ผู้เชี่ยวชาญชี้ "ไทยชนะ" เข้าถึงข้อมูล ควรเลือกได้ ไม่ใช่บังคับ ศบค.แจง ใช้คุมโรคเท่านั้น
จากกรณีที่ นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ต และผู้ก่อตั้ง เว็บ Sanook.com ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าฟีเจอร์ใหม่ของแอปพลิเัน "ไทยชนะ" จะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวในเครื่องที่ติดตั้งได้ เช่น ไฟล์ รูปภาพ และวิดีโอ ได้นั้น
ล่าสุด นายปรเมศวร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความอีกครั้งถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า แม้การการเข้าถึงข้อมูลรูปภาพ จะเป็นเรื่องปกติของแอปฯต่างๆ เช่น Facebook หรือ Google แต่ความแตกต่างคือ ความเชื่อมั่นในการคุ้มครองข้อมูลของบริษัทใหญ่ๆ อยู่ในระดับที่สูงมาก ผิดกับไทย ที่มีการเลื่อนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกไป จึงมองว่าแอปฯ ไทยชนะ ควรมีทางเลือกให้ประชาชน มากกว่าเป็นการบังคับให้สละข้อมูล โดยเนื้อหาระบุว่า
เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลหรือ Privacy นี่ หลายคนอาจมองว่า ปกติเราก็ให้แอปต่างๆเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเราได้ตั้งเยอะแยะ เช่น Facebook, Google ฯลฯ
คำตอบคือ เพราะเราเชื่อมั่นในเอกชนขนาดใหญ่เล่านั้น โดยเฉพาะที่มาจากต่างประเทศเช่น อเมริกา เนื่องจากกฎหมายที่นั่นเขาเข้มงวดมากๆ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลถ้าเอกชนพวกนี้ "พลาด" ขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว เขาจะถูกฟ้องร้องกันจนอ่วม แถมหุ้นตกมหาศาลแบบที่ Facebook เองก็เคยโดนมาในกรณี Facebook–Cambridge Analytica data breach ค่าปรับว่าเยอะแล้วแต่ราคาหุ้น Facebook ช่วงนั้นตกลงไป 24% นี่เป็นเงินมากถึง $134 พันล้านเหรียญ!
ต่างจากเมืองไทยที่ตอนนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องมีผลบังคับใช้วันนี้ ได้รับการขยายยกเว้นไปอีกหนึ่งปีเกือบหมด ทำให้ขาดมาตรการทางกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องนี้
การติดตั้งแอปจึงควรเป็นทางเลือก ว่าผู้ใช้จะยอมสละข้อมูลส่วนตัวให้กับผู้ให้บริการรายนั้นหรือไม่ ผู้ให้บริการมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ถ้าเป็นภาคบังคับหรือกึ่งบังคับ ควรจะพิจารณาให้รอบคอบว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่จะต้องดึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้นๆจากประชาชนไป เพื่อแลกกับมาตรการป้องกันโรคระบาด ที่แทบจะไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศนอกสถานกักกันคนที่เข้ามาจากต่างประเทศเป็นเวลาราวหนึ่งเดือนแล้ว มีทางเลือกที่จะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลให้น้อยกว่านั้นแต่ยังมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ด้วยนะครับ
ขณะที่ ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า
ต้องขอบคุณสำหรับคำแนะนำ ทาง ศบค. เองก็รับข้อเสนอแนะไว้ แต่ยืนยันว่าการใช้ข้อมูลภายในแอปพลิเคชัน เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันโรคเท่านั้น ทาง ศบค. ไม่มีความพยายามเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนและการที่มีแอปพลิเคชันดังกล่าวก็เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลายในกิจกรรมและกิจการต่างๆ ให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้