“Face Shield” มีดีอะไร จำเป็นหรือไม่ในช่วง COVID-19

“Face Shield” มีดีอะไร จำเป็นหรือไม่ในช่วง COVID-19

“Face Shield” มีดีอะไร จำเป็นหรือไม่ในช่วง COVID-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นอีกหนึ่ง “ความปกติใหม่” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็แนะนำให้มีการป้องกันเพิ่มขึ้นอีกชั้น นั่นคือการใช้ “เกราะกันใบหน้า” หรือ “face shield”

ดร.เอลี เพเรนเซวิช แพทย์ด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยไอโอวา ระบุในบทความแสดงความคิดเห็นที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA ว่า face shield ที่ทำง่ายๆ จากพลาสติกใส สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ แต่ต้องใช้ร่วมกับมาตรการด้านสาธารณสุขอื่นๆ เช่น การเพิ่มการตรวจหาเชื้อ การติดตามการสัมผัสโรค การเว้นระยะห่างทางสังคม และการทำความสะอาดมือ

ก่อนหน้านี้ face shield ถือเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยแพทย์และพยาบาลจะต้องสวม face shield ขณะสอดท่อเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยโรค COVID-19 และขณะผ่าตัด ซึ่งจะมีเลือดและเศษกระดูกกระเด็นออกจากร่างกายผู้ป่วย

ดร.เชอร์รี ยู แพทย์ประจำบ้านด้านผิวหนังวิทยา โรงพยาบาลบริกแฮมแอนด์วีเมนส์ ในบอสตัน กล่าวว่า face shield สามารถป้องกันดวงตาและใบหน้าได้ รวมทั้งเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเก็บตัวอย่างจากจมูกเพื่อนำไปหาเชื้อไวรัสโคโรนา หรือการคัดแยกผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ดร.ยูยังระบุว่า ข้อดีของ face shield ก็คือ ผู้ใช้งานสามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ซ้ำได้ โดยใช้แอลกอฮอล์เช็ด ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ดังนั้นมันจึงนำกลับมาใช้ได้ตลอดเวลา จนกว่าจะแตกหักเสียหาย ในขณะที่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 จะต้องใช้แล้วทิ้งทันที แม้ว่าจะมีงานวิจัยยืนยันว่าสามารถใช้ซ้ำได้ 2 – 3 ครั้ง หลังจากที่ฆ่าเชื้อแล้วจนกว่าจะเสื่อมคุณภาพก็ตาม

ดร.เพเรนเซวิชเชื่อว่า face shield น่าจะเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวเองที่เหมาะสมสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะสามารถป้องกันใบหน้าทั้งหมด รวมถึงดวงตา และป้องกันไม่ให้มือสัมผัสใบหน้า หรือทำให้เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งยังสวมใส่ง่ายกว่าหน้ากาก เนื่องจาก face shield จะใช้พื้นที่บริเวณหน้าผากของผู้สวมใส่ ซึ่งดีกว่าการปกปิดพื้นที่ครึ่งหนึ่งของใบหน้าด้วยวัสดุที่อาจทำให้ผู้สวมใส่จามได้

นอกจากนี้ face shield ช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินสามารถอ่านปากและสีหน้าของผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และยังแก้ปัญหาการสวมหน้ากากปกปิดใบหน้าผิดวิธี ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหรือรับเชื้อจากผู้อื่นได้

อย่างไรก็ตาม ดร.เพเรนเซวิชและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ก็เข้าใจว่า face shield มีข้อจำกัด เช่น ต้องถอดออกเมื่อกินอาหาร และมีงานวิจัยระบุว่าอาจจะไม่ได้ช่วยลดการสัมผัสเชื้อมากเท่าที่ควร

วิลเลียม ลินด์สเลย์ พันธุวิศวกรจากสถาบันแห่งชาติเพื่อความปลอดภัยทางอาชีพและสุขอนามัย กล่าวว่า เนื่องจากระยะห่างระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวัน และละอองฝอยที่มีเชื้อไวรัสมักจะตกลงสู่พื้นดินอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่จำเป็นต้องสวม face shield ก็ได้ และในสถานการณ์บางอย่าง face shield อาจจะมีประสิทธิภาพไม่เท่ากับหน้ากากอย่าง N95 ที่ครอบคลุมใบหน้าของผู้สวมใส่ เช่น เมื่อมีคนยืนอยู่ด้านข้างหรือด้านหลัง หรืออีกคนหนึ่งยืน และอีกคนนั่ง ก็จะมีเชื้อโรคกระจายอยู่รอบๆ ได้เช่นกัน

แม้ยังไม่มีงานวิจัยที่ระบุว่า face shield สามารถป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หรือไม่ แต่ ดร.เพเรนเซวิชก็หวังว่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติมที่แสดงว่า face shield มีประสิทธิภาพเหนือกว่าหน้ากากผ้า ที่ไม่เพียงแต่ปกปิดใบหน้า แต่ยังช่วยแก้ปัญหาการป้องกันใบหน้าอย่างผิดวิธีด้วย

“ประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่คุณสมบัติของอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า แต่ยังขึ้นอยู่กับว่าคุณสวมใส่อุปกรณ์ได้ถูกต้องหรือไม่ด้วย” ดร.เพเรนเซวิชกล่าว

ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ COVID-19 ได้ที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook