ยาท่วมหัว..เอาตัวไม่รอด
โดย : ทศพร กลิ่นหอม
วิจัยเผยคนไทยใช้ยาพร่ำเพรื่อ ผิดประเภท บริษัทยาตัวการหลัก ส่งผลเกิดภาวะดื้อยา-อาการข้างเคียง นักวิชาการชี้พึ่งตนเองไม่ใช่แค่ซื้อยากินเอง
ความเสี่ยงของคนยุคใหม่ในการ "พึ่งตัวเอง" เกี่ยวกับสุขภาพ กลายเป็นดาบสองคม ที่ข้อมูลการศึกษาจากฝ่ายแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำเสนอในงานประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบยาประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคมที่ผ่านมา มีหลายประเด็นปัญหา รวมถึง การส่งเสริมการขายยา ซึ่งมีกรณีศึกษาบทบาทบริษัทยาในการให้ข้อมูลโรคและยากับประชาชนว่า บริษัทมีบทบาทสูงและทำอย่างซับซ้อน ส่งผลต่อการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสม
ลองมาดูสถานการณ์การใช้ยาอย่างคร่าวๆ ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา
เดือนมีนาคม ปี 2551 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้เปิดเผยผลการศึกษาที่ชี้ว่า คนไทยใช้ยาเกินความจำเป็น และส่งผลให้เกิดภาวะ ดื้อยา โดยเฉพาะยาปฏิชีวะ (ยาฆ่าเชื้อ) ที่ใช้ในสัดส่วนสูงสุดในปริมาณการใช้ยาทั้งหมดของประเทศไทย และยังมีการใช้ ยาอย่างพร่ำเพรื่อ นั่นคือใช้ยารักษาผิดอาการ ซึ่งจะทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง
ยกตัวอย่าง ยาเพนิซิลิน ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่กลับถูกใช้ในการรักษาคอเจ็บ เป็นตุ่ม ซึ่งไม่ถูกต้อง และการใช้ที่ออกฤทธิ์กว้างๆ สำหรับโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาออกฤทธิ์จำเพาะ จึงทำให้ยาสั่งสมในร่างกายมากเกินไป ยังผลให้เกิดการดื้อยา
ในสถานการณ์นี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อ.ย. ได้เปิดโครงการนำร่องเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล Antibiotics Smart Use เริ่มจากพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตั้งแต่ปี 2550 และมีแผนจะขยายไปทั่วประเทศ (อ้างอิงจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ.หน้า 11 ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2551)
การใช้ยาปฏิชีวนะของคนไทย ตามข้อมูลของบริษัท ไอเอ็มเอส เฮลท์ ผู้ทำข้อมูลตลาดยาทั่วโลก เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคมปี 2552 ยังเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของยาทุกประเภท
เดือนมีนาคม ปี 2552 สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ได้เสนอให้มีถอดยาแก้ปวดหัวและยาโรคพื้นฐาน เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาแก้ไอ ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่า การเจ็บป่วยเล็กน้อย ประชาชนควรจะมีสิทธิเลือกซื้อยาตามกำลังจ่าย และไม่จำเป็นต้องพึ่งบริการหมอตลอดเวลา และ เพื่อลดการใช้ยาฟุ่มเฟือย และถือเป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยไม่เป็นการเพิ่มภาระให้แพทย์โดยไม่จำ เป็น อีกทั้งทำให้ประชาชนมีสิทธิเลือกยา โดยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีคุณภาพ แม้ว่ายาจะแพงขึ้น แต่ก็เป็นยาที่ประชาชนมั่นใจในคุณภาพและพร้อมที่จะร่วมจ่าย (ข้อมูลจากเว็บไซต์ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค www.consumerthai.org)
ซื้อยาเอง พึ่งตัวเองหรือโดนหลอก
การซื้อยากินเองของคนไทย (จากรายงานการสังเคราะหองค์ความรู้เพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพและข้อเสนอสาระ บัญญัติในราง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติเรื่อง การพัฒนาศักยภาพในการดูแลสุขภาพตนเอง/ครอบครัว/ชุมชน โดยแหล่งข้อมูลงานวิจัย ทางเว็บไซต์สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข) พบว่าคนไทยที่มีฐานะยากจนจะซื้อยากินเองมากกว่าคนมีฐานะดี และยาที่ซื้อกินเองมากที่สุด คือ อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ไข้หวัด ไอ ปวดท้อง กระเพาะอาหาร และอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ชนิดของยาที่พบว่าชาวบ้านนิยมซื้อ คือ กลุ่มยาแกปวดลดไข กลุ่มยาโรคทางเดินอาหาร และยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
"การพึ่งตนเอง หมายถึงการให้ไปซื้อยากินเองเท่านั้นหรือเปล่า คงไม่ใช่ โดยเฉพาะข้อควรระวังว่า ประเด็นนี้ จะเป็นช่องว่างให้บริษัทขายยาเข้ามาแทรกหาประโยชน์ได้" ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็น
"มันน่าสนใจว่า ปัญหาสำคัญของผู้บริโภคคือเขาจะได้ข้อมูล ที่ไม่ใช่การโฆษณาจากทางไหนๆ ซึ่งทาง อ.ย.ก็มีการจัดทำข้อมูลยาสู่ผู้บริโภค ซึ่งอันนี้ทางสหรัฐฯ เขาได้ทำแล้ว มันเป็นการส่งสารด้านสุขภาพให้คนได้รู้จักรู้จริง"
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ชี้ว่า การดูแลตัวเองกับการใช้ยา ในวันนี้อาจจะโทษแค่ระบบล้มเหลวอย่างเดียวไม่ได้ การพึ่งตัวเองของผู้บริโภคต้องเรียนรู้มากขึ้นว่าการดูแล โดยทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยานั้น ก็จำเป็นอย่างมากเช่นกัน
ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาผิดประเภท และพร่ำเพรื่อที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง จากงานวิจัยที่พบในปัจจุบันยังคงเกี่ยวเนื่องกับ ความเชื่อ วัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ปัจจัยเรื่องความไม่รู้ในการใช้ยา และการกระตุ้นจากแหล่งข้อมูลที่บอกความจริงครึ่งเดียว (โฆษณา)
โดยร้านยายอมรับว่า การโฆษณามีผลกระตุ้นให้คนซื้อยาอย่างเห็นได้ชัด
"มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรค อย่างชาวบ้านปวดหลัง (จากการทำงาน) ฝืนกล้ามเนื้ออยู่เป็นเวลานาน จากการดำนา แต่เขาจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นโรคไต เพราะโรคไตก็ปวดหลัง 90 เปอร์เซ็นต์ของคนปวดหลังมาซื้อยาโรคไต บางทีเภสัชกรก็ต้องใช้วิธีประนีประนอม ให้ยาไตไปด้วยให้ยาคลายกล้ามเนื้อไปด้วย ซึ่งคิดว่ายาไตเป็นผลมาจากแรงโฆษณา แม้ปัจจุบันแต่จะมีกฎหมายควบคุมเนื้อหาโฆษณายา ไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ก็ยังมีการฝ่าฝืน
"ที่สำคัญ คือ ยังมีการใช้ยาเกินจำเป็น คือ ใช้ยาผิด และ คิดว่าเป็นว่าโรคตัวเอง เช่น ดูโฆษณายาบรรเทาอาการข้อเสื่อม (โดยที่ตัวเองไม่ได้เป็น) ก็มาหาซื้อยานี้โดยไม่จำเป็น" เอกไชย พรรณเชษฐ์ บัณฑิตเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของร้านขายยา อรุณเภสัช อ.โพทะเล จ.พิจิตร เปิดเผย
เอกไชยยังเปรียบเทียบสถานการณ์ของร้านยาของเขาในปัจจุบันกับอดีต ในกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นชาวบ้านไว้ว่า
"ชาวบ้านยังมีความรู้ไม่ค่อยมาก จริงๆ ไม่ว่าจะสมัยก่อนหรือตอนนี้ คือ เดินเข้ามาให้รักษาอาการที่ตัวเองเป็น ให้ทางร้านจัดยา วินิจฉัยโรคให้ แต่ปัจจุบัน การดูแลตัวเองขั้นพื้นฐาน ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลโฆษณา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะยาแก้ปวดหลัง ปวดข้อ แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคพื้นฐานยังจำกัด ส่วนคนมีการศึกษา ก็เข้ามาขอคำปรึกษาและให้ร้านจัดยาให้ แต่มีความรู้เรื่องข้อควรระวังและการใช้ยาดีกว่า เช่น ใส่ใจถามผลข้างเคียง และยอมรับการใช้ยาให้ครบขนาด เพราะได้ความรู้ว่าถ้ากินไม่ครบ เชื้ออาจดื้อยา แต่ในแง่ความรู้พื้นฐาน เรื่องโรค ไม่ได้มีมากกว่าชาวบ้าน"
คำแนะนำของฝ่ายทำงานเฝ้าระวังเรื่องยา อย่าง ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวว่า
"สำหรับผู้บริโภค เขาก็ไม่รู้ว่า message ข้อมูลยาเหล่านี้ปลอดภัยแค่ไหน จะต้องผ่านการ approved จากใคร ก็คงบอกได้แค่ว่า ต้องใช้หลักกาลามสูตรล่ะ ง่ายๆ คือ ข่าวสารอะไรที่มาจากภาคธุรกิจ เราควรจะเชื่อแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะยา เบื้องต้นก็คงต้องบอกซ้ำว่า กินยาทุกตัวต้องรู้ชื่อตัวยา ชื่อสามัญของยา ต้องรู้ผลข้างเคียง รู้ขนาดยา ว่าเรากินไปเท่าไร รู้ว่าโฆษณาถ้ามันขัดแย้งกับผลการใช้จริง เราจะไปร้องเรียนที่ไหนได้บ้าง"
โดย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา ย้ำว่า พฤติกรรมไม่ใช่เรื่องแก้ง่ายๆ จำเป็นต้องใช้ทั้งการให้การศึกษา (ข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจ) บวกกับการควบคุมบังคับใช้กฎหมายควบคู่กันไป รวมถึงการเชื่อมโยงการศึกษา เชิงสังคมวัฒนธรรม และนโยบายการบริการด้านสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพหรือ Health Promotion ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น
ย้ำ..."ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น" ซึ่ง ผศ.ภญ.ดร.นิยดาบอกว่า
"น่าจะเป็นสิ่งที่ลงมือทำแล้วให้มันเห็นผลได้..มากที่สุด"
* ด้วยรักและห่วงใยจาก 'ร้านขายยา'
ร้านขายยามีข้อสังเกตและคำแนะนำในการใช้ยาระดับสามัญประจำบ้าน ที่ได้รับอนุญาตให้มีการซื้อขายทั่วไป ไว้หลายประเด็น
ประสบการณ์จากร้านยา หมวยเภสัช ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ ให้ข้อคิด โดยเฉพาะเรื่องความเข้าใจผิด ในการใช้ยาผิดสรรพคุณ และเกินขนาด โดยผู้บริโภคหลายคนยังเพิกเฉยและใช้ยาตามอำเภอใจ ซึ่งในความเห็นของเภสัชกร ถือว่า เป็นการใช้ยาเพื่อสนองตอบความพอใจ มากกว่าการใช้ยาเพื่อเยียวยาสภาพร่างกายตามความจำเป็น
-แพ้ยาใดโปรดระบุ
"เราจะถามประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัว ต้องดูว่าคนซื้อจำเป็นต้องใช้ยาเท่าไหร่ บางคนไม่จำเป็นต้องใช้เยอะ เราจะต้องถามคนซื้อเยอะๆ ให้ได้รายละเอียด ซึ่งคนรุ่นใหม่จะไม่มีปัญหา แต่คนแก่ๆ ก็อาจจะยังติดอยู่กับความคุ้นเคยเดิมๆ ซึ่ง จริงๆ การที่คนไปซื้อยา รู้จักชื่อตัวยาชัดเจน(ไม่ใช่ยี่ห้อยา) ก็จะดี เพราะถ้าเกิดแพ้ยาขึ้นมาจะรู้ได้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร ส่วนใหญ่ลูกค้าร้านเภสัชจะเป็นคนที่มีลูก เพราะเภสัชกรจะช่วยแนะนำ ให้คนซื้อรู้ว่า dose (ขนาด)ในการใช้ยากับแต่ละคนควรจะแค่ไหน และจะระวังมาก ไม่จ่ายยาซี้ซั้ว" เจ้าของร้านยา หมวยเภสัช เผยพฤติกรรมลูกค้า
- หน้าที่ของเภสัชกร แค่ขายยาไม่พอ
ในร้านขายยา นอกจากการสอบถามราคาและยี่ห้อยาแล้ว การเจรจายืดเยื้อถึงสรรพคุณและวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง ทั้งจากฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเภสัชกรรายนี้เล่าประสบการณ์จากลูกค้าที่เจอบ่อยๆ ว่า
"พวกเป็นหวัดธรรมดา ปวดฟัน ผื่นคัน เชื้อราบนหนังศีรษะ หรือท้องเสีย จะใช้ยาพื้นๆ ได้ แต่ถ้าลูกค้าที่เป็นเรื้อรังมานาน เช่น ไอมานานจนหอบ เราจะแนะนำให้ไปหาหมอ ต้องเจอหมอ หรือไข้สูงติดต่อกันยี่สิบสี่ชั่วโมง ช่วงนี้ก็ต้องระวังมากหน่อย เขาต้องไปตรวจกับหมอ บางทีก็ต้องแนะนำลูกค้าด้วยว่า เมื่อไรที่เขาควรไปหาหมอ เช่น โดนไม้ทิ่มเป็นแผลมา เขาจะแค่ซื้อยาทาแผลไปใช้เอง ไม่พอหรอก ต้องบอกให้เขาไปหาหมอฉีดยาป้องกันบาดทะยักด้วย หรือโดนหมากัด แมวกัด แค่ยาทาแผลไม่พอ ต้องไปฉีดวัคซีนด้วย เพราะอาจจะถึงแก่ชีวิตได้"
-ผู้ซื้อพึงระวัง
"คนสูงอายุมากๆ 70-80 ปี บางทีเภสัชกรตามร้านขายยาจะไม่ค่อยรับ (ไม่ขายยาให้) เพราะการใช้ยากับคนวัยนี้ต้องระมัดระวังมาก คนวัยนี้จะมีความไวต่อยามาก ยาแค่ 1 เม็ดก็อันตรายได้ ต้องคำนวณยาให้ตรงกับสภาพร่างกายเขาจริงๆ เช่นเดียวกับกรณีเด็กอ่อน ต่ำกว่า 6 เดือน ร้านยาปกติจะไม่จ่ายให้ เพราะต้องระวังมาก จ่ายได้แค่ยาลดไข้เท่านั้น และประวัติการแพ้ยาของเด็กเล็กยังไม่มี การจ่ายยาให้เหมาะสมก็ลำบาก
-ความรู้เรื่องยา
อยากให้คนรู้จักยาสามัญประจำบ้านก่อน เพราะเวลาเกิดเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ตอนกลางคืน จะสามารถบรรเทาได้ เช่น ยาธาตุ ยาทาแก้ปวด หรือยาลดกรด และการปฐมพยาบาลพื้นฐาน ตัวอย่างที่เคยเจอ บางคนโดนมีดบาด ไม่รู้ว่าต้องอุดแผลห้ามเลือดก่อน แต่ปล่อยหรือบีบให้เลือดออกจากแผล และห้ามโดนน้ำ เพราะมันจะติดเชื้อง่าย แต่ก็พบลูกค้าที่ไม่รู้บ่อยมาก
คิดว่าสาธารณสุขน่าจะให้ความรู้พื้นฐานตรงนี้มากๆ บอกซ้ำๆ บ่อยๆ ให้เป็นความเคยชินไปเลย
ส่วนยาป้องกันไวรัสหรือพวกยาที่ใช้กับโรคไข้หวัดที่กำลังกลัวกัน มีคนมาถามที่ร้านขายยา แต่ยาเหล่านี้เป็นยาควบคุมอยู่แล้ว ต้องไปหาหมอก่อน และจ่ายยาเฉพาะที่โรงพยาบาลเท่านั้น
* อย่าดื้อ (ดึง) ซื้อยา
เภสัชกรจากร้าน หมวยเภสัช แนะนำเรื่องการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และมีความเสี่ยงที่จะเป็นภัยต่อผู้ใช้ยาเองหรือไม่นั้น โปรดพิจารณาข้อเสนอแนะดังนี้
-ยาพาราเซตามอล
คำเตือน : สรรพคุณเป็นยาแก้ปวดจากอาการไข้ แต่ไม่ใช่ยา "ป้องกันหวัด" และไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 5 วัน อาจจะส่งผลข้างเคียงไม่ดีต่อตับ
แต่มีกรณีจากร้านยาเล่าว่า "บางคนมาซื้อยาพาราฯ (ยี่ห้อใดก็ได้) เพื่อกินกันหวัด และบอกว่าใช้แก้ปวดเมื่อย อันนี้เราจะพยายามบอกเขาว่าไม่ใช่นะ มันไม่ได้มีผลป้องกันหวัด และไม่ได้มีผลแก้เมื่อย บอกจนเขาไม่มาซื้อเราอีก แต่เขาก็ไปหาซื้อตามร้านสะดวกซื้อเองอยู่ดี"
-ยาแก้ปวด กรณีปวดฟัน
คำเตือน : ปวดฟันควรไปพบหมอฟัน เพราะยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราว ไม่หายขาด
"บางคนปวดฟัน คิดว่าแค่ใช้ยาแก้ปวดก็หาย จริงๆ ไม่ใช่ มันจะต้องไปซ่อมฟัน และคนที่ซ่อมได้คือหมอฟัน ไม่ใช่ทายากินยาแล้วจบ"
-ยาแก้แพ้ -ลดน้ำมูก
คำเตือน : ไม่ควรรับประทานในช่วงเวลาทำงานกับเครื่องจักรหรือขับรถ เพราะยามีฤทธิ์ง่วง
กรณีที่เจอ "ที่ร้านจะแนะนำให้ลูกค้าทานยาประเภทนี้ในเวลาก่อนนอน หรือกลางวันที่ไม่มีกิจกรรมเสี่ยงภัย เพราะฤทธิ์ยาจะทำให้ง่วงหรือหลับในได้ทันที แต่ก็มีคนซื้อยาที่รวมสรรพคุณแก้แพ้ลดไข้ ไปกินแทนยานอนหลับ ซึ่งเป็นการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ อันตรายมาก"
-ยาระบาย
คำเตือน : ใช้เฉพาะจำเป็น ไม่ควรใช้ให้เป็นชีวิตประจำวัน
"คนที่ใช้ยาระบายเจอหลายคนที่มุ่งใช้เพื่อหวังจะลดน้ำหนัก โดยไม่รู้ตัวว่า ยาระบายจะทำให้ลำไส้ทำงานผิดปกติ เมื่อมันชินกับการใช้ยาแล้ว ต่อไปลำไส้จะไม่ยอมระบายต้องใช้ยาเท่านั้น ความจริงต้องกินอาหารมีกากใยจะช่วยระบายตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่บางคนที่ใช้ยาระบายจะไม่สนใจตรงนี้ ตะบี้ตะบันกินอย่างเดียว หลายอย่างอยู่ใกล้ตัวมาก เช่น ชาสมุนไพร ตามร้านสะดวกซื้อซึ่งไม่ควรใช้เป็นประจำ"
-ไข้หวัดไม่ต้องกินยา
คำเตือน : ไข้หวัดธรรมดาไม่มีอาการที่เข้าข่ายควรสงสัย แค่พักผ่อนก็หายได้
"แต่คนไข้มักไม่เชื่อ ไปหาหมอคนที่หนึ่ง ให้ยามาทาน 3 วัน อาการไม่ดี เปลี่ยนไปหาหมอคนที่สอง อาการดีขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่หาย พอไปหาหมอคนที่สาม หาย ก็เชื่อว่าหมอคนนี้เก่ง ทั้งๆ ที่หายเองตามธรรมชาติ โดยสรุป คนซื้อยา ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าตัวเองจะดูแลตัวเองได้ในระดับพื้นฐาน" ข้อมูลนี้จากเอกไชย
พิจารณาจากตัวอย่างเหล่านี้ คุณเป็นหนึ่งในนั้นหรือเปล่า ถ้าใช่ เภสัชกรจากร้านยา ฝากบอกว่า "โปรดปรับปรุงตัวด่วน"