ทะเลจีนใต้-ทะเลจีนตะวันออก ร้อนระอุ! เมื่อจีนจ้องฮุบ ตะครุบทรัพยากรเพื่อนบ้าน

ทะเลจีนใต้-ทะเลจีนตะวันออก ร้อนระอุ! เมื่อจีนจ้องฮุบ ตะครุบทรัพยากรเพื่อนบ้าน

ทะเลจีนใต้-ทะเลจีนตะวันออก ร้อนระอุ! เมื่อจีนจ้องฮุบ ตะครุบทรัพยากรเพื่อนบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมีพรมแดนทางทิศตะวันออกจรดทะเลจีนทั้งสองคือทะเลจีนตะวันออกกับทะเลจีนใต้ซึ่งจีนก็มีข้อพิพาททางดินแดนของทะเลทั้งสองกับเพื่อนบ้านถึง 7 ประเทศเลยทีเดียวและยังมีประเทศอภิมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกาต่อต้านและคัดค้านสิทธิครอบครองที่จีนอ้างในทะเลทั้งสองดังกล่าวอีกด้วย  

โดยทะเลจีนตะวันออกครอบคลุมจากชายฝั่งตะวันออกของจีนไปถึงเกาะคิวชิวและหมู่เกาะริวกิวโดยผ่านทางใต้ของเกาะเชจูของเกาหลีส่วนอาณาเขตทางใต้อยู่ที่เกาะไต้หวัน พื้นที่ของทะเลจีนตะวันออกมีประมาณ 751,100 ตารางกิโลเมตร

ส่วนทะเลจีนใต้ เป็นทะเลปิดที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งของประเทศสิงคโปร์ไปจนถึงช่องแคบไต้หวัน รวมถึงอ่าวตังเกี๋ยและอ่าวไทย  อาณาเขตของทะเลจีนใต้อยู่ทางทิศใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน ทิศตะวันตกของฟิลิปปินส์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐซาบาห์และรัฐซาราวักของมาเลเซียและประเทศบรูไน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายูและสิงคโปร์ และทิศตะวันออกของเวียดนาม หมู่เกาะทะเลจีนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกาะ มีจำนวนหลายร้อยเกาะ ทะเลและเกาะที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยส่วนใหญ่นี้เป็นหัวข้อพิพาทอธิปไตยโดยหลายประเทศ

ข้อพิพาทเหล่านี้ยังได้สะท้อนในชื่ออันหลากหลายที่ตั้งให้เกาะและทะเล ทะเลจีนใต้มีเนื้อที่ใหญ่กว่าทะเลจีนตะวันออกถึงสี่เท่าเศษคือมีพื้นที่ประมาณ 3,500,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือที่สำคัญของโลก โดยมีเรือบรรทุกสินค้าผ่านคิดเป็นอัตราหนึ่งในสามของโลก นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อกันว่าใต้พื้นทะเลมีน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสำรองขนาดใหญ่อีกด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุของกรณีพิพาททั้งปวงในทะเลจีนใต้นั่นเอง             

ดังนั้น เมื่อศึกษาถึงเขตพิพาทในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ แล้วก็พบคู่ขัดแย้งที่อ้างสิทธิเหนือพื้นที่พิพาทในทะเลทั้งสองนี้มากถึง 8 ราย ซึ่งน่าสังเกตว่า ข้อพิพาทเหนือเขตแดนทางทะเลเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลเชิงประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังมีปัจจัยเชิงเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมเชิงพาณิชย์ แหล่งประมง และทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันที่ต้องแย่งชิงกัน ซึ่งประเมินกันว่าพื้นที่ทะเลจีนทั้งสองอาจมีปริมาณน้ำมันสำรองที่ยังไม่ยืนยันมากถึง 213,000 ล้านบาร์เรล

ชิงน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก

สำหรับพื้นที่พิพาทในทะเลจีนตะวันออก คือ หมู่เกาะเซนกากุในภาษาญี่ปุ่น หรือเตียวหยูในภาษาจีนที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโอกินาวาและอยู่ทางตะวันออกของจีน มีประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ 3 ประเทศได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ซึ่งจากประวัติศาสตร์หมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ถือเป็นแนวชายแดนของจีนที่ใช้ป้องกันโจรสลัดญี่ปุ่น

จนกระทั่งจีนพ่ายแพ้ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 พ.ศ. 2438 หมู่เกาะนี้จึงตกเป็นของญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิ ครั้นญี่ปุ่นแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่เกาะนี้จึงตกเป็นเป็นของสหรัฐอเมริกาเมื่อสหรัฐอเมริกาให้เอกราชแก่ญี่ปุ่นแล้วก็คืนหมู่เกาะเซนกากุให้ด้วยแต่เนื่องจากหมู่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเส้นทางเดินเรือที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของโลกและอาจจะมีแหล่งน้ำมันใต้ทะเลทำให้ทั้งจีนและไต้หวันอ้างกรรมสิทธิดั้งเดิมว่าหมู่เกาะแห่งนี้ไม่ควรเป็นของญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นของจีนมาก่อนซึ่งก็มีปัญหากระทบกระทั่งกันมาโดยตลอดระหว่างเรือรบกับเรือประมงของทั้ง 3 ประเทศนี้

JIJI PRESS / AFPเกาะเตียวหยู หรือ เกาะเซนกากุ ซึ่งเป็นดินแดนที่จีนและญี่ปุ่นต่างอ้างเป็นเจ้าของ

ทะเลจีนใต้ อีกแหล่งพิพาท

ส่วนในทะเลจีนใต้มีพื้นที่พิพาทที่สำคัญมี 3 แห่ง คือ สันดอนสกาโบโรห์ หมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลีย์ สันดอนสกาโบโรห์ หรือ "หวงหยาน" ในภาษาจีน และ "ปานาตัก" ตามการเรียกของชาวฟิลิปปินส์ มีผู้เล่นที่อ้างกรรมสิทธิ์ 3 ราย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ โดย เรือประมงของจีนและฟิลิปปินส์ต่างเผชิญหน้ากับเรือตรวจการณ์ของอีกฝ่ายเป็นระยะเสมอ ฝ่ายจีนอ้างว่าเป็นฝ่ายค้นพบเกาะนี้ตั้งแต่เมื่อ 2,000 ปีก่อน และเริ่มสำรวจอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 1822

ขณะที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเกาะแห่งนี้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตนหมู่เกาะพาราเซล หรือ "ซีชา" ในภาษาจีน และ "หวงซา" ในภาษาเวียดนาม อยู่ภายใต้ข้อพิพาทของ 3 ฝ่าย ได้แก่ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม หมู่เกาะแห่งนี้มีแนวหินและแนวปะการังที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ 130 แห่ง มีระยะห่างจากแถบชายฝั่งตอนกลางของเวียดนามและจีนตอนใต้ใกล้เคียงกันที่ 180 ไมล์ทะเล นับเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์อีกทั้งมีศักยภาพเรื่องแหล่งก๊าซและน้ำมันสำรองขนาดใหญ่ ทั้งคู่ต่างสู้เพื่อให้ได้ชัยชนะ โดยจีนจัดการถมทะเลสร้างเกาะเทียมตามแนวเกาะปะการังไปตั้งเมืองใหม่ และตั้งฐานกำลังทหารไว้ด้วย

ขณะที่เวียดนามผ่านกฎหมายที่อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซล  หมู่เกาะสแปรตลีย์ มีชื่อจีนว่า "หนานชา" ส่วนคนฟิลิปปินส์เรียก "คาลายาน" มีผู้เล่นเปิดศึกแย่งชิงมากถึง 6 ราย ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน หมู่เกาะแห่งนี้ส่วนใหญ่ร้างผู้คน แต่เป็นทำเลเชิงยุทธศาสตร์ เป็นแหล่งประมง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซ โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อ้างอธิปไตยเหนือดินแดนทั้งหมดหรือบางส่วนบนพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์   แต่มาเลเซียและบรูไนอ้างสิทธิเหนือเกาะทางใต้บางแห่งเท่านั้น      

AFPภาพถ่ายทางอากาศเหนือเกาะชีเหลียนอวี๋ ในหมู่เกาะสแปรตลี กลางทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างสิทธิ์และประกาศเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลไหหลำ

สหรัฐมีเอี่ยว หนุนพันธมิตรสู้จีน

นอกเหนือจากการเผชิญหน้าระหว่างคู่ขัดแย้งทั้ง 7 ประเทศ ยังต้องจับตาบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทรกแซงในแถบนี้ โดยอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาอเมริกาด้วย โดยสหรัฐอเมริกาประกาศยุทธศาสตร์หวนกลับสู่เอเชีย (back to Asia) ซึ่งหมายถึงการกลับมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้มากขึ้น หลังจากได้ละเลยไปในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงการกลับมาใช้ฐานทัพเดิมในสมัยสงครามเวียดนาม ทั้งคัมรานห์เบย์ในเวียดนาม และซูบิกเบย์ในฟิลิปปินส์ ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาค

ยังไม่นับรวมเหตุผลทางเศรษฐกิจ ที่มีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐสนใจทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ที่มีมหาศาลในเอเชียแปซิฟิก ทั้งแหล่งน้ำมันสำรองในทะเลจีนใต้ที่อาจมีมากถึง 23,000-30,000 ล้านตัน ขณะที่ภูมิรัฐศาสตร์การของทะเลจีนใต้ก็เป็นเส้นทางติดต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook