ไทยเตรียมทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในคนปลายปีนี้ คาดพร้อมผลิตใช้จริงอีก 12-18 เดือน
สาธารณสุขเผย ไทยเตรียมพร้อมรองรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยันหากเป็นไปตามแผนจะเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปีนี้
ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ความมั่นใจกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ผนึกกำลังหลายหน่วยงานได้ผลก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ เชื่อว่าหากการทดสอบในแต่ละขั้นตอนประสบผลสำเร็จจะได้วัคซีนที่มีคุณภาพให้คนไทยได้ใช้ในกรอบระยะเวลา 12-18 เดือน เผยต้องคิดค้นวิจัยเองเพื่อให้คนไทยมีใช้รวดเร็ว หากรอซื้อจากต่างประเทศอาจไม่ได้ใช้ทันเวลา ส่วนภาคการผลิตพร้อมขยายกำลังการผลิตจำนวนมาก รอแค่ผลวิจัยวัคซีนตัวไหนดีที่สุด
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 โดยนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ว่า ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง รวมทั้งไบโอเทค สวทช. และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลการวิจัยในรูปแบบวัคซีน mRNA ประสบความสำเร็จในการทดลองในหนูและเริ่มทดลองในลิง ขณะที่นานาชาติมีการวิจัยวัคซีนอีก 114 ชนิด ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลอง และมีวัคซีนอีก 10 ชนิด ที่มีการทดลองในคน ประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเวลานี้ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย
ทั้งนี้ การจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้คนไทยเข้าถึง ต้องนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยและผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมด้วย ถ้าได้ผลการวิจัยออกมาดีและเป็นไปตามแผน คาดว่าจะได้วัคซีนที่ดีและเหมาะสมกับคนไทยและผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ภายในเวลา 12-18 เดือน
ขณะที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด-19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเตรียมวัคซีนให้กับประชากรโลกนั้น หากมีประเทศใดที่ผลิตได้สำเร็จ แน่นอนว่าต้องให้ประชากรของประเทศตัวเองก่อน ตอนนี้มีจีนและสหรัฐฯ ที่มี่ความก้าวหน้าไปมาก ซึ่งสองประเทศนี้ประชากรรวมกันประมาณ 1,800 ล้านคน แค่ผลิตเพียงครึ่งเดียวอาจมากถึง 800-900 ล้านโด๊ส กว่าจะส่งให้ประเทศอื่นจึงต้องรอเวลา
สำหรับประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่มีความสามารถสูง มีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพลซิวาเนียที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีล่าสุด และการได้เห็นตัวอย่างของเทคโนโลยีการวิจัยจากประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ จึงมั่นใจว่าเราจะวิจัยและพัฒนาวัคซีนได้ไม่ช้าไปกว่าประเทศอื่นๆ มากนัก และอยู่ในกรอบเวลาที่ประมาณ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ขณะนี้จึงได้ประสานโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐานสำหรับการวิจัยในคนเอาไว้แล้ว พร้อมกับการเจรจาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทวัคซีนในประเทศไทยหากผลการทดสอบวัคซีนในแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จ
ด้าน นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของบริษัทฯ มีประสบการณ์ มีนักวิจัยที่มีความสามารถและมีความพร้อมที่จะรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ในระดับอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบตามผลสำเร็จของการวิจัย และพร้อมทำความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยว่าจะได้วัคซีนตัวไหนที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้บริษัทสามารถดำเนินการการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมาได้เองได้อย่างรวดเร็วกว่าวัคซีนปกติทั่วไป และเริ่มทำการทดสอบในหนูไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผล
อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเพื่อวางแผนความร่วมมือกัน ถือว่าระบบการผลิตเรามีความพร้อมที่จะสามารถขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นสำหรับวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันโรคได้ ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทยได้เมื่อถึงเวลานั้น