มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ชี้ โซเชียลมีเดียไม่มีหน้าที่ “ตรวจสอบความจริง” นักการเมือง
หลังจากทวิตเตอร์ติดป้าย “Fact-check” หรือการแสดงข้อความแจ้งเตือนให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อความของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทวีตโจมตีว่าอาจมีการทุจริตขณะที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทรัมป์ พร้อมกับขู่ทบทวนกฎหมายความเหมาะสมด้านการสื่อสาร
ทรัมป์ขู่ปิด Twitter หลังจากโดนตรวจสอบข้อเท็จจริงของทวิต (ตามนโยบายของทวิตเตอร์)
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทเฟซบุ๊ก ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ โดยเขาชี้ว่า โซเชียลมีเดียไม่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบความจริงในสิ่งที่นักการเมืองโพสต์
“ผมไม่คิดว่าเฟซบุ๊กหรือแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตอื่น ๆ ควรทำหน้าที่ตัดสินความจริง การแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากที่สุดในระบอบประชาธิปไตย และผู้คนควรได้เห็นสิ่งที่นักการเมืองโพสต์” ซัคเคอร์เบิร์กกล่าว
แม้ว่าเฟซบุ๊กจะมีการผู้ตรวจสอบความจริงที่คอยตรวจดูเนื้อหาต่าง ๆ บนเฟซบุ๊ก แต่เป้าหมายของผู้ตรวจสอบคือ “การจับผิดเนื้อหาที่แย่มาก” ไม่ให้ปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์ม ขณะที่ซัคเคอร์เบิร์กระบุว่า จุดประสงค์ของการตรวจสอบเนื้อหา ไม่ใช่การชี้ว่าอะไรคือความจริงหรือความเท็จ ทั้งนี้ เฟซบุ๊กยังประกาศเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว ว่าอนุญาตให้นักการเมืองลงโฆษณาหาเสียงบนโซเชียลมีเดียได้ แม้จะมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ตาม อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กจะไม่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง หรือโพสต์ข้อความเท็จที่นำไปสู่การกดทับผู้ลงคะแนนได้