ผู้เชี่ยวชาญชี้ วิกฤต “โควิด-19” ไม่ได้ทำให้ธรรมชาติได้พักผ่อน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ วิกฤต “โควิด-19” ไม่ได้ทำให้ธรรมชาติได้พักผ่อน

ผู้เชี่ยวชาญชี้ วิกฤต “โควิด-19” ไม่ได้ทำให้ธรรมชาติได้พักผ่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สื่อมวลชนทั่วโลกต่างนำเสนอ “ด้านดี ๆ” ของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ นั่นคือ ธรรมชาติได้หยุดพัก เนื่องจากการที่มนุษย์ถูกสั่งห้ามออกจากบ้าน ทำให้เราได้เห็นภาพสัตว์ต่าง ๆ ออกมาใช้ชีวิตอย่างอิสระ เช่น เพนกวินเดินเตร่บนถนนในเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ จิงโจ้สนุกสนานอยู่ในเมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ขณะที่สุนัขจิ้งจอกกินปูก็ออกสำรวจนอกเมืองโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้มักมาพร้อมกับรายงานข่าวเรื่องมลภาวะทางอากาศที่ลดลง และมีท้องฟ้าที่สดใสมากขึ้นในเมืองใหญ่ต่าง ๆ อย่างกรุงเดลี ประเทศอินเดีย กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ในลอสแอนเจลิส  อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวเหล่านี้มักสร้างความเข้าใจผิดให้กับมนุษย์ ว่าธรรมชาติกำลังได้รับประโยชน์จากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วโลก

แต่ในขณะที่เมืองใหญ่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์ สถานการณ์ในพื้นที่ชนบทกลับแตกต่างกันอย่างลิบลับ พื้นที่เหล่านี้มีประชากรที่ไม่ได้มีฐานะ และทรัพยากรหลักที่พวกเขาพึ่งพิงก็คือ ธรรมชาติ ทั้งการออกล่าสัตว์ ตกปลา และการตัดต้นไม้เพื่อทำที่อยู่อาศัย กลุ่มคนที่ย้ายไปทำงานในตัวเมืองและรายได้หดหายหรือต้องตกงานเพราะสถานการณ์โควิด-19 ต่างก็มุ่งหน้ากลับไปที่บ้านเกิด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบกับธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่จะนำโรคโควิด-19 มาแพร่ระบาดในพื้นที่ชนบทก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มคนผู้ฉวยโอกาสและกลุ่มอาชญากรต่าง ๆ ที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองผิดกฎหมาย และการลักลอบล่าสัตว์ป่า ก็กำลังใช้ประโยชน์จากช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับโรคโควิด-19 มากกว่าประเด็นปัญหาอื่น ๆ จึงนำไปสู่รายงานการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มสูงขึ้นในทวีปเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น ประเทศเคนยา หมู่เกาะกาลาปากอส ในประเทศเอกวาดอร์ และอุทยานธรรมชาติพืดหินปะการังตุบบาตาฮา ประเทศฟิลิปปินส์ ต่างก็กำลังเผชิญหน้ากับทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวลดน้อยลงและรายได้ในการดูแลรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติที่ลดลง ขณะเดียวกัน การทำเหมืองทองผิดกฎหมายในลาตินอเมริกาและแอฟริกาก็เพิ่มสูงขึ้น เพราะราคาทองเพิ่มสูงขึ้น และพื้นที่คุ้มครองเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการดูแลในสถานการณ์เช่นนี้

สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและพื้นที่ชนบทจะยังคงมีต่อไป จนกว่าสภาพเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้งและรัฐบาลจะสามารถให้การดูแลเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการปกป้องธรรมชาติเป็นเรื่องรองจากการควบคุมการระบาดของโรค ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปกป้องธรรมชาติที่ล้มเหลว อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคระบาดในอนาคตได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของการใช้ที่ดิน เป็นปัจจัยหลักของโรคระบาดที่แพร่กระจายจากสัตว์สู่คน การแสวงหาประโยชน์จากการตกแต่งสายพันธุ์สัตว์ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้มากถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับพฤติกรรมอื่น ๆ

รัฐบาลในแต่ละประเทศที่เผชิญกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองผิดกฎหมาย และการลักลอบล่าสัตว์ จึงต้องให้ความสำคัญและบังคับใช้กฎหมายอยู่เช่นเดิม แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตของโรคโควิด-19 ก็ตาม และสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือแต่ละประเทศต้องเริ่มแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่รวมถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook