เสริมจากเครื่องมือที่มีอยู่เดิมอย่าง เข็มทิศ หรือแผนที่ทหาร โดยการเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์ผ่าน GPS นั้นจะทำงานในขณะที่เจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวน ซึ่งมีการจดรายละเอียดลงบันทึกข้อมูล (Data Sheet) อยู่เป็นระยะ วิธีการแบบนี้ทำให้ความผิดพลาดต่างๆ หมดไป

"GPSจะเป็นตัวบอกว่าคุณไปตรงไหนบ้าง เพราะต้องมีการมาร์กพิกัดทุก 30 นาที พอกลับออกมาจากป่าก็เอาข้อมูลตรงนี้มาโหลดลงในคอมพิวเตอร์เพื่อให้เจ้า หน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลออกมาอีกชั้น และมีการนำเสนอในวงประชุมเจ้าหน้าที่ ทุกวันพุธแรกของเดือน"

ผลจากการนำระบบลาดตระเวนแบบใหม่มาใช้สุริยนต์ยอมรับว่า เห็นรายละเอียดต่างๆ ค่อนข้างชัดเจนกว่าแต่ก่อนทั้งสภาพพื้นที่ ลักษณะภัยคุกคาม ตลอดจนสามารถกำหนดทิศทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย

"ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นมากที่สุดคือ ล่าสัตว์ 60 เปอร์เซ็นต์ ตัดไม้ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นพวกแผ้วถาง หาของป่า ช่วง พ.ศ.2549-2551 นั้น จะเจอการล่าสัตว์เสียเป็นส่วนใหญ่ มีการแผ้วถาง ตัดไม้ กระจายอยู่ บริเวณโป่งพรม ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกันกับที่มีร่องรอยของสัตว์ป่าค่อนข้างชุกชุมที่สุดแห่ง หนึ่งในอุทยานฯ ส่วนการตัดไม้จะอยู่ทางพื้นที่ราบด้านหนองหญ้าปล้องติดกับ จ.ราชบุรี และทางพื้นที่ป่าละอู ซึ่งมีหมู่บ้านกระจายตัวอยู่เยอะจึงมีปัญหาเรื่องของการตัดไม้มาใช้ หรือขาย"

ในปีนี้ สุริยนต์เผยว่าแนวโน้มค่อนข้างลดลง เจ้าหน้าที่ควบคุมได้พอสมควร แต่การล่ามีการขยับลงไปทางทิศใต้ ไปทางหมู่บ้านป่าละอู เพราะมีการจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปกดดันเพิ่มมากขึ้น

คนทำงานในพื้นที่อย่างบุญแทนเสริมว่าระบบดังกล่าวยังช่วยให้การทำงานใน แต่ละครั้งมีความชัดเจนมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง หรือระบบการบันทึกข้อมูล ที่สำคัญยังทำให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องพิถีพิถันมากขึ้น

"เมื่อก่อนเวลาเดินลาดตระเวน ไม่มีเครื่องมือ มีแค่เข็มทิศกับแผนที่ คือถ้าอ่านแผนที่ออก เข็มทิศประกอบไม่หลงแน่นอน หรือถ้าไม่มีเข็มทิศหรือแผนที่ก็ใช้ความจำเอา เส้นทางที่เราคุ้นเคย พอมีเครื่องมือช่วยการทำงานมันก็คล่องตัวขึ้น ทางลัดก็บอกหมด เราต้องละเอียดกว่าเก่าเยอะมาก เดี๋ยวเจอซากสัตว์ ต้องวิจัยแบบสุดๆ คือ เราต้องสันนิษฐานว่า เขาเป็นอะไร ตายเมื่อไหร่ คนที่เข้ามา วิธีการล่าน่าจะเป็นคนในเมือง หรือคนในพื้นที่ ต้องดูทุกอย่าง มันก็ดีนะ (หัวเราะ) แต่บางทีมันอาจจะผิดพลาดบ้าง อย่างเวลาเราเหนื่อย อาจขาดความละเอียดไป ไม่ครบถ้วน" เจ้าตัวตอบด้วยรอยยิ้ม

ปัจจุบัน หลังจากเห็นผลเป็นรูปธรรม แก่งกระจานเองก็เริ่มปรับเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบลาดตระเวนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อีก 150 แห่ง โดยขณะนี้เริ่มมีการทดลองนำไปใช้ตามอุทยานแห่งชาติกว่า 10 แห่งแล้ว

เรื่องเก่าเล่าไม่(เคย)จบ

กับข้าวเริ่มพร่องไปตามเวลา เทียนไขเล่มใหม่ถูกต่อขึ้นมาเพื่อเติมความสว่าง ห่างไปไม่เกินระยะสายตา แสงวิบวับของหิ่งห้อยตามแนวป่าคล้ายกำลังเริงระบำเป็นมโหรีให้แขกแปลกหน้า ได้ชม จนใครบางคนเผลอออกปากอยากสัมผัสชีวิตในป่าอย่างนี้ดูสักครั้ง

"เห็นสวยๆ อย่างนี้เถอะ แต่ถ้าอยู่คนเดียวนี่แทบบ้าเลยนะ" สมพงษ์พูดพลางชายตาไปรอบวง ทั้ง 3 คนพยักหน้าเห็นด้วย

"มันเหงาน่ะครับ วันไหนได้ยินเสียงเครื่องยนต์นี่แทบจะกระโดดเข้าไปกอดเลย" บุญแทนตอบยิ้มๆ

ธรรมดาถึงอยู่กลางป่ากลางดง ก็ยังมีเพื่อนให้อุ่นใจอีกเกือบ 10 ชีวิต แต่หลังจากโดนมาลาเรียเล่นงานไป 2 คน ผลัดเวรกลับไปเยี่ยมบ้านอีก 2 คน ส่วนคนที่เหลืออีก 2-3 คนก็กำลังจะหมดสัญญาจ้างจึงไม่ค่อยโผล่หน้ามาให้เห็น พวกที่อยู่โยงเฝ้าจุดสกัดแต่ละวันจึงได้แต่มองกันตาปริบๆ และไม่เฉพาะความเหงาเท่านั้น ยังมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอ กระสุนของเหล่านายพรานที่พร้อมจะหันปากกระบอกปืนใส่ได้ตลอดเวลา กระทั่งเรื่องใต้พรมของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ให้บรรดาผู้พิทักษ์ป่าได้ รับมือกันไม่จบสิ้น

"ปีนี้เจอมาลาเรียไป 8 คน จาก 12 คน เมื่อ 2 ปีก่อนเจ้าหน้าที่ก็เพิ่งโดนช้างกระทืบตาย" สุริยนต์ให้ข้อมูล


อย่างที่รู้ "ความเสี่ยง" กับ "เงินเดือน" ของเจ้าหน้าที่ (พนักงานจ้างเหมา 4,500 บาท พนักงานราชการ 12,000 บาท) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างสวนทางกันโดยสิ้นเชิง แต่ไม่ได้หมายความว่าทางอุทยานจะนิ่งดูดาย ที่ผ่านมาก็มีความพยายามหาอุปกรณ์เดินป่า รวมทั้งเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ มาสนับสนุนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

"มันไม่พอหรอกครับ เครื่องมือครบชุดมีอยู่ 4 จากหน่วยลาดตระเวน 6 ชุด อีก 2 ชุดจะเป็นรุ่นเก่าซึ่งรับสัญญาณไม่ดี ตัวนี้อยู่ในร่องหุบเขาก็สามารถรับสัญญาณได้ บางทีเดินๆ ไปก็จับพิกัดไม่ได้ แล้วก็หายไปโผล่ตรงนี้ เราก็อาศัยการลากเส้นแผนที่เอา หรืออยู่ในป่า ออกแต่ละครั้งก็ปืน 4 กระบอก เป็นปืนลูกซอง กับเอซเค แต่ส่วนมากเป็นลูกซองมากกว่า...

...เทียบกับคนล่าแล้วเขาใช้เอ็ม 16 ถ้าปะทะกันจริงๆ เราจบอย่างเดียว ที่ทำได้ก็แค่ยิงขู่ โชคดีที่คนล่าสัตว์ส่วนใหญ่เวลาเจอเราเขาจะหนี แต่ถ้าหันสู้เมื่อไหร่โอกาสสูญเสียของเราก็น่าจะเยอะกว่าอยู่แล้ว วิทยุสื่อสาร 1-2 เครื่องต่อ 1 ชุด แต่หน่วยที่กระจายอยู่ในพื้นที่โดยมากจะมีวิทยุอยู่แล้ว จะประสานในพื้นที่ตลอด ก็สมบุกสมบันพอสมควร เวลาหน้าฝนนี่เละกันมาเลย พาหนะส่วนใหญ่ก็เป็นรถกระบะ พยายามรับบริจาค หรือสนับสนุนพวกข้าวสารอาหารแห้ง จะมี WCS ซื้อมาให้ทุกเดือน จากนั้นก็เป็นหัวหน้าหน่วย และนักท่องเที่ยวที่มาบริจาคช่วยๆ กันไป" เขาบอก

สิ่งที่เกิดขึ้นถึงจะเหมือนหนังม้วนเก่าที่เอามาเล่าซ้ำ แต่บรรดาพิทักษ์ป่าก็ยังยืนยันว่าที่ผลักดันให้พวกเขาทำทั้งหมดมาจาก "ข้างใน" ล้วนๆ

"เด็กใจมันรักไง ถึงอยู่อย่างนี้มา 5 ปีแล้ว" สมพงษ์เย้ารุ่นน้อง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook