“โควิด-19” วิกฤตใหม่ของผู้หญิงตั้งครรภ์
เมื่อเดือนก่อน Shuely หญิงสาวชาวบังกลาเทศ วัย 25 ปี ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลธากา หลังจากที่เธอตัดสินใจคลอดลูกเองที่บ้าน เพราะคิดว่าปลอดภัยมากกว่าที่โรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เธอกลับเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มารดาเสียชีวิตมากที่สุดในโลก
การคลอดลูกเป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นความตายของชีวิตผู้หญิง ซึ่งการคลอดลูกในช่วงวิกฤตโรคระบาดส่งผลให้เกิดความเครียดรูปแบบใหม่ขึ้น นั่นคือ แม่ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ทั้งยังขาดแคลนบุคลากร และต้องแยกจากสามี หรือเลือกคลอดลูกที่บ้าน ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่มากกว่าเดิม นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงโควิด-19 ผู้หญิงคือกลุ่มเปราะบางกลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อระบบสาธารณสุขต้องรับภาระมากจนเกินไป การบริการสุขภาพเพื่อผู้หญิงจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของแม่และเด็ก ผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นกับการจัดบริการสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ได้แก่ การทำคลอดโดยผู้เชี่ยวชาญ สถานที่ทำคลอด และการเข้าถึงการคุมกำเนิด ซึ่งการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์เหล่านี้ เป็นปัญหาในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกา แต่เป็นปัญหามากที่สุดในประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก เช่น อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น โดยมีอัตราการเสียชีวิตของมารดามากกว่า 100 คนต่อการคลอด 100,000 ครั้ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาคุณภาพของระบบสุขภาพที่อยู่ในระดับต่ำ
วิกฤตโรคโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อผู้หญิงไปจนถึงสิ้นปี ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ ระบบสุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้หญิงจะเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผลลัพธ์จากการทำงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศและเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพเพื่อผู้หญิงที่กำลังจะดีขึ้น อาจหยุดชะงักลง
อย่างไรก็ตาม Antonio Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ชี้ว่า วิกฤตโควิด-19 เป็น “บททดสอบใหญ่” ของโลกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น ผู้นำทุกคนต้องตระหนักถึงปัญหานี้ ในขณะที่โรคโควิด-19 กระทบต่อชีวิตของประชากรโลก กลุ่มคนชายขอบของสังคม ทั้งผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย และคนจน ต่างเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชี้ว่า ไม่มีแผนการรับมือกับโรคระบาดใดจะใช้ได้ผล หากไม่มีการวางแผนเรื่องการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับประชาชนทุกคน