เพื่อไทยถล่มทีวีไทย เทพชัยยันเป็นสื่อน้ำดีโปร่งใส
เพื่อไทยถล่มทีวีสาธารณะฯกลางสภา ล็อคสเปคตั้ง ผอ. บริหารไม่โปร่งใส เทพชัย หย่อง ผอ. ยันเป็นสื่อน้ำดี บริหารงบโปร่งใส ไม่มีทุจริต รับงบด้านบุคลากรสูงจริง แต่น้อยกว่าไอทีวี
ที่รัฐสภา วันที่ 20 ส.ค. การประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายหลังจากการรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปี พ.ศ.2550 ต่อมาเมื่อเวลา 18.30 น. ที่ประชุมที่มีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้เข้าสู่การรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2551 ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ สสท. โดยมีตัวแทนจาก สสท.เข้าชี้แจงคือ นายเทพชัย หย่อง ผอ.สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) นายเกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย นายสมชาย สุวรรณบรรณ อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวบีบีซี ลอนดอน และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองผอ.สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ทั้งนี้ก่อนการชี้แจงของตัวแทนจากองค์การกระจายเสียงฯ นายไพจิตต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ได้เสนอต่อประธานว่า การจัดตั้งทีวีสาธารณะช่องนี้พิสดารจึงขอให้ส.ส.ได้มีโอกาสแสดงความเห็น
จากนั้นได้มี ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหลายคน ได้ลุกขึ้นอภิปราย อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ติดตามดูทีวีช่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนังแขก ส่ายหน้า แต่ตอนหลังดีขึ้น แต่ก็สงสัยว่าโครงการนี้บริหารง่านไม่โปร่งใส เคยเชิญมาชี้แจงต่อ กมธ.การเงิน การคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธาน แต่ไม่มา พบว่ามีการร้องเรียนในลักษณะไม่โปร่งใส ซึ่งตนเป็นห่วง ทั้งเรื่องงบดุล งบการเงิน สสท. เรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนตั้งแต่เดือน มกราคม-ธันวาคม 51 จำนวน 256 ล้านบาท ค่าจัดจำหน่ายต้นทุนลิขสิทธิ์และค่าต้นทุนการผลิตรายการ 282 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบริหาร 213 ล้านบาท ระบบค่าส่งสัญญาณ 54 ล้านบาท สำนักงาน 47 ล้านบาท ค่าไฟฟ้า เชื้อเพลิงอย่างละ 47 ล้านบาท ค่าเสื่อมสภาพ 260 ล้านบาทต่อปี เงินงบประมาณที่ได้รับจากภาษีสุรา 1,772 ล้านบาท และอื่นๆ มีผู้กล่าวหาว่าเกิดความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง หรือกระบวนการรับพนักงานเข้าทำงานไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือก ส่วนใหญ่เป็นพรรคพวกตัวเอง มีการสั่งให้ฝ่ายบุคคล รับคนเข้าทำงานเงินเดือน 4-5 หมื่นบาท รวมถึง 23 กบฏไอทีวี ก็มีข่าวว่าสอบคัดเลือกไม่โปร่งใส เพราะผู้ออกข้อสอบเป็นคนทำงานอยู่เดิม เข้าลักษณะกินเองชงเอง หรือล็อคสเป็คตำแหน่งผอ.สถานีฯ กันเอาไว้ล่วงหน้า
ขณะที่การบริหารในองค์กรสถานีข่าวก็ไม่เป็นธรรม เช่น ให้เงินนักข่าวที่ใกล้ชิดจำนวน 70,000 บาทไปทำข่าวเพียงสองชิ้น รวมทั้งมีการรับงานจากทีวีช่องหนึ่งแล้วแต่กลับมาใช้อุปกรณ์สถานี ได้รายการงบตอนละ 8 หมื่นบาท หรือกรณีที่ใครเข้ามาทำรายการในช่องจะต้องเสียค่าน้ำร้อนให้เฮีย นอกจากนี้ ทราบว่ามีการเตรียมจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานี 1,500 ล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบเพราะเป็นพื้นที่เหมาะสม มีการนินทากันว่า การจัดซื้อที่ดินบริเวณใกล้สโมสรตำรวจทั้งที่เป็นพื้นที่คอขวด เข้าออกทางเดียว คับแคบมาก ทำให้ถูกมองว่า มีการแทรกแซงใช้เงินใต้โต๊ะ สอดคล้องกับข้อสังเกตว่า ผู้บริหารบางคนมีเงินไปซื้อบ้านที่เขาใหญ่กว่า 20 ล้านบาทหรือมีบ้านหรูในกรุงเทพฯ
ด้าน นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอชื่นชมทีวีไทย ที่สามารถเป็นสื่อที่ผ่านพ้นวิกฤตการชุมนุมทางการเมืองไปได้ และกระบวนการมีส่วนร่วม แต่เส้นแบ่งความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งตอบได้ยาก จะต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ชี้นำทางสังคมช่วยหาทางออกในช่วงสถานการณ์วิกฤตทางสังคมได้ ทั้งเนื้อหาที่เข้าข่ายมีส่วนได้เสียในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนบางกลุ่มใช้สื่อแสดงความเห็น ซึ่งต้องระมัดระวัง การเลือกผู้ออกรายการตามรสนิยมของผู้ดำเนินรายการ คณะกรรมการนโยบายและผู้บริหารสถานี อาจทำให้รายการเล่าข่าวสร้างความสับสนเสียหายให้กับสังคม โดยต้องชี้แจงเหตุผลว่า การเล่าข่าวเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่าการอ่านข่าวแข็งกระด้าง ซึ่งประชาชนไม่ให้ความสนใจ
นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากที่ดูรายงานของสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ไม่แน่ใจว่าเป็นรายงานปฏิบัติงานหรือเป็นความเห็น นอกจากนี้ยังมองว่าการนำเสนอรายการแม้จะมีเวทีให้ฝ่ายต่างๆ มาแสดงความเห็นมากมายแต่ไม่มีเอกลักษณ์เมื่อเทียบกับทีวีช่องอื่น ไม่เข้าถึงกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ไม่มีความรู้ในสังคม แต่สนับสนุนกลุ่มบุคคลที่มีการศึกษา กลุ่มเอ็นจีโอ
เทพชัย หย่อง ยันเป็นสื่อน้ำดีบริหารงบโปร่งใส
นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทีวีสาธารณะเป็นเรื่องยาก เราจึงต้องให้กำลังใจกันเพราะหากไปวัดที่เรตติ้งก็มีคงแต่ละคร ดาราเกาหลี เกมโชว์ รายการเล่าข่าวที่ได้กำไรหลายสิบล้านจากหยาดเหงื่อแรงงานของนักข่าวอีกหลายคนที่ไปหาข่าวมา อีกทั้งการทำสื่อยังต้องใช้ต้นทุนสูง จึงอยากให้ทีวีไทยมีที่ยืนมากขึ้นสำหรับสื่อที่มีอุดมการณ์อย่างแท้จริง
ต่อมาเมื่อเวลา 21.40 น. นายเทพชัย ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วความกังวลของทุกคนกับนโยบายของผู้บริหารทีวีไทยเหมือนกันที่พยายามทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทีวีสาธารณะ ยอมรับว่า 1 ปีกว่าๆอาจไม่เพียงพอที่จะทำทุกอย่างสำเร็จแต่ก็ยังยืนยันเจตนารมณ์เดิม แต่มีหลายประเด็นหลายข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนนั้น เราได้ระมัดระวังในการใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ อย่างกรณีที่มีการบอกว่า มีการใช้งบด้านบุคลากร 256 ล้านบาท ตรงนี้เรายอมรับเป็นตัวเลขที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยไอทีวีในปี 2549 ที่มีงบด้านบุคคลากรกว่า 400 ล้านบาท หรือแม้แต่ช่องอื่นๆ แต่ตัวเลขของสสท.ในปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนผลิตแต่ละจัดหารายการก็น้อยกว่าทุกช่อง ส่วนตัวเลขค่าใช้จ่ายในการบริหารของสสท.ก็ยืนยันว่าเป็นไปตามความเหมาะสม และคงตอบคำถามได้ดีว่าเราบริหารเงินได้คุ้มค่าหรือไม่ ส่วนที่มีข้อกล่าวหารับเงินใต้โต๊ะหรือเอาไปฝากธนาคาร ซื้อตั๋วแลกเงิน ยืนยันว่า เรายืนยันเรื่องความโปร่งใสและไม่มีทางที่จะปล่อยให้มีการทุจริต แต่ใช้หลักการบริหารเงินที่อยู่บนพื้นฐานของความไม่เสี่ยง
ส่วนกรณีข้อกล่าวหาสั่งให้ฝ่ายบุคคลไปรับคนนั้น ยืนยันว่ากระบวนการคัดเลือกพนักงานตั้งแต่วันแรกเราใช้กระบวนการที่โปร่งใสมากที่สุดเช่นเดียวกันการบริหารคนของทุกองค์กร โดยเฉพาะที่มีการพูดถึงว่ามีการใช้งบให้นักข่าวไม่เหมาะสมหรือเป็นใช้งบในเรื่องส่วนตัวและมีการเรียกรับค่าน้ำร้อนน้ำชานั้น ยืนยันสสท.มีระบบการตรวจสอบ และมีกระบวนการลงโทษ ซึ่งตนก็ไม่ยอมรับในพฤติกรรมของใครก็ตามที่ทุจริตต่อหน้าที่เช่นนี้ เพราะหากสื่อโกงแค่เงินไม่กี่ร้อยบาทก็ไม่สมควรไปเป็นสื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน มั่นใจว่าสสท.เป็นสื่อเดียวที่มีคู่มือการสร้างสรรค์รายการและระบบป้องกัน พฤติกรรมเรียกรับเงินแลกกับการชี้เป็นชี้ตายนำเสนอข่าว เพราะเรามีอนุกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกที่เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยคัดสรรพิจารณารายการเพื่อป้องกันปัญหาวิ่งเต้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่เราถูกต่อว่า ว่าเราไม่เป็นกลาง มองในมุมหนึ่งเป็นเรื่องดี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสังคมไทยมีความแตกแยกตัดสินด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ซึ่งควรไปตัดสินในช่วงวิกฤต โดยผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ที่ได้ศึกษาการทำข่าวของทีวีไทยในช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ พฤษภาคา 2551 และเมษายน 2552 ที่ผ่านมา ในหัวข้อการอธิบายความหมายของข่าวได้ดีที่สุด สำหรับประเด็นที่บอกว่าสสท.มีแบล็คลิสต์แหล่งข่าวฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน