โควิด-19 รอบ 2 มาแน่! คณบดีศิริราชเตือนหนักกว่าเดิมเท่าตัว แนะทำตามมาตรการเคร่งครัด

โควิด-19 รอบ 2 มาแน่! คณบดีศิริราชเตือนหนักกว่าเดิมเท่าตัว แนะทำตามมาตรการเคร่งครัด

โควิด-19 รอบ 2 มาแน่! คณบดีศิริราชเตือนหนักกว่าเดิมเท่าตัว แนะทำตามมาตรการเคร่งครัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รอบ 2 จะตายมากกว่ารอบแรก! คณบดีแพทยศาสตร์ศิริราช ออกโรงเตือน! ปลดล็อกประเทศ ระวังโควิด-19 กลับมารอบ 2 แนะ 3 ฝ่ายให้ช่วยกัน รัฐบาล นักธุรกิจ และประชาชน ให้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ออกจากบ้านเมื่อจำเป็น สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นผ่านคลิปที่เผยแพร่ทาง Mahidol Channel โดยส่งเสียงเตือนถึงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) รอบ 2 มีโอกาสแน่ รอบแรกคนตายจำนวนหนึ่ง แต่รอบที่ 2 จะมีมากกว่ารอบแรก 1 เท่าตัว ถ้า 1 วันมีคนติดเชื้อ 100 คน มันกระจายไปแบบยกกำลัง 2 ไม่ได้คูณ 2

“มีคนบอกว่าผมออกมาขู่ แต่ไม่ใช่ ผมติดตามทุกประเทศ ผมมั่นใจว่ารอบ 2 มาแน่ เพราะโดยธรรมชาติมันมีโอกาสกลับเข้ามา กลับเข้ามาเราไม่ห่วง แต่ที่ผมห่วงคือ สูง หรือ ไม่สูง ถ้ากลับเข้ามาแล้วติดเชื้ออยู่หน่อยหนึ่งแล้วเรากดลงมาได้ ก็ไม่เป็นไร ถ้ามาแล้วมีการติดเชื้อ ทุกคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ตาย จะเกิดภูมิต้านทานขึ้น ถ้าภูมิต้านทานเยอะๆ จนกระทั่งครอบคลุม 2 ใน 3 ของคนไทยทั้งประเทศ โควิดอยู่ในเมืองไทยไม่ได้หรอก” ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ

ส่วนปัจจัยที่ประเทศไทยสามารถควบคุมเชื้อโควิด-19 ได้ดีนั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเพราะหนึ่ง ปัจจัยเรื่องคน การที่เราส่งสัญญาณกับคนไทยว่า ให้อยู่บ้าน ใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไปดูตามท้องถนน เชื่อว่าเกือบ 100% เลย

ปัจจัยที่ 2 คือ การบริหารจัดการ ณ วันนี้เราบริหารจัดการได้ดีภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล ฝ่ายวิชาการคือมหาวิทยาลัย

ปัจจัยที่ 3 คือ การตรวจ ตรงนี้คือส่วนที่เรายังทำได้ไม่ถึงกับดีนัก ตัวเลขในอาเซียน 10 ประเทศ ที่ตรวจเยอะที่สุดในเวลานี้คือ สิงคโปร์ ตรวจไปถึง 40,000 กว่าการทดสอบ ต่อประชาชน 1 ล้านคน อันดับ 2 คือบรูไน 30,000 กว่าคน อันดับ 3 คือมาเลเซีย ประมาณ 6,000 กว่าการทดสอบ ของประเทศไทย 4,000 กว่าเอง จะเห็นว่าเราต่างจากที่อื่นเยอะมาก

ปัจจัยที่ 4 ตัวไวรัส ถือเป็นปัจจัยสุดท้าย มีการพูดกันเยอะมากว่า สายพันธุ์ที่เป็นที่เราต่างจากสายพันธุ์ในอเมริกา มันแตกต่างกัน ซึ่งแตกต่างกันจริง แต่มีการยืนยันแล้วว่าความแตกต่างทางสายพันธุ์ ไม่ได้มีผลกับความรุนแรงของเชื้อ

สำหรับประเทศไทย หากมีการคลายมาตรการ Lockdown นั้น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ทุกครั้งที่ผ่อนมาตรการ อันดับแรกเลยคือ คนจะออกจากบ้าน ทุกครั้งที่ออกจากบ้านมีโอกาสเสี่ยงกับการไปแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว คนเยอะๆ ไปอยู่ในร้าน 1 ร้าน ระยะห่างมันก็เป็นไปไม่ได้ เป็นความเสี่ยงตัวที่สองเพราะมันจะใกล้กันมากขึ้น เหลืออันเดียวที่ทุกคนจะต้องทำอยู่คือใส่หน้ากาก แล้วก็ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็ช่วยในระดับหนึ่ง ทันทีที่เราผ่อนในระยะแรก เรารู้อยู่ว่าเรื่องอยู่บ้านมันจะแย่ลงนะ เรื่องการรักษาระยะห่างมันจะแย่ลงนะ ดังนั้นเราจึงย้ำว่าเรื่องหน้ากากไม่ถอยนะ อันนี้ไม่ผ่อนนะ ทุกคนจะต้องใส่หน้ากาก และพยายามหลีกเลี่ยงเท่าที่จะทำได้

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นกังวลคือเมื่อผ่อนมาตรการ แล้วคนเก็บกดกันเยอะ ระยะหลังนี่เริ่มเห็นแล้วว่าคนไม่ใส่หน้ากากกันบ้าง เนื่องจากผับยังปิดอยู่ก็นัดกันไปสังสรรที่บ้าน เปิดผับที่บ้านเลย สังสรรค์กันที่บ้าน ดื่มเหล้ากันที่บ้าน ไม่มีใครใส่หน้ากากดื่มเหล้ากันอยู่แล้ว และดื่มเหล้าเข้าไปคงไม่มีใครกระซิบพูดเบาๆ ถ้ามีแม้แต่ 1 รายที่มีไวรัสอยู่ ก็แพร่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องระมัดระวังตลอดเวลา

ส่วนบทเรียนจากการระบาดรอบ 2 จากประเทศเพื่อนบ้าน นั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เราเห็นประเทศหลายประเทศที่เกิดรอบ 2 เกาหลีใต้เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเริ่มจะขึ้นรอบ 2 เขาวิ่งกลับมาคุมใหม่หมดทันที อันนี้ก็ลงแล้ว สิงคโปร์รอบแรกสิ้นสุด โอ้โห คนชื่นชมมาก เพราะมีแค่ 509 ราย ณ วันนี้ 26,000 ไปแล้ว รอบสองกับรอบแรกต่างกันเท่าไหร่ เป็นสิบๆ เท่า ที่ไม่นานมานี้เราก็เห็น ฮอกไกโดเป็นเมืองท่องเที่ยว ทีนี้เขาต้องการให้เศรษฐกิจกลับมาเร็ว จึงประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน พอยกเลิกภาวะฉุกเฉินก็เริ่มเปิดให้คนเข้าไปได้ พอต้น เม.ย. เปิดโรงเรียน ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ระวังมากเลย พอเปิดโรงเรียนนักเรียนเข้ามา พอติดเชื้อโควิด ติดง่ายมากเพราะเด็กไม่แยกกันอยู่แล้ว เด็กก็เล่นกัน เด็กติดเชื้อโควิด มันเหมือนหวัด อาการเล็กๆ น้อยๆ พอกลับถึงบ้าน พ่อแม่มากอดอีก ก็ติดกันใหญ่ แป๊บเดียว มันเริ่มมีการกระจายใหม่

19 มี.ค. ฮอกไกโดยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ต้น เม.ย. เปิดเรียน 7 เม.ย. อีก 6 วันต่อมาเกิดการแพร่กระจายที่โตเกียว และอีก 6 จังหวัดในประเทศญี่ปุ่น ต้องประกาศเป็นเขตฉุกเฉิน พอ 14 เม.ย. อาทิตย์ต่อมา ฮอกไกโดต้องปิดเมืองใหม่ และอีก 2 วันต่อมา ญี่ปุ่นทั้งประเทศต้องปิดประเทศใหม่

ส่วนที่ว่าอีกนานแค่ไหน ประเทศไทยจะเหมือนเดิมนั้น ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ ชี้ว่า สภาวะปกติคือมีโควิดอยู่กับเรา ต้องทำใจไว้แบบนี้ มีการคำนวณไว้คร่าวๆ ว่า 17-24 เดือน เผื่อไปเลย ปีครึ่ง ถึง 2 ปี เราจะเจอคนที่มีโควิด ก็เหมือนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B เราก็เจออยู่บ้างเป็นครั้งเป็นคราวแบบเดียวกัน มันจะอยู่กับเราอีกระยะหนึ่ง มันจะหายไปหากวัคซีนออก วัคซีนคือระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เพียงแต่เราแปลงให้เป็นระบบที่เราใส่เข้าไป ณ วันนี้คนที่ติดเชื้อไวรัสเหมือนกับถูกฉีดวัคซีน จนถึงวันนี้ทำใจไว้เลย วัคซีนจะออกมาฉีดได้บนโลกใบนี้ ไม่เร็วไปกว่าประมาณเดือน มี.ค. ปีหน้า

เราจะทำให้คลื่นลูกที่ 2 ไม่รุนแรงหรืออย่างไร ขึ้นกับ 3 กลุ่ม คือ ผู้บริหารประเทศ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ อันนี้จำเป็นนะ ท่านอย่าผ่อนคลายอะไรเร็วเกินไป ค่อยๆ ผ่อนเถอะ อันนี้เราสื่อมาหลายครั้งแล้ว ดีกว่าผ่อนไปแล้วกลับมาปิดประเทศใหม่ อย่าปกปิดความจริง ปล่อยให้ความจริงมันปรากฏดีกว่าประชาชนไปรู้เอง ถ้าตัวเลขรัฐบาลบอกแบบหนึ่ง ประชาชนไปรู้แบบหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ สถานการณ์ UnTrust (ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ) ประชาชนจะไม่เชื่อ รัฐบาลพูดอะไร ประชาชนบอกไม่จริงหรอก คราวนี้ยุ่งแล้ว บอกให้ทำอะไรก็ไม่ทำ

อันที่ 2 คือ ผู้ประกอบการ ขณะนี้ท่านมีโอกาสแล้วที่จะทำให้ธุรกิจของท่านกลับมา แต่ท่านต้องช่วยกันนะ ท่านอย่าทำให้เกิดการแพร่กระจาย โดยการทำตามกฎระเบียบที่มีการกำหนดไว้ ทุกร้านที่มีคนเข้าไปต้องใส่หน้ากาก เตรียมแอลกอฮอล์เจลเอาไว้ให้ จัดที่นั่งรักษาระยะห่าง

อันที่ 3 คือ คนไทย คนไทยทุกคนที่ไปใช้บริการต่างๆ ท่านจะต้องระวังตัวท่านเอง ต่อให้ผู้ประกอบการเขาช่วย แต่ท่านไม่ทำมันก็เกิดการแพร่กระจายอีก

สามองค์ประกอบทุกคนต้องช่วยกัน ผู้บริหารประเทศ ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ผู้ประกอบการทั้งหลาย แล้วก็ผู้ใช้บริการ คือ คนไทยทั้งประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook