ทีมวิจัยสหรัฐพบรกในหญิงตั้งครรภ์ป่วยโควิด-19 ได้รับความเสียหาย

ทีมวิจัยสหรัฐพบรกในหญิงตั้งครรภ์ป่วยโควิด-19 ได้รับความเสียหาย

ทีมวิจัยสหรัฐพบรกในหญิงตั้งครรภ์ป่วยโควิด-19 ได้รับความเสียหาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชิคาโก, 23 พ.ค. (ซินหัว) — การศึกษาจากสถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซีน (Northwestern Medicine) ของสหรัฐฯ เปิดเผยผลทดสอบทางพยาธิวิทยาหลังการให้กำเนิดบุตรของหญิง 16 ราย ที่มีผลตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เป็นบวกขณะตั้งครรภ์ โดยพบหลักฐานบ่งชี้ว่า “รก” ได้รับความเสียหาย

หญิงทั้งหมดคลอดลูกที่โรงพยาบาลสตรีนอร์ธเวสเทิร์น เพรนทิส (Northwestern Medicine Prentice Women’s Hospital) โดยมี 4 รายแสดงอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เป็นเวลา 3-5 สัปดาห์ก่อนคลอดและมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวก ส่วนที่เหลือมีผลตรวจโรคโควิด-19 เป็นบวกเมื่อเดินทางมาโรงพยาบาลเพื่อคลอดลูก โดยมี 5 รายที่ไม่แสดงอาการของโรค ขณะที่เหลือแสดงอาการระหว่างคลอดลูก

เอมิลี มิลเลอร์ (Emily Miller) ผู้เขียนร่วมของงานวิจัย ซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาประจำวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น และสูติแพทย์จากสถาบันฯ กล่าวว่า “ทารกมีสุขภาพแข็งแรงดี คลอดตามกำหนด เป็นทารกปกติที่แสนจะน่ารัก แต่การค้นพบของเราพบว่าการไหลเวียนเลือดจำนวนมากถูกปิดกั้นและรกส่วนใหญ่เล็กกว่าที่ควรจะเป็น โดยปกติรกถูกสร้างขึ้นในปริมาณมาก ดังนั้นแม้มันจะทำงานเพียงครึ่งเดียวเด็กก็จะยังสมบูรณ์ดี แต่ถึงทารกส่วนใหญ่ร่างกายแข็งแรง ก็ยังมีความเสี่ยงเกิดความผิดปกติในการตั้งครรภ์บางกรณีได้”

รกในหญิงกลุ่มดังกล่าวปรากฏความผิดปกติ 2 รูปแบบที่พบได้บ่อย ได้แก่ การไหลเวียนเลือดจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์ไม่เพียงพอเนื่องจากความผิดปกติของหลอดเลือดหรือภาวะหลอดเลือดของมารดาผิดปกติ (MVM) และภาวะลิ่มเลือดในรกอุดตัน (intervillous thrombi)

รกเป็นอวัยวะแรกของทารกในครรภ์ ทำหน้าที่เสมือนปอด ลำไส้ ไต และตับ อีกทั้งเป็นตัวรับออกซิเจนและสารอาหารจากกระแสเลือดของแม่และแลกเปลี่ยนของเสีย รกยังมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนภายในร่างกายของแม่ด้วย

“รกทำหน้าที่เหมือนเครื่องช่วยหายใจสำหรับทารกในครรภ์ หากรกได้รับความเสียหาย เด็กในครรภ์อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ และในการศึกษาที่มีขอบเขตจำกัดครั้งนี้ การค้นพบทั้งหมดแสดงให้เห็นแล้วว่าเครื่องช่วยหายใจนั้นอาจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่เราต้องการหากผู้เป็นแม่ติดโรคโควิด-19” มิลเลอร์กล่าว

ด้านเจฟฟรีย์ โกลด์สตีน (Jeffrey Goldstein) ผู้เขียนอาวุโส ซึ่งมีตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาประจำวิทยาลัยฯ และนักพยาธิวิทยาจากสถาบันฯ เปิดเผยว่า “มีนักวิจัยเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ประสบปัญหาหลอดเลือดแข็งตัวและได้รับความเสียหาย นอกจากนั้นการค้นพบของเราสนับสนุนว่าโรคโควิด-19 อาจส่งผลให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนของบางสิ่งบางอย่าง และมันเกิดขึ้นในรก”

อนึ่ง สถาบันการแพทย์นอร์ธเวสเทิร์น เมดิซีน จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างศูนย์สุขภาพ นอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล (Northwestern Memorial Healthcare) และวิทยาลัยแพทย์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น คอยดำเนินการวิจัย การสอน และดูแลรักษาผู้ป่วย ส่วนการศึกษาครั้งนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (22 พ.ค.) ในวารสารอเมริกัน เจอร์นัล ออฟ คลินิคอล พาโธโลจี (American Journal of Clinical Pathology)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook