ครม.เคาะเรตภาษีที่ดินสิ้นส.ค.นี้

ครม.เคาะเรตภาษีที่ดินสิ้นส.ค.นี้

ครม.เคาะเรตภาษีที่ดินสิ้นส.ค.นี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คลังชง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ครม.เคาะก่อนเสนอเข้าสภาปลายส.ค.นี้ วัดใจรัฐจะเก็บเต็มเพดานตั้งแต่ปีแรกหรือแค่ 25-50% ของราคาประเมิน เผย กทม.-หัวเมืองหลักถือครองทรัพย์สินไม่เกิน 1 ล้านบาท ตจว.ไม่เกิน 5 แสนบาทเข้าข่าย อสังหาฯ-นิคมอุตฯลุ้นระทึก!

นายลวรณ แสงสนิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโครงสร้างระบบภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังงานสัมมนาระดมความคิดเห็นจากประชาชนครั้งสุดท้ายที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ สศค.จะรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...ทั้งหมดเสนอให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา เนื่องจากมีข้อเสนอแนะหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการผลักดันกฎหมายฉบับ นี้ และมีหลายส่วนที่จะต้องตัดสินใจในระดับนโยบาย จากนั้นจะออกกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกาภายใต้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบังคับใช้

อาทิ การยกเว้นหรือไม่ยกเว้นภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย พื้นที่ที่จะมีการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราการจัดเก็บภาษี กลุ่มที่จะได้รับการลดหย่อนภาษี ฐานของราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะใช้ประเมินจัดเก็บภาษี ฯลฯ จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เบื้องต้น รมว.คลัง ได้เร่งรัดให้ สศค.ดำเนินการรวบรวมข้อเสนอแนะและประเด็นปัญหาทั้งหมดให้เสร็จเรียบร้อยโดย เร็ว เพราะต้องการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอ ครม.อนุมัติในหลักการและกรอบข้อกฎหมายภายในเดือนสิงหาคมนี้

นายลวรณกล่าว ว่า จากที่ได้จัดสัมมนาระดมความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีประเด็นที่จะเสนอให้ รมว.คลังพิจารณาดังนี้ 1) กรณียกเว้นภาษีให้กับผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ยังมีปัญหาว่าจะยกเว้นจัดเก็บภาษีสำหรับผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มีมูลค่า ไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือไม่ และการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีควรจะมีรูปแบบอย่างไร เช่น ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทแรกได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนที่มีมูลค่าที่เกินกว่า 1 ล้านบาทต้องเสียภาษีอัตราปกติ คล้ายกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยกเว้นภาษีให้ผู้มีเงินได้ไม่ เกิน 2 แสนบาท เป็นต้น


อย่างไรก็ตามหากเลือกใช้รูปแบบนี้ผู้ที่ครอบ ครองทรัพย์สินเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไปซึ่งไม่ถือว่าเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับประโยชน์ด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าบังคับใช้เป็นการทั่วไปทุกพื้นที่อาจทำให้บางพื้นที่จัดเก็บภาษีได้น้อย หรือจัดเก็บไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หลายๆ แห่ง สาเหตุมาจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในต่างจังหวัดส่วนใหญ่มูลค่าไม่ถึง 1 ล้านบาท

ต่างจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และหัวเมืองหลักหรือเมืองท่องเที่ยว อย่างภูเก็ต พัทยา หัวหิน เชียงใหม่ ฯลฯ การกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์สำหรับผู้ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีจึงน่าจะแตก ต่างกัน โดยพิจารณาจากมูลค่าทรัพย์สิน เช่น ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างใน กทม.มูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนต่างจังหวัดถ้ามีมูลค่าไม่เกิน 5 แสนบาทจึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษี เป็นต้น

2)ในส่วนของอัตราภาษี ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากสภาและมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีถัดไป ปีแรกที่จัดเก็บรัฐบาลจะให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บภาษีเพดานสูงสุดตามอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ กล่าวคือกรณีที่อยู่อาศัยอัตราการจัดเก็บ 0.1% ของมูลค่าราคาประเมิน, ที่ดินเกษตรเก็บ 0.01% และที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จัดเก็บ 0.5% เป็นต้น

ซึ่งมีหลายแนวทางต้องพิจารณา เช่น หากปีแรกเก็บ 25% ของอัตราภาษีสูงสุดที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ อปท.มีรายได้ปีละ 20,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่บังคับใช้อยู่ขณะ นี้, ปีที่สองจัดเก็บ 50% จะทำให้ อปท.มีรายได้ 40,000 ล้านบาท และปีที่ 3 จัดเก็บในอัตราสูงสุดซึ่งคาดว่า อปท.จะมีรายได้ 90,000-100,000 ล้านบาท หรือรัฐบาลจะเก็บเพียงแค่ 25-50% ของอัตราภาษีสูงสุดตลอดไปเหมือนการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่กฎหมายกำหนด เพดานสูงสุดไว้ที่ 10% แต่ปัจจุบันจัดเก็บแค่ 7%

3)การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีต้องพิจารณาว่ากลุ่มใดบ้างจะได้รับสิทธิ เช่น กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งกรณีที่ดินที่ใช้สร้างบ้านจัดสรร และที่ดินที่ใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการเสนอให้ยกเว้นภาษีในระหว่างที่ยังไม่ได้ขายทรัพย์สินออกไป แต่ควรจะกำหนดระยะเวลาถือครองทรัพย์สินไว้ด้วย โดยปีแรกอาจยกเว้นภาษีให้ แล้วค่อยทยอยจัดเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้นจนถึงอัตราปกติ (เชิงพาณิชย์เสีย 0.5%) ในปีที่ 3 เป็นต้น ส่วนสินทรัพย์รอการขายที่อยู่ในความดูแลของกรมบังคับคดี, บริษัทบริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน, นิติบุคคลอาคารชุด, นิติบุคคลบ้านจัดสรร อาจยกเว้นภาษีให้

4)ที่ดินที่ใช้เพื่อการเกษตรซึ่งจะเสียภาษี 0.01% จะต้องกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน เช่น ต้องเพาะปลูกพืชไม่น้อยกว่า 80% ของพื้นที่ หรืออาจกำหนดความหนาแน่นของพืชที่เพาะปลูกด้วย

ขณะเดียวกันเรื่องการนำราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาใช้เป็นฐานในการ คำนวณอัตราภาษีนั้น ในทางปฏิบัติขณะนี้กรมธนารักษ์สำรวจและประเมินราคาที่ดินจัดเก็บไว้ในฐาน ข้อมูลเพียง 7 ล้านแปลง จากที่ดินทั่วประเทศทั้งหมด 30 ล้านแปลง จึงอาจต้องนำฐานราคาประเมินจากแหล่งอื่นมาใช้ ส่วนสูตรในการคำนวณมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง อาคารทุกชนิด ขณะนี้มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว โดยมีทั้งหมด 61 สูตร


ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า หลังปิดงานสัมมนาครั้งสุดท้ายที่จังหวัดอุบลราชธานี สศค.จะต้องสรุปความคิดเห็นของประชาชนเสนอให้ตนพิจารณา เพราะนโยบายทุกอย่างจะต้องชัดเจน ทั้งในเรื่องการยกเว้นภาษี อัตราภาษีที่จะบังคับใช้ ส่วนราคาประเมินทรัพย์สินจะใช้ราคาประเมินของกรมธนารักษ์ แต่ถ้ากรมธนารักษ์ยังประเมินไม่แล้วเสร็จจะให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้า หน้าที่ อปท. แต่จะมีบทบัญญัติกฎหมายให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นเรื่องขออุทธรณ์ภาษีได้ กรณีที่เห็นว่าราคาที่ประเมินไม่เป็นธรรมหรือถูกต้อง จากนั้นจะนำเรื่องทั้งหมดเสนอให้ ครม.พิจารณา ก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook